เขียน ‘การ์ตูน’ อย่างไร ให้ได้ ‘รางวัล’ ระดับสากล

เขียน ‘การ์ตูน’ อย่างไร ให้ได้ ‘รางวัล’ ระดับสากล

นักเขียน นักวาดการ์ตูนไทย มีฝีมือไม่แพ้ชาติใด ล่าสุด มีผู้คว้ารางวัล 'Japan International MANGA Award' ครั้งที่ 17 มาได้ พร้อมเผยวิธีสร้างผลงานให้รู้กัน

สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2567 มีพิธีมอบรางวัลให้กับ อดิศักดิ์ พงศ์สัมพันธ์ (ด๊าส) นักเขียนมังงะชาวไทย เจ้าของผลงาน Before Becoming Buddha ที่ได้รับรางวัล Bronze Award จากการประกวด Japan International MANGA Award ครั้งที่ 17

ในครั้งนี้มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 587 ชิ้น จากนักเขียนการ์ตูน 82 ชาติ

เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย โอตากะ มาซาโตะ ร่วมแสดงความยินดี นับเป็นความสัมพันธ์ที่แน้นแฟ้นระหว่างญี่ปุ่น-ไทย ผ่านวัฒนธรรมมังงะ

อดิศักดิ์ พงศ์สัมพันธ์ (ด๊าส) นักเขียนและนักวาดภาพ ที่เพิ่งคว้ารางวัลระดับนานาชาติมา เขียนหนังสือการ์ตูนมาแล้ว 28 ปี มีผลงาน 90 เล่ม

เขียน ‘การ์ตูน’ อย่างไร ให้ได้ ‘รางวัล’ ระดับสากล

อดิศักดิ์ พงศ์สัมพันธ์ (ด๊าส)  Cr. Kanok Shokjaratkul

เปิดบทสนทนาบนเวทีเสวนา หัวข้อ 'เขียนอย่างไร ให้คว้ารางวัลระดับสากล' ในงาน THACCA SPALSH Soft Power Forum วันที่ 29 มิถุนายน 2567 ว่า นักเขียนกับนักวาดแตกต่างกันตรงที่...

"นักวาด จะคิดเรื่องที่จินตนาการอยู่ในหัว แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นภาพ ส่วน นักเขียน จะถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือ เพื่อสื่อออกมาให้คนอ่านได้รู้

เขียน ‘การ์ตูน’ อย่างไร ให้ได้ ‘รางวัล’ ระดับสากล

Cr. Steak Comic

รางวัลที่ผมได้รับ ไม่ได้เป็นตัวเงิน แต่เป็นเกียรติบัตรเชิดชูเกียรตินักเขียน จัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น กระทรวงการต่างประเทศของประเทศญี่ปุ่นจัดขึ้นเพื่อให้นักเขียนมังงะทั่วโลกส่งเข้าประกวด ยกเว้น คนญี่ปุ่น ไม่สามารถส่งได้ นักเขียนทั่วโลกส่งได้หมด ทุกปีจะมีการตัดสินและให้รางวัล

สถานทูตญี่ปุ่นของแต่ละประเทศจะเป็นผู้รวบรวมผลงานของประเทศนั้น ๆ แล้วส่งต่อไปที่ประเทศญี่ปุ่น จากนั้นแปลภาษาต่างประเทศเป็นภาษาญี่ปุ่น ส่งให้คณะกรรมการอ่าน คัดเลือกผลงาน และตัดสิน"

เขียน ‘การ์ตูน’ อย่างไร ให้ได้ ‘รางวัล’ ระดับสากล

Cr. Steak Comic

  • ความเป็นมาของการผลงานชิ้นนี้ 

ด๊าซกล่าวว่า เขาจะคิดก่อนว่าจะเขียนเรื่องอะไร แล้วเรื่องที่จะเขียนมีความน่าสนใจ หรืออยู่ในกำลังที่จะเขียนไหวไหมในกรอบเวลา แล้วต้องหาข้อมูลเรื่องที่จะเขียน ส่วนแนวเรื่อง ให้เลือกแนวที่เราถนัด

