วิรไท: ผู้นำที่เชื่อว่า การเป็นหัวหน้าที่ดีเหมือนเล่นดนตรีเป็นวง ออร์เคสตรา

วิรไท: ผู้นำที่เชื่อว่า การเป็นหัวหน้าที่ดีเหมือนเล่นดนตรีเป็นวง ออร์เคสตรา

“คอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด” ชวนพูดคุยกับ “วิรไท สันติประภพ” อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ เพื่อเข้าใจวิธีการทำงาน การรับมือกับแรงกดดันที่เกิดขึ้น รวมทั้งแกะสูตรความเป็นผู้นำของเขา

KEY

POINTS

 

 

การทำงานของเขาเป็นลักษณะการทำงานที่ไม่ว่าจะตัดสินใจทำนโยบายอะไรก็ล้วนมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยอยู่เสมอ เพราะทุกทางเลือกล้วนมีผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์

ยกตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดคือหากเขาตัดสินใจทำนโยบายอะไรก็ตามแล้วกดดันให้ค่าเงินอ่อนลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ คนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออกก็จะได้ประโยชน์จากการขายสินค้าเป็นสกุลเงินดอลลาร์แล้วแลกเป็นเงินไทยได้มากขึ้น แต่ในทางกลับกันคนที่มีหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศอาจจะไม่ชอบใจนักเพราะต้องใช้เงินมากขึ้นในการจ่ายหนี้ก้อนเดิม

ทั้งหมดคือ “เศษเสี้ยว” หนึ่งของแรงกดดันในงานของ “วิรไท สันติประภพ” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่ชี้ให้เห็นหนึ่งข้อเท็จจริงที่ว่า แทบทุกการตัดสินใจของเขาจะมีอย่างน้อยหนึ่งเสียงที่ไม่เห็นด้วยเสมอ

ดังนั้นเพื่อเข้าใจวิธีการทำงาน การรับมือกับแรงกดดันที่เกิดขึ้น รวมทั้งแกะสูตรความเป็นผู้นำของเขา วันนี้ “คอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด” ชวนพูดคุยกับอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติผู้นี้ให้ลึกซึ้งมากขึ้น

วิรไท: ผู้นำที่เชื่อว่า การเป็นหัวหน้าที่ดีเหมือนเล่นดนตรีเป็นวง ออร์เคสตรา

 

ตั้งแต่เช้าจรดเย็นมีกิจวัตรประจำวันมีอะไรบ้าง

ช่วงนี้ผมตื่นประมาณสัก 6.00 - 6.30 น. แล้วแต่วัน ยืดหยุ่นมาก ขึ้นอยู่กับว่าวันก่อนหน้านั้นมีภารกิจอะไรบ้าง ผมเป็นคนชอบตอนเช้า เพราะเป็นช่วงเวลาที่สมองค่อนข้างปลอดโปร่งหลังจากได้นอนได้พักมาเต็มที่

ดังนั้นเวลาจะทำเรื่องอะไร ไม่ว่าจะเป็นอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ก็มักจะเป็นคนที่ทำตอนเช้า

อีกอย่างช่วงนี้ผมไม่ได้ทำงานประจำที่ใดที่หนึ่ง ดังนั้นกิจวัตรและเวลาในแต่ละวันก็อาจจะแตกต่างกันแล้วแต่ว่ามีภารกิจ ประชุม หรือต้องเดินทางอะไรหรือไม่

แต่สิ่งที่ทำประจำอย่างแรกคือการให้ความสำคัญกับกายและใจ กายคือกลับมาดูแลเรื่องที่เราอาจจะยังไม่ได้ใส่ใจมากนักโดยเฉพาะตอนทำงานประจำ เช่น ตื่นเช้ามาก็ต้องมียืดเส้นยืดสาย ออกกำลังกายเล็กน้อยและดูแลกล้ามเนื้อมัดเล็ก

อันที่สองคือ ดูแลเรื่องใจซึ่งเป็นเรื่องที่ผมคิดว่าสำคัญมาก คือการเริ่มภาวนาสัก 40 นาทีตอนเช้าของแต่ละวัน ในการดูใจและฝึกใจของตัวเองก็ใช้หลักในการทำสมาธิ ทำภาวนา

 

หลักคิดในการตื่นมาทำงานทุกวันคืออะไร

การทำงานเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ส่วนใหญ่เวลาที่ตื่นขึ้นมาแต่ละวันก็ใช้กับการทำงาน ผมไม่ได้มองว่าการทำงานแยกออกจากชีวิต เพราะฉะนั้นเราก็ต้องแน่ใจว่าเรามีความสุข ตรงกับความสนใจ และตรงกับหลักของเราเองว่าเราทำงานไปเพื่ออะไร

ผมเป็นคนที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามจะให้ความสำคัญกับการทำให้ได้ดี เพราะฉะนั้นเราต้องถามตัวเองก่อนว่าสิ่งที่เราจะทำนั้นมี “ฉันทะ” หรือมีแพสชันในการทำไหม เรื่องที่เราตอบได้ว่าเราทำไปเพื่อวัตถุประสงค์อะไร เราทำแล้วมีความสนใจ ทำไมอยากตื่นนอนทุกวัน

ถ้ามองย้อนกลับไป เราก็ทำงานหลากหลายลักษณะ เปลี่ยนที่ทำงานหลายครั้ง แต่ทุกครั้งผมจะกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองตลอดเวลาว่าสิ่งที่ทำมันตรงกับฉันทะหรือป่าว ซึ่งในช่วงชีวิตของคนแต่ละคน ผมก็เชื่อว่ามันเปลี่ยนแปลงได้ตลอด

