ปลดล็อกความจนคนไทย เริ่มที่ 'หยุดวงจรสร้างหนี้'

ปลดล็อกความจนคนไทย เริ่มที่ 'หยุดวงจรสร้างหนี้'

เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ต้องมี "หนี้" และรู้หรือไม่ว่า 1 ใน 3 เป็นหนี้ เพื่อการอุปโภคบริโภค เพราะด้วยทัศนคติและค่านิยมยุคใหม่ที่ว่า "ของมันต้องมี" จึงทำให้หนี้ครัวเรือนคนไทยอยู่ในระดับสูง ข้อมูลไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 พบหนี้เสียมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป มีมูลค่า 1.63 แสนล้านบาท

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาหนี้สินคนไทย จัดเวที "สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน ปี 2567" วาระชุมชนท้องถิ่นร่วมแก้ปัญหาประเทศ ถกประเด็นปัญหา หวังช่วย แก้หนี้

สแกนหนี้คนไทยทำไมสูงขึ้นเรื่อยๆ ?

วิชญ์พิพล ติวะตันสกุล ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช. และคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. ที่ให้ข้อมูลว่า หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับสูง โดยจากข้อมูลเมื่อปลายปี 2566 พบคนไทยมีหนี้ครัวเรือนมูลค่ากว่า 16.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพี อยู่ที่ 91.3% ขณะเดียวกันข้อมูลของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 พบ หนี้เสีย มากกว่า 3 เดือนขึ้นไป (NPLs) มีมูลค่า 1.63 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.99% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.88% ของไตรมาสที่ผ่านมา แนวโน้มการกู้ยืมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2556-2566) สะท้อนการกู้ยืมเพื่อการอุปโภคบริโภค และการประกอบธุรกิจจำพวกบัตรเครดิตและส่วนบุคคลอย่างสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลที่เติบโตขึ้น  

ปลดล็อกความจนคนไทย เริ่มที่ \'หยุดวงจรสร้างหนี้\'

คนไทยเป็นหนี้เร็วและหนี้นาน

คนวัย Gen Z หรือ วัยทำงาน ที่อายุ 25-29 ปี เป็น หนี้บัตรเครดิต หนี้กู้ซื้อยานพาหนะ ส่วน 50% ของ Gen Y ที่มีเงินไม่พอใช้ก็เลือกหันไปกู้ยืมบัตรเครดิต อีกกลุ่มที่มีรายได้ประจำแต่มีภาระ หนี้ จำนวนมาก จนเกินศักยภาพในการชำระหนี้ อาทิ ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร รวมถึงวัยรุ่น วัยเรียนและนักศึกษา ไม่น้อยก็ยังมีหนี้ เช่น หนี้เพื่อการศึกษากับ กยศ. ปัจจุบันมีเพียง 27% เท่านั้น ที่ชำระหนี้เสร็จสิ้น

จนและหนี้ วิถีชีวิตเกษตรกรไทย

"กลุ่มเกษตรกร" มีมูลค่าหนี้สินเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2564 พบว่า ครอบครัวเรือนเกษตรกรมีภาวะเป็นหนี้เฉลี่ยประมาณ 311,098 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งเพิ่มเกือบเท่าตัวเทียบจากปี 2556 อยู่ที่เฉลี่ย 168,119 บาท ต่อครัวเรือน โดยแหล่งเจ้าหนี้หลักของเกษตรกร มากกว่า 58% คือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รองลงมาคือหนี้กองทุนหมู่บ้านและชุมชน