"ถ้าเป็นผม ผมจะไปดูสถานที่จริง อย่างเรื่อง Before Becoming Buddha ผมก็ไปบวชชีพราหมณ์อยู่ที่วัดเลย หยิบต้นฉบับไปนั่งเขียน ฟังพระสวดมนต์ ผมไล่อ่านพระไตรปิฎกและศึกษาข้อมูลต่าง ๆ มากมาย ก่อนที่จะเขียนออกมาเป็นเรื่องนี้

เขียน ‘การ์ตูน’ อย่างไร ให้ได้ ‘รางวัล’ ระดับสากล

Cr. Steak Comic

ผมไม่ได้หยิบเหตุการณ์พุทธประวัติทั้งหมดมาเขียน แต่หยิบเหตุการณ์ช่วง 6 ปีก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ช่วงที่ออกจากวัง บำเพ็ญพรต บำเพ็ญตบะ ทรมานตนจนบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า ในช่วงเวลา 6 ปีเท่านั้น

เพราะถ้าเริ่มต้นตั้งแต่แรกเลยมันจะยาวไปแล้วจะท้อ เลยเลือกเฉพาะเหตุการณ์สำคัญ ที่นักอ่านน่าจะสนใจ"

เขียน ‘การ์ตูน’ อย่างไร ให้ได้ ‘รางวัล’ ระดับสากล

Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ความทรงจำ ที่ได้สานต่อ และทำให้มันเป็นจริง 

ด๊าซในช่วงวัยเด็ก อายุ 9 ขวบ เขาได้ไปที่วัด เห็นคนกำลังสร้างประตูโบสถ์ ปั้นรูปนูนต่ำ เป็นรูปพระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนากับปัญจวัคคีย์ทั้ง 5

"รู้สึกชอบมาก เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วไม่มีกล้องถ่ายรูป ก็ได้แต่จำเอา แล้ววิ่งกลับบ้านไปวาด ติดตรงไหน ก็วิ่งไปดูใหม่ วิ่งไปวิ่งมาหลายรอบ

มีความคิดว่า โตขึ้นเราอยากเขียนการ์ตูนพระพุทธรูป แต่ตอน 9 ขวบนั้นเราวาดไม่สวย ก็เลยไม่เขียนอีก จนกระทั่งโตมาเป็นนักเขียน

เขียน ‘การ์ตูน’ อย่างไร ให้ได้ ‘รางวัล’ ระดับสากล

Cr. Kanok Shokjaratkul

วันหนึ่งได้ไปชมงานพิพิธภัณฑ์ในประเทศรัสเซีย เขาจัดแสดงพระพุทธรูปยุคแรก ยุคคันธาระ (Gandhara) ราว พ.ศ. 600 กว่า ๆ ได้รับอิทธิพลจากกรีกกับโรมัน มีความงามสไตล์กรีก

เกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาว่า นี่คือสิ่งที่เราอยากเขียนเมื่อตอนเด็ก ๆ จุดกำเนิดพระพุทธรูปเริ่มต้นจากตรงนี้ เป็นสิ่งที่เราอ้างอิงได้

ถ้าเราจะเขียนการ์ตูนพุทธประวัติ ก็น่าจะเริ่มต้นจากที่จับต้องได้ เริ่มจากตรงนี้ดีกว่า ก็เริ่มหาข้อมูลว่าควรจะเขียนแบบไหน”

