นักเรียนทุนพระราชทานเล่าเรียนหลวง, นักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) สหรัฐอเมริกา และนักบริหารความเสี่ยงกลุ่มการเงินไอเอ็นจีของเนเธอร์แลนด์, ข้าราชการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, อนุกรรมาธิการด้านการเงิน การธนาคาร สถาบันการเงินและตลาดทุน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ รองผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ทั้งหมดเป็นเพียงบางส่วนของ “บทบาทในอดีต” ของ “ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์” หรือ ดร.ก้อย ที่ปัจจุบันยอมทิ้งความมั่นคงทั้งหมดจากองค์กรที่ไม่ว่าใครฟังแล้วก็อยากเข้าไปร่วมงานทั้งสิ้น มาสร้างเทคฯ สตาร์ตอัป “ ABACUS digital” ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการเงินให้สังคมไทย
“คอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด” ชวนตามไปพูดคุยกับ ดร.ก้อย สุทธาภา ในหมวกใบปัจจุบัน “ผู้ก่อตั้งบริษัท ABACUS digital” เพื่อเข้าใจวิธีคิด การตัดสินใจ รวมทั้งถอดบทเรียนการบริหารงานและปรับตัวให้เข้ากับบริบทใหม่ จากการปลุกปั้นเทคฯ สตาร์ตอัปของตัวเอง
จากความเชื่อว่าเทคโนโลยีลดความเหลื่อมล้ำ สู่การสร้าง ABACUS digital
ดร.สุทธาภา เริ่มเล่าให้ฟังว่า “ประสบการณ์ที่ผ่านมาตอนทำงานกับ IMF วิเคราะห์ไมโครไฟแนนซ์ในหลายประเทศในเอเชียใต้ ซึ่งประสบความสำเร็จมาก เนื่องจากธนาคารขนาดใหญ่ใช้วิธีวิเคราะห์ความเสี่ยงแบบเก่า เปิดโอกาสให้ไมโครไฟแนนซ์ ซึ่งเป็น นอนแบงก์ (Non-bank) สร้างบริการแบบค้ำประกันกันเองในกลุ่ม และขยายการเข้าถึงสินเชื่อให้กับประชาชนที่อยู่นอกระบบสามารถเข้าถึงเงินทุนในระบบได้ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีและ ดิจิทัล ฟุตพริ้นต์สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการประเมินความเสี่ยงได้แม่นยำขึ้นอย่างก้าวกระโดด ความเชื่อนี้เป็นส่วนหนึ่งในการเปิดบริษัท ABACUS digital”
ในช่วงที่เป็นรองผู้จัดการใหญ่ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ เธอเป็นผู้สร้างทีม Risk Modeling (โมเดลวิเคราะห์ความเสี่ยง) ขึ้น มองเห็นจุดอ่อนของเทคนิคแบบเก่า และต่อมาได้รับมอบหมายด้านกลยุทธ์ที่ใช้เทคโนโลยีให้บริการทางการเงินกับกลุ่มคนที่เดิมอยู่นอกระบบ
แต่ท้ายที่สุดเธอเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเพียงยูนิตเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาการที่คนตัวเล็กตัวน้อยเข้าไม่ถึงสินเชื่อได้ แต่ต้อง พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กลุ่มดังกล่าวโดยสร้างเทคโนโลยีเอง เพื่อให้เข้าใจและปรับปรุงได้ตลอด จึงมาก่อตั้งสตาร์ตอัป SCB Abacus ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น ABACUS digital โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยเข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกมากขึ้น
ยุคแรกเริ่มของ ABACUS digital ดึงหัวกะทิร่วมทีม
ดร.สุทธาภา เล่าต่อว่า หลังจากปักหมุดแล้วว่าจะเข้ามาลุยเทคฯ สตาร์ตอัป ก็เริ่มหาคนที่มีความชำนาญในการสร้างเทคโนโลยีขึ้นเองเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้านี้ โดยการพัฒนาโมเดลวิเคราะห์ความเสี่ยงที่แม่นยำเพื่ออนุมัติสินเชื่อให้กลุ่มคนที่เดิมอยู่นอกระบบ ช่วงเริ่มต้นมีผู้ร่วมก่อตั้งทั้งหมด 7 คน