หยุดวงจรหนี้เรื้อรัง

อรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมเสนอข้อมูลในเสวนา หนี้ครัวเรือนสูง เราจะรับมืออย่างไร โดยตอบคำถามที่ว่า คนไทยเป็นหนี้กระทบประเทศชาติอย่างไร ไว้ว่า หากคนไทยเป็น หนี้ครัวเรือนสูง จะทำให้ประเทศไทยโตไม่ได้เต็มศักยภาพ เพราะทุกครั้งที่ได้เงินเดือนมา แทนที่จะได้นำไปจับจ่ายใช้สอยเพื่อให้คนอื่นมีรายได้มากขึ้นกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลับต้องนำไปจ่ายหนี้หรือดอกเบี้ยกู้ยืมแทน ในการจะแก้ปัญหาหนี้ เรามีการเกี่ยวข้องกับสามฝ่ายด้วยกัน อย่างคนที่ปล่อยสินเชื่อให้เรา หรือเจ้าหนี้ ซึ่งก็ต้องมีความรับผิดชอบในการให้คำแนะนำกับเราว่าควรจะเป็นหนี้แค่ไหน หรือหากกรณีลูกหนี้มีปัญหาก็ควรมาช่วยแก้ปัญหาด้วย ไม่ใช่ทิ้งกันหรือลอยแพ รวมถึงลูกหนี้เองก็ต้องรับผิดชอบมากขึ้น ด้วยการเป็นหนี้เท่าที่จำเป็นและสามารถใช้คืนไหว 

ปลดล็อกความจนคนไทย เริ่มที่ \'หยุดวงจรสร้างหนี้\'

การศึกษาหนี้สร้างอนาคต

แม้ไม่มีใครอยากเป็นหนี้ แต่เมื่อทัศนคติของสังคมไทยมองว่า การศึกษาคือการลงทุนอนาคตให้กับลูกหลาน เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีกำลังทรัพย์ก็จำเป็นต้องกู้

กนิษฐา คุณาวิศรุต รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เผยว่า สำหรับครัวเรือนที่ยากไร้ในประเทศไทยซึ่งมีจำนวนไม่น้อย มีภาระรายจ่ายเฉลี่ย 3,623 บาท แต่มีรายได้ต่อปีเพียงประมาณ 36,000 บาทเท่านั้น ทำให้การศึกษาคือต้นทุนสูงมาก

กนิษฐา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ครัวเรือนที่ยากจน รายได้ต่ำสุดเพียงเฉลี่ย 1,039 บาทต่อคนต่อเดือน มีประมาณ 1.2 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน ยิ่งหลังโควิด-19 รายได้ครัวเรือนเหล่านี้ยิ่งมีแนวโน้มต่ำลงเรื่อยๆ เป็นเหตุผลทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา การที่เด็กหลุดจากระบบการศึกษาไม่ได้มีปัญหาเฉพาะค่าใช้จ่าย หากบริบทสังคมส่วนใหญ่มีลักษณะแหว่งกลางอยู่กับตายาย หรือสมาชิกไม่มีรายได้ ผู้ปกครองพ่อแม่ส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาสูงสุดอยู่ที่ประถมทำให้ไม่มีความรู้และศักยภาพที่สามารถสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้นได้ ดังนั้น การแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่น อาจต้องลงทุนในระยะยาวคือ การแก้ปัญหาด้วยการศึกษาให้ทุกคนมีการศึกษาที่สูงขึ้น

"จากในปี 2565 ที่ผ่านมา มีการช่วยเหลือเด็กที่ยากจนที่สุดในไทยจำนวน 1.2 ล้านคน แต่ผลจากการติดตามต่อเนื่องในปีถัดมา พบว่าเด็กและเยาวชนในช่วงชั้นรอยต่อ เช่น ชั้นประถมปีที่ 6 มักจะมีเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาไปเรื่อยๆ เพราะผู้ปกครองให้ออกไปช่วยพ่อแม่ทำงาน ทำให้เด็กยังคงอยู่ในวงจรความยากจนไปเรื่อยๆ ไม่นับรวมเด็กที่อยู่นอกระบบอีกไม่น้อย และในส่วนเด็ก 1.6 แสนคน ที่จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีโอกาสศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาแค่ 2 หมื่นคนเท่านั้น" กนิษฐา กล่าว

ปลดล็อกความจนคนไทย เริ่มที่ \'หยุดวงจรสร้างหนี้\'

ชุมชนเข้มแข็ง ปลดล็อกหนี้ครัวเรือน

เมื่อปัญหาหนี้ เป็นเรื่องที่ทุกคนควรมีบทบาทร่วมกันแก้ไข ดังนั้น ทำอย่างไรจะเชื่อมกระบวนการชุมชนท้องถิ่นเข้ามาเชื่อมโยงการแก้ปัญหาหนี้?