เขียน ‘การ์ตูน’ อย่างไร ให้ได้ ‘รางวัล’ ระดับสากล

Cr. Kanok Shokjaratkul

  • มังงะฉบับนี้ ทำไมพระพุทธเจ้า หล่อ ล่ำ แล้วแต่งตัวแบบนี้

นั่นเพราะ ในคัมภีร์บันทึกไว้ว่า ท่านเป็นมหาบุรุษ รูปงาม ด๊าซให้คำตอบ

"เราก็เขียนออกมาอย่างนั้น ส่วนการนุ่งผ้า ให้นึกสภาพว่า หนีเมียมาบวช ก็ต้องรีบบวช ไม่มีเวลาไปดีไซน์ ออกแบบการแต่งตัวให้ออกมาอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ท่านเอาผ้าบังสกุลมาย้อมแล้วมานุ่งห่ม เพื่อแค่ปกปิดร่างกาย แล้วบำเพ็ญ หรือค้นหาการตรัสรู้ เท่านั้น

เขียน ‘การ์ตูน’ อย่างไร ให้ได้ ‘รางวัล’ ระดับสากล

Cr. Steak Comic

ส่วนเนื้อเรื่องกับเนื้อหา เราอ่านมา ศึกษามา จากพระไตรปิฎกว่าควรจะเป็นอย่างนี้ ก็อิงจากตรงนั้นมาเลย ไม่ได้ปรับเปลี่ยน เพื่อจะอ้างอิงได้

แต่มุมมองการถ่ายทอดด้านภาพของเราจะต่างออกไปจากศิลปกรรมพุทธประวัติที่ผ่านมา เราอยากถ่ายทอดออกมาแบบนี้ ด้วยความเคารพ และอยากให้ทุกคนหรือคนรุ่นใหม่ได้หันมาสนใจศึกษามากขึ้น นี่คือแนวคิดที่เขียนเรื่องนี้ออกมา"

เขียน ‘การ์ตูน’ อย่างไร ให้ได้ ‘รางวัล’ ระดับสากล

Cr. Steak Comic

  • ขั้นตอนการทำงาน

นักเขียนแต่ละคนจะมีวิธีการวางพล็อตและเทคนิคการเล่าเรื่องที่แตกต่างกันออกไป 

"สไตล์การเล่าของผม เปิดมาด้วยฉากเจ้าชายสิทธัตถะเดินมาเพื่อเตรียมที่จะลอยถาด (พระพุทธเจ้าอธิษฐานเสี่ยงพระบารมีหากได้ตรัสรู้ขอให้ถาดลอยทวนน้ำ) แล้วย้อนรำลึกถึงเวลาช่วง 6 ปี ก่อนที่จะบวช

เล่าเรื่องแบบย้อนหลัง แล้วระหว่างที่เล่าเรื่อง 6 ปี ก็เล่าย้อนไปตอนเด็กบ้าง ผสมกันไป ผมบอกไม่ได้ว่าจะต้องเล่าแบบไหนแล้วคนจะติดตาม 

เขียน ‘การ์ตูน’ อย่างไร ให้ได้ ‘รางวัล’ ระดับสากล

Cr. Kanok Shokjaratkul

ถ้าเล่าเป็นเส้นตรงเกินไป มันจะเกิดความราบเรียบ ไม่มีจุดเร้า จุดเน้น แต่ถ้าเรามีเทคนิค ในการเล่า เฉลยบางปม เก็บบางปมไว้ หรือเก็บไว้เล่มหนึ่งเล่มสอง มันเป็นเทคนิคเฉพาะตัว

บางท่านคิดเรื่องไว้แล้วสเก็ตช์เป็นบท แล้วค่อยเอามาปรับปรุงเป็นภาพ แต่ของผม ผมคิดภาพในหัว แล้วต้องรีบสเก็ตช์ออกมาก่อน จะไม่คิดคำพูด เมื่อวาดภาพเสร็จแล้ว ผมค่อยมาเติมบททีหลัง

ผมอ่านพุทธประวัติและพระไตรปิฎกจนครบ 42 เล่ม อ่านประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เก็บเป็นคลังความรู้ไว้ในหัวก่อน พอถึงเวลาที่จะใช้ ก็ดึงมันออกมาได้ ดึงความทรงจำ ดึงความรู้ ดึงประสบการณ์ออกมา"