ยกตัวอย่างผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท 2 คน ที่เคยเป็นตัวแทนประเทศไทยและเป็นเจ้าของเหรียญคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับโลก นับเป็นผู้มีศักยภาพและทางเลือกเยอะ
“คนแรก Chief Data Scientist ของเรา ตอนนั้นเขากำลังเลือกอยู่ระหว่างการเป็นอาจารย์ทางคณิตศาสตร์และทำวิจัยหลังจบปริญญา เอ กอยู่ที่ฮาร์วาร์ด พร้อมที่จะเป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เขาสนใจเข้าร่วมงานนี้เพราะสามารถแก้ปัญหาให้กับสังคม ผ่านการช่วยคนให้เข้าถึงสินเชื่อและสามารถต่อยอดสร้างธุรกิจขนาดเล็กให้กับประเทศ”
“อีกคนเป็น Chief Data and AI Officer ก่อนจะมาร่วมสร้าง ABACUS digital ด้วยกัน เขาเคยทำงานที่แอมะซอนและเฟซบุ๊ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นคนที่ทำแมชชีนเลิร์นนิงให้องค์กรเหล่านั้น เขามาสร้างทีมกับเราและบอกว่าวันนี้ดีใจมาก เพราะรู้สึกว่าทุกโค้ดที่เขาเขียนทำให้ได้ช่วยคน ”
กลยุทธ์ดึงคนเก่งร่วมปั้นทีมคุณภาพ
เมื่อถามว่าเธอใช้วิธีอะไรในการ ดึ งคนเก่งเข้ามาร่วมปลุกปั้นทีม ดร.สุทธาภา ตอบว่า คนเก่งต้องการสองอย่างหลักคือ จุดมุ่งหมาย และ ความท้าทาย
“ความมั่นคงและผลตอบแทน ของการทำงานต่างประเทศ มันสูงเกินกว่าสิ่งที่เราให้ได้ในวันนั้น แต่คนเก่งจะกลับประเทศด้วยสองปัจจัย คือความท้าทายและเป้าหมายที่เขาจะสร้างให้สังคมได้ จากนั้นคนเก่งก็จะดึงดูด ชักชวน และสร้างทีมที่เก่งขยายไปเรื่อยๆ”
นอกจากนี้ เมื่อบริษัทเริ่มขยายมากขึ้นกว่า 100 คน การรักษาวัฒนธรรมและเเก่นขององค์กรเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ดังนั้นดร.สุทธาภาจึงเล่าให้ฟังว่า กระบวนการในการคัดคนเก่งเข้ามาในทีมสำคัญมาก คือคนที่จะเข้ามาทำงานใน ABACUS digital ได้ต้องเป็นคนแบบ T-shape Talent คือมีความรู้ลึกในด้านของตัวเอง (ส่วนล่างของตัวที) แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความรู้และเข้าใจในหน้าที่ของเพื่อนร่วมทีมด้วย (ส่วนบนของตัวที) เพราะจะได้สื่อสารและทำงานกับเพื่อนร่วมทีมเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์และมีคุณภาพให้ลูกค้าได้อย่างดีที่สุด
เป้าหมายในการลดช่องว่างเมื่อแบงก์ไม่สามารถตอบโจทย์คนตัวเล็กได้
เมื่อถามถึงเป้าหมายที่ ABACUS digital ให้กับน้องๆ คนรุ่นใหม่ในทีมคืออะไร เธอนิ่งคิดก่อนจะตอบว่า คือการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการเงินของคนไทย
“ถ้ามองภาพรวมภาระหนี้ของครัวเรือนไทย กราฟ จะ เป็นรูปยิ้ม (Smiling Curve ) คือครัวเรือนที่อยู่ปลายสุดของเส้นกราฟทั้งสองด้านมีภาระหนี้ต่อรายได้สูง กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยคือกลุ่มที่มีภาระหนี้ที่ล้นจนอันตราย ส่วนกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงคือกลุ่มที่กู้เงินได้ง่ายจากระบบธนาคาร”
“แต่ยังมีกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลางซึ่งเป็นกลุ่มพ่อค้าแม่ขายที่ยังต้องพึ่งพาเงินกู้จากนอกระบบบางส่วน หรือไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้เลย ทั้งที่คนเหล่านี้มีความสามารถในการชำระหนี้ เพราะพวกเขามีรายได้ แม้จะไม่สม่ำเสมออย่างมนุษย์เงินเดือนก็ตาม”
ดร.สุทธาภา อธิบายถึงสาเหตุที่กลุ่มพ่อค้าแม่ขาย ต้องกู้เงินนอกระบบว่า บางทีกลุ่มคนเหล่านี้อยากกู้เงินในจำนวนเล็กน้อย บางคนต้องการเงินเพียง 1,000 - 2,000 บาท เท่านั้น เพื่อเป็นต้นทุนในการทำมาหากิน