สมเพชร หงษ์ทอง ประธานชมรมคนหัวใจเพชร หมู่บ้านบ้านหม้อ อำเภอแม่ริม เชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นประธานชมรมคนหัวใจเพชรของหมู่บ้านบ้านหม้อ เผยว่า ที่ชุมชนสมัยก่อนสมาชิกส่วนใหญ่ติดสุรา ติดการพนันส่งผลให้เป็นหนี้สินมากมาย ก่อนปี 2552 ชุมชนบ้านหม้อเป็นชุมชนที่มีคนดื่มเหล้ากันมาก ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนอย่างมาก และมีการเล่นการพนัน แต่แล้วผลจากการได้ไปงานศพที่บ้านจำไก่ อำเภอดอกคำใต้ กลายเป็นจุดเปลี่ยน ที่นำมาสู่การพลิกโฉมชุมชนครั้งใหญ่

สมเพชร กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเห็นป้ายติดไว้ งานศพนี้ไม่เลี้ยงสุราเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ตาย รู้สึกประทับใจเพราะงานเป็นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย พอกลับมาที่บ้านก็มาปรึกษากันว่าทำอย่างไรไม่ให้มีการเลี้ยงสุราในงาน จึงทำประชาคมหมู่บ้านที่ยกมือเป็นเอกฉันท์ ก่อนกล่าวปฏิญาณตน ไม่มีการเลี้ยงสุราจากนั้นเป็นต้นมา ตั้งแต่ปี 2552 โดยชุมชนยังสร้างมาตรการเด็ดขาด ได้แก่ 1.) หากงานไหนมีเลี้ยงสุรา เจ้าอาวาสจะไม่รับนิมนต์ 2.) มีการตัดเงินสวัสดิการชุมชนค่าทำศพ และ 3.) คนในชุมชนจะไม่มีการไปช่วยเหลืองานนั้น

"เมื่อก่อนจัดงานศพทีหนึ่งมีค่าใช้จ่ายครั้งละสามสี่หมื่นบาท เป็นการเปลืองเงินโดยใช่เหตุ แต่หลังจากเลิกมาตรการเลี้ยงสุราในงานศพแล้วสามารถประหยัดเงินได้ห้าล้านกว่าบาท ช่วงตลอดสิบห้าปีที่ผ่านมา" สมเพชร กล่าว

นอกจากนี้ ยังขยายผลต่อไปถึงเทศกาลงดเหล้าเข้าพรรษา ที่มีการให้สาบานต่อพระพุทธรูป และ ในหลวง ร.9 งดดื่ม

สมเพชร กล่าวเพิ่มเติมว่า การงดดื่มสุราทำให้ปัญหาหนี้สินของสมาชิกชุมชนหลายคนเบาบางลง

นิภาวรรณ์ หายทุกข์ ปลัดเทศบาลตำบลงิม อำเภอปง จังหวัดพะเยา เล่าถึงคนตำบลงิมว่า เราอยู่หลังเขา ปัจจุบันประชากร 6,000 กว่าคน มีผู้สูงอายุเกือบ 25% และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 42% ในปี 2576 คนงิมเป็นคนอยู่กับป่า ส่วนใหญ่คือภาคเกษตรกร 43% ปัญหาหนี้สินมีทุกครัวเรือน 96.78% แต่มาคิดทำอย่างไรถึงมีหนี้ก็มั่งคั่งเป็นสุขได้ หากเราอยู่อย่างพอเพียง

นิภาวรรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาหลักคือ ต้นทุนการผลิต จึงพยายามเพิ่มมูลค่าผลิตผล นำฟางข้าวที่เหลือท้องถิ่นอื่นส่วนใหญ่เผา แต่เราเอามาอัดเป็นก้อนฟาง ให้สมาชิกใช้ฟรี แต่ถ้าคนอื่นอยากได้ตนขายก้อนละ 30 บาท ส่วนการเกษตร ยังลดต้นทุนด้วยการนำสิ่งที่เป็นของเหลือใช้จากฟาร์มอัดก้อนขายหรือเป็นปุ๋ย ส่วนข้าวเปลี่ยนจากขายโรงสีนำไปคัดขายเป็นเมล็ดพันธุ์ได้ราคาดีกว่าเดิมจาก 10 บาท เป็น 18 บาท ทั้งยังลดต้นทุนค่าเก็บเกี่ยว โดยใช้แรงสมาชิกช่วยลงแขก ไม่ต้องเสียเงินจ้างแรงงานคนละ 300 บาท ด้านการศึกษามีการเสริมอาชีพ เสริมทักษะผู้สูงอายุ รวมถึงผู้พิการในชุมชนให้มีรายได้มีอาชีพ

"จากการทำ RECAP กับ สสส. ตนพบต้นทุนชุมชนคือ กองทุนมีเงินหมุนเวียนในชุมชน 60 ล้านบาท หนี้ ธกส. เป็นที่เดียวที่ธนาคารฯ บอกว่ามียอดเงินฝาก 700 ล้านบาท แต่มีหนี้สินเพียง 400 ล้านบาท อีกทั้งหนี้และจนแก้ได้ หากสมาชิกชุมชนยอมเปลี่ยนความคิด ชีวิตเปลี่ยนแน่นอน ส่วนการออมเราเน้นเท่าที่มี มีน้อยออมน้อย แต่เน้นส่งเสริมคนฝากสม่ำเสมอ " นิภาวรรณ์ กล่าว

เรวัต นิยมวงศ์ รองนายกเทศมนตรี ตำบลชากไทย อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องผิดหรือน่าอาย เพราะบางคนอาจมองเรื่องหนี้เป็นแรงผลักดัน บางคนอาจมองว่าเป็นโซ่ตรวนพันธนาการ ในขณะเดียวกันหนี้คือทุนในการพัฒนาตัวเอง เขายอมรับว่าภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โลกเดือดโลกร้อน ทำให้สมาชิกชุมชนมีรายได้ไม่ตรงตามที่ต้องการ

"หนี้หมุนเวียน จะไม่เกิด หากมีรายรับมากกว่ารายจ่าย เพราะฉะนั้นท้องถิ่นจึงพัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชน เพื่อเพิ่มสมรรถนะและมีวินัยทางการเงิน มีอาชีพเสริม และมีกลไกภาคี ช่วยประสานการทำงานความร่วมมือกัน ในการจัดการ หนี้สินครัวเรือน มีการออกแบบการทำงานร่วมกัน ใช้กลุ่มที่มีการทำงานคล้ายคลึงกันเช่น กลุ่มปล่อยกู้ปัจจัยการผลิตนำมารวมกันทำงานร่วมกันสร้างพลังอำนาจในการต่อรองกับเจ้าของร้านที่จำหน่ายสั่งซื้อสินค้าราคาพิเศษ ทำให้สมาชิกปลอดดอกเบี้ยหรือจ่ายดอกเบี้ยน้อยลง มีการวิเคราะห์หนี้ของสมาชิก ปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้บางคนใช้หนี้จนหมดหนี้" เรวัต กล่าว

ปลดล็อกความจนคนไทย เริ่มที่ \'หยุดวงจรสร้างหนี้\'