เขียน ‘การ์ตูน’ อย่างไร ให้ได้ ‘รางวัล’ ระดับสากล

Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ทำอย่างไรให้ผลงานได้รับรางวัล

ด๊าซตอบว่า ให้ใส่ความตั้งใจกับความทุ่มเทลงไปให้เต็มที่ก่อน ส่วนจะยอดเยี่ยมหรือได้รางวัลหรือไม่ ให้คนอ่านและกรรมการเป็นคนตัดสิน เราทำงานออกมาให้ยอดเยี่ยมที่สุด ก็พอ

ทุกการทำงานย่อมมีความเครียด การทำผลงานเล่มนี้ก็เช่นกัน

เขียน ‘การ์ตูน’ อย่างไร ให้ได้ ‘รางวัล’ ระดับสากล

Cr. Steak Comic

"ช่วงเวลาเขียนงาน มีบ้าง ที่มีความเครียด ในหนึ่งหน้ากระดาษที่จะเขียน มันเขียนไม่ออก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ลบแล้วลบอีก หยุดเลย ให้วางเลย อย่าไปฝืนความคิด หรือจินตนาการ

พอบังคับไป ไม่สามารถทำได้ ก็วางไว้เลย นอนพักไป ไปเที่ยว พักผ่อน ตื่นเช้ามา หรือผ่านไป 2-3 วันค่อยกลับมาทำใหม่ พอสมองเราโล่ง เรามีไอเดีย กลับมาแก้ไขที่ติดขัดได้ คือ ถ้ามันไม่ได้ ห้ามฝืน ต้องวางไว้ก่อน"

เขียน ‘การ์ตูน’ อย่างไร ให้ได้ ‘รางวัล’ ระดับสากล

Cr. Kanok Shokjaratkul

  • คำแนะนำสำหรับคนที่อยากเป็นนักเขียนระดับสากล

ถ้าเป็นเวทีนี้ Japan International MANGA Award ด๊าซตอบว่า

"ต้องดูว่าตอนนี้เรามีผลงานพร้อมส่งไหม แล้วตรงกับเงื่อนไขที่จะส่งไหม ถ้ามีผลงานไม่เกิน 3 ปี จำนวน 16 เล่ม ให้ส่งเข้าประกวดที่สถานทูตญี่ปุ่น ดูรายละเอียดได้ที่นั่น

อยากให้ส่งประกวด เพื่อเป็นโอกาสเป็นประสบการณ์ของเรา รางวัลจะได้หรือไม่อยู่ที่คณะกรรมการตัดสิน ว่าเรื่องของเราน่าสนใจพอไหม หรือเหมาะจะได้รางวัลไหม หน้าที่เรา คือ เราต้องส่งก่อน

แนวคิดของเรื่องหรือเรื่องราวที่ควรทำ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เราต้องเอาเรื่องที่เป็นสากลมาเขียน หรือเอาเรื่องที่สากลไม่เคยรับรู้ มาถ่ายทอดว่า มันมีมุมนี้อยู่

เขียน ‘การ์ตูน’ อย่างไร ให้ได้ ‘รางวัล’ ระดับสากล

Cr. Steak Comic

อย่างของผม เรื่องพระพุทธเจ้า รู้กันทั่วโลก แต่มุมมองที่ถ่ายทอดออกมา อ้าว มีมุมนี้ด้วยหรือ หรือนักเขียนซาอุดิอาระเบียเขาเขียนการ์ตูนในมุมเรื่องสัตว์ประหลาดของอาหรับ ก็ได้รางวัลด้วยเหมือนกัน

คือถ่ายทอดวัฒนธรรมของประเทศนั้น หรือความเชื่อของประเทศนั้น หรือประเทศตัวเองออกมาก็ได้