“สาเหตุที่ธนาคารและผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนใหญ่ ไม่สามารถปล่อยเงินกู้ในจำนวนเล็กน้อยขนาดนี้เพราะเขาใช้พนักงานวิเคราะห์สินเชื่อ ในการอนุมัติ ดังนั้นเพื่อให้คุ้มต้นทุน บริษัทเหล่านี้ต้องปล่อยเงินสินเชื่อไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท ทำให้ต้องปฏิเสธผู้ขอกู้จำนวนมาก”
“ABACUS digital จึงมองว่าเทคโนโลยี ที่มีความแม่นยำสูงจะเข้ามาช่วยลดต้นทุนตรงนี้ได้ เช่น บริษัทเราใช้เวลาเพียง 10 นาที ก็อนุมัติสินเชื่อได้ตั้งแต่ 1,000 ถึง 1,000,000 บาท เพราะหลังบ้านเป็นคอมพิวเตอร์ล้วน รวมทั้งยังใช้ตัวแปรในการวิเคราะห์สินเชื่อกว่า 2,000 ตัวแปร ในขณะที่รายอื่นใช้พนักงานวิเคราะห์สินเชื่อได้มากสุดเพียง 25 ตัวแปรเท่านั้น ผู้ผ่านอนุมัติของรายอื่นส่วนใหญ่จึงมักเป็นมนุษย์เงินเดือน
ถอดบทเรียนกลยุทธ์ดึงนักลงทุนระดับโลกเข้าร่วมทุนในบริษัทสตาร์ตอัป
เมื่อถามถึงทักษะที่เธอใช้ในการชักชวนนักลงทุน เขามาร่วมทุนในช่วงปลุกปั้นบริษัทในซีรีส์เอ ดร.สุทธาภา แชร์ให้ฟังว่า คือความจริงใจและการเตรียมข้อมูลที่รอบด้าน
“วันแรกออกไปหานักลงทุน เราบอกเลยว่าอยากหาคนที่มาช่วยให้เราเข้าใจตลาดเทคโนโลยี และไปสู่จุดที่เราเป็นผู้เล่นในระดับภูมิภาค เพราะฉะนั้นเราหา Regional Tech Investors ”
“คำถามแรกที่เขาถามเลยคือ เมืองไทยมีดีอะไร ทำไมเขาต้องเลือกลงทุนกับเรา ไม่ไปเวียดนาม อินโดนีเซีย หรือนอกอาเซียนไปเลย ดังนั้น เราจึงต้องเข้าใจตลาดของเราในเชิงลึกและเปรียบเทียบให้นักลงทุนเชื่อมั่น”
“ต่อมาคือบริษัทต้องเป็นผู้สร้างเทคโนโลยีหลักของตัวเอง ไม่ใช่แค่ไปซื้อเทคโนโลยีคนอื่นมาใช้ ต้องบอกให้ได้ว่าเทคโนโลยีของเราให้บริการอะไรที่คู่แข่งอื่นทำไม่ได้ หรือแตกต่างจากตลาดต่างประเทศยังไง”
“สุดท้ายเราต้องการเห็นความสำเร็จอย่างไรในอนาคต เพราะการร่วมลงทุนกับนักลงทุนเหมือนการแต่งงาน ต้องอยู่กันยาวๆ ดังนั้นต้องเห็นจุดแข็ง จุดอ่อน ภาพความสำเร็จเดียวกัน เพราะการเป็นสตาร์ตอัปมีทั้ง Bright days และ Dark days ที่สำคัญในวันที่มืดมนเรายิ่งต้องชัดเจนกับเขา ดังนั้นการสื่อสารทุกอย่างด้วยความจริงใจตั้งแต่ต้น ไม่สร้างแต่ภาพฝัน จะทำให้เราอยู่กับนักลงทุนได้ในระยะยาว”
เทคฯ สตาร์ทอัพมี Dark Days มากกว่า Bright Days
ดร.สุทธาภา อธิบายให้ฟังเพิ่มเติมถึงประเด็นที่ว่า การเป็นเทคฯ สตาร์ตอัปมี Dark days มากกว่า Bright days (หัวเราะ)
“ทุกคนทราบสถิตินี้ดีว่า คนที่ทำสตาร์ทอัพ มีโอกาสไปไม่รอดถึง 95% ฉะนั้นทุกคนที่เข้ามาร่วมทีมกับเราต้องรู้เลขตรงนี้ก่อน นักลงทุนเองก็รู้ตัวเลขนี้เช่นกัน ดังนั้นในวันที่มันเอียงไปในทิศทาง 95% ก็ยังจะต้องจับมือกัน โดยอธิบายนักลงทุนให้ชัดเจนตั้งแต่แรกและมองทุกอย่างบนพื้นฐานของความเป็นจริง”
“ย้อนกลับไปช่วงเม.ย. ปี 2565 เราอยู่ในช่วงระดมทุนในซีรีส์บี ตอนนั้นเกือบจะได้ Term Sheet (ข้อตกลงเบื้องต้นระหว่างนักลงทุนกับสตาร์ตอัปเพื่อกำหนดเงื่อนไขการลงทุน) แต่เกิด Crypto Winter ขึ้นมาซะก่อน ซึ่งส่งผลให้ราคาคริปโทฯ ร่วงลงอย่างรุนแรง นักลงทุนต่างอึ้งไปตามกัน ทุกคนถูกกระทบหมดเพราะมูลค่าของธุรกิจคริปโทฯ แทบเหลือศูนย์ บริษัทเทคอื่นๆ ก็ถูกลดมูลค่าลงเกือบหมด จังหวะนั้นแม้เราไม่ได้ทำอยู่ในธุรกิจคริปโทฯ แต่ก็โดนหางเลขไปด้วย”
ดร.สุทธาภา ทิ้งท้ายว่า “เราในฐานะผู้นำต้องสื่อสารกับทีมงาน และกับนักลงทุน บนพื้นฐานที่มีข้อมูลรองรับ ยอมรับความจริงในปัญหา และเสนอแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้ จึงจะสร้างความเชื่อมั่นได้
ผู้นำที่คิดบวก และพูดความจริง จึงจะพาทีมผ่านพ้นวันที่เป็น Dark Days ไปได้” (ยิ้ม)