วิรไท: ผู้นำที่เชื่อว่า การเป็นหัวหน้าที่ดีเหมือนเล่นดนตรีเป็นวง ออร์เคสตรา

แล้วฉันทะตอนนี้คืออะไร

ผมเป็นคนสนใจในเรื่องใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะฉะนั้นก็ต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างที่เกิดขึ้น ซึ่งงานที่ทำก็จะต้องทำให้เราเปิดโลกด้วยเพราะเราจะได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ

อันที่สองผมสนใจเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม สนใจเรื่องที่มีผลกระทบกับคนหมู่มาก อาจจะเป็นเพราะพื้นเพเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สนใจนโยบายสาธารณะ ดังนั้นหนึ่งมิติของผมก็จะให้ความสนใจกับสังคม

ความท้าทายใหญ่มากคือโจทย์เรื่องความยั่งยืน (Sustainability) เป็นความสนใจเรื่องการทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะภาคธุรกิจก็ดี องค์กรประชาสังคมก็ดี หรือภาคสถาบันการศึกษาก็ดี ให้ทุกภาคส่วนกลับมาให้ความสำคัญกับการตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน ผมเชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่มีความท้าทายใหญ่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

อะไรหล่อหลอมให้เป็นคนที่สนใจสังคมมากขนาดนี้

อาจจะมาจากหลายส่วน ผมเติบโตมาจากครอบครัวข้าราชการ คุณพ่อเป็นข้าราชการ แล้วก็เป็นครอบครัวที่ให้อิสระค่อนข้างเต็มที่กับลูกแต่ละคน ซึ่งทุกคนก็มีความสนใจที่หลากหลาย พี่ชายผมเป็นวิศวกร พี่สาวเป็นแพทย์ ส่วนผมเรียนเศรษฐศาสตร์

เวลาที่คุยกันในบ้านจะมีมุมมองที่หลากหลาย แต่คุณพ่อคุณแม่จะปลูกฝังว่าให้คำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับสังคม หลักจริยธรรม คุณธรรม ความถูกต้อง และการคำนึงถึงคนอื่น

อันนี้ก็จะเป็นสิ่งที่ปรากฏในบทสนทนาอยู่บนโต๊ะอาหารประจำ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนสำคัญที่ช่วยหล่อหลอมความคิด หลักคิดของผมในช่วงที่โตขึ้นมา ทำให้สนใจในเรื่องนโยบายสาธารณะ

อีกอันคือการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันนั้นเป็นการหล่อหลอมให้เรานึกถึงคนอื่น จากทั้งครูบาอาจารย์และจากบรรยากาศ ทำให้เราคิดถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม หลักคิดที่จะมองเรื่องของความถูกต้อง ความเหมาะสมความเหมาะควรในมิติต่างๆ

อีกอันที่ผมคิดว่าได้ประโยชน์มากคือการที่ผมเติบโตมาในครอบครัวที่พุทธศาสนาเป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่รู้สึกตะขิดตะขวง หรือลำบากใจเวลาต้องเจอพระสงฆ์ หรือครูบาอาจารย์ และมีโอกาสติดตามผู้ใหญ่ในครอบครัว โดยเฉพาะคุณยายไปวัดตั้งแต่เด็ก ทั้งหมดทำให้เห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา แล้วก็เป็นประโยชน์ต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

วิรไท: ผู้นำที่เชื่อว่า การเป็นหัวหน้าที่ดีเหมือนเล่นดนตรีเป็นวง ออร์เคสตรา

พระพุทธศาสนามีส่วนช่วยให้ทำงานและใช้ชีวิตได้ดีขึ้นยังไง

สำหรับผมพระพุทธศาสนาช่วยให้เห็นว่าชีวิตคือเรื่องของกายกับใจ โดยเราต้องเริ่มจากการที่ตระหนักว่า ชีวิตของเราคืออะไร

การศึกษาของเราที่ผ่านมามักจะเป็นเรื่องของกาย เราเข้าโรงเรียน ก็เรียนพละศึกษา สุขศึกษา ล้วนเป็นเรื่องของกายทั้งสิ้น เรารู้ว่าเราต้องกินอาหาร 5 หมู่ ต้องแปรงฟันวันละสองครั้ง ต้องออกกำลังกาย แต่อีกเรื่องที่สำคัญ และอาจจะสำคัญมากกว่าเรื่องของกายคือเรื่องใจ แต่เราแทบไม่ให้ความสำคัญ ไม่ได้มีการสอน ไม่ได้มีการให้หลักคิดอย่างจริงจังในเรื่องนี้

ศาสนาเป็นเรื่องของการทำงานของใจ เป็นเรื่องการทำปฏิสัมพันธ์ระหว่างใจ ดังนั้นหลักคำสอนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการฝึกสติและภาวนา เป็นการช่วยให้ใจของเราเป็นใจที่นอกจากจะสงบในสภาวะที่ต้องเผชิญกับความท้าทาย ความเครียด ความร้อนรุ่ม หลายๆ เรื่องที่อาจจะมารุมเร้าตลอดเวลา เรายังสามารถที่จะสร้างความสงบให้เกิดขึ้นในใจได้จากพุทธศาสนา

และที่สำคัญมันยังเป็นการทำให้ใจของเราพร้อมใช้ ใจที่มีสติจะเป็นใจที่พร้อมใช้เมื่อถึงเวลาที่จะต้องมีการตัดสินใจในเรื่องยากๆ ภายในเวลาที