เวทีนี้ไม่จำกัด จะเป็นความเชื่อหรือวัฒนธรรมไทยก็ได้ อยู่ที่จินตนาการของเราว่าจะถ่ายทอดออกไปยังไง

บางทีความเชื่อที่เรารู้อยู่เป็นปกติ แต่ต่างชาติเขาไม่รู้กับเรา เช่น เรื่องพื้นบ้าน การสู่ขวัญ ผีตาโขน พอถ่ายทอดออกไป ต่างประเทศก็ มีอย่างนี้ด้วยหรือ สิ่งที่เราเห็นเป็นเรื่องธรรมดาในประเทศไทย แต่ต่างชาติอาจเห็นเป็นเรื่องไม่ธรรมดาและน่าสนใจ"

เขียน ‘การ์ตูน’ อย่างไร ให้ได้ ‘รางวัล’ ระดับสากล

Cr. Steak Comic 

  • พลังที่ซ่อนอยู่ ต้องเอาออกมา

ปัญหาต่าง ๆ ที่มีเข้ามาในชีวิต ทำให้คนส่วนใหญ่หมดกำลังใจง่าย ทำอย่างไรให้มีพลังสร้างสรรค์ผลงาน คำตอบคือ

"เราต้องมีใจรัก ในสิ่งที่เราอยากจะทำ อยากจะเป็น ผมอยากเป็นนักเขียนการ์ตูน นักเขียนมังงะมาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ เมื่อเราได้เป็นได้ทำตามความฝันแล้ว เราจะไม่เปลี่ยน ไม่ว่าจะเจออุปสรรคขนาดไหน เราต้องทำสิ่งที่เรารักให้ได้

โลกนี้มันไม่ได้เรียบ ง่าย เจออยู่แล้วล่ะอุปสรรค เมื่อเราผ่านไปได้ เราจะมองย้อนกลับมาว่า เอ้ย ปัญหานี้มันข้ามไปได้

เขียน ‘การ์ตูน’ อย่างไร ให้ได้ ‘รางวัล’ ระดับสากล

Cr. Steak Comic 

ใจเราต้องสู้ก่อน มีกำลังใจให้ตัวเองก่อน ขอกำลังจากใคร ก็ไม่เท่ากับขอกำลังใจจากตัวเราเอง เราต้องให้กำลังใจตัวเองว่า เราทำได้ ฉันต้องได้

อย่างผมเขียนเรื่อง Before Becoming Buddha มานาน จนมือข้างขวาเจ็บ เขียนไม่ได้ ก็เริ่มหัดเขียนข้างซ้าย เพื่อให้เรื่องนี้จบ แล้วส่งเข้าประกวด

มือข้างขวาเจ็บได้แค่ร่าง สเก็ตช์ เวลาตัดเส้นต้องเปลี่ยนมาข้างซ้าย ที่เราไม่เคยใช้งานมาเลย ต้องมาหัดให้เป็นภายใน 2 ปี เพื่อให้งานเรื่องนี้ออกมา

เขียน ‘การ์ตูน’ อย่างไร ให้ได้ ‘รางวัล’ ระดับสากล Cr. Steak Comic

คุณต้องมีความพยายาม ไม่ใช่เอะอะ ก็ท้อแล้ว สมมติมือข้างซ้ายผมเขียนไม่ได้อีก ผมก็ยังเหลือเท้าทั้งสองข้าง ผมก็จะเขียนให้ได้

เราต้องสู้จนถึงที่สุด ห้ามท้อ คนว่า คนวิจารณ์ยังไง เราต้องมีเป้าหมายของเรา พุ่งตรงไปให้ได้ ต้องผ่านไปให้ได้

ไม่ว่าเรื่องอะไรที่เราอยากจะเป็น อยากจะทำ ขอให้พยายาม ทำมันให้สำเร็จ เมื่อเราทำสำเร็จ ผลมันจะตามมาทีหลังเอง ขอให้ทำ"