เปิดศูนย์ Happy Workplace Center ความหวังแก้ปัญหา SMEs ไทย หมดใจในการทำงาน
มีรายงานสถานการณ์คนทำงาน พบอัตราการลาออกของพนักงาน SMEs สูงเกินครึ่ง! เป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์ Happy Workplace Center จำนวน 5 แห่งทั่วประเทศ หวังแก้ปัญหา SMEs ไทย หมดใจในการทำงาน
ตัวเลขอันน่าตกใจนี้ สะท้อนถึงนัยสำคัญ หรือที่มาที่ไปของสถานการณ์คนทำงานในไทยอย่างแน่นอน ซึ่งผลจากการสืบสาวถึงสาเหตุปัญหาที่ทำให้สถานประกอบการกลุ่ม SMEs ซึ่งนับเป็นกลุ่มสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ด้วยเพราะในประเทศไทยมี SMEs อยู่มากถึง 99.57% ของวิสาหกิจทั้งประเทศ ต้องเผชิญภาวะ "ขาดคน" อย่างยิ่งยวดเช่นนี้
ข้อมูลสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในปี 2565 ระบุสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากองค์กรไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร พนักงานเกิดความเครียดและไม่มีความสุขในการทำงาน
เอาเข้าจริงเชื่อว่าใคร ๆ ก็อยากทำงานอยู่ที่เดิมไปนาน ๆ แต่เมื่อที่ที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่ไม่น้อยกว่าวัน 8 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้เรา "ไม่มีความสุข" ก็ถึงเวลาที่ต้องมองหางานใหม่ที่ดีต่อใจ ไม่ทำให้ชีวิตกดดันเคร่งเครียดมากเกินไป ซึ่งอาจจะดีกว่าหากเราสามารถเปลี่ยนให้ที่ทำงานทุกที่เป็น Happy Workplace ได้
ดังนั้น เพื่อมุ่งส่งเสริมให้คนทำงานในองค์กรมีสุขภาวะที่ดี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. พัฒนาจัดตั้งศูนย์ Happy Workplace Center ขึ้น ภายใต้โครงการส่งเสริมสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามแนวทางมาตรฐานองค์กรแห่งความสุข (SMEs Happy and Productive Workplace)
ภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า เป้าหมายการเปิดศูนย์ Happy Workplace Center รวม 5 แห่งทั่วประเทศในวันนี้ เกิดจากความคาดหวังว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนบริการข้อมูลวิชาการ และช่วย SMEs พัฒนานโยบาย กิจกรรม และนวัตกรรมสร้างสุขภาวะองค์กร ที่มุ่งเน้นให้พนักงานมีความสุขในการทำงานและมีความเป็นอยู่ที่ดีในทุกมิติ พร้อมขับเคลื่อนให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมในไทยเติบโตต่อไป
วุฒิชัย ประชาพร ผู้อำนวยกองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ดำเนินโครงการส่งเสริมสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามแนวทางมาตรฐานองค์กรแห่งความสุข (ปี 2559-2566) ภายใต้แนวคิดการพัฒนาผลิตภาพที่มีคนเป็นศูนย์กลาง พัฒนานวัตกรรม Happy Meter เครื่องมือวัดค่าความสุขของพนักงานผ่านการทำแบบสอบถามออนไลน์ เรื่องมิติความสุข 8 ประการ ให้ผลวินิจฉัยสุขภาวะองค์กรที่แม่นยำ พัฒนาสุขภาวะองค์กรในสถานประกอบการจำนวน 497 แห่ง รวมถึงจัดอบรมการสร้างสุขภาวะในองค์กร มีพนักงานเข้าร่วม 29,878 คน ยกระดับเป็นนักสร้างสุของค์กรผู้นำสุขภาพ 4,551 คน เกิดองค์กรต้นแบบสุขภาวะจำนวน 198 แห่ง ออกแบบกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพและคู่มือส่งเสริมผลิตภาพควบคู่กับการสร้างสุขภาวะในองค์กร SMEs ขยายผลเครือข่ายขับเคลื่อนงานสร้างสุขภาวะองค์กรในส่วนภูมิภาค 12 เครือข่าย จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน 265 แห่ง พัฒนาการส่งเสริมให้สถานประกอบการได้รับการรับรองมาตรฐานองค์กรแห่งความสุข (มอส.) สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มุ่งพัฒนากำลังคนให้พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
พงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า สสส. มีแนวทางการดำเนินงาน 3 ด้าน ที่มุ่งดำเนินงานขับเคลื่อนให้เกิดองค์กรสุขภาวะ โดยเฉพาะในสถานประกอบการ SMEs ได้แก่ 1. ปรับโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนานโยบายการสร้างเสริมสุขภาวะให้เป็นระบบปกติในองค์กร 2. สร้างนวัตกรรมองค์กรสุขภาวะ 3. พัฒนาให้องค์กรเป็นฐานรองรับแนวคิดและงานพัฒนาสุขภาวะในองค์กร
สำหรับศูนย์ Happy Workplace Center 5 แห่ง ตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมของ อก. ครอบคลุมทุกภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ นครราชสีมา ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี ทำหน้าที่บริการข้อมูลองค์ความรู้ นวัตกรรมเครื่องมือในการพัฒนากิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะพนักงานในองค์กร รวมถึงบริการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพคนทำงานแบบองค์รวม บริการสำรวจวัดค่าความสุของค์กรโดยเครื่องมือ Happy Meter จัดการอบรมและให้คำปรึกษาด้านการสร้างองค์กรสุขภาวะ มุ่งเป้ายกระดับให้สถานประกอบการเป็นแหล่งเรียนรู้สุขภาวะองค์กรต้นแบบตามมาตรฐานองค์กรแห่งความสุข (มอส.) 20 แห่ง สร้างสุขภาวะที่ดีให้กับคนทำงานเพิ่ม 12 ล้านคน ภายในปี 2575 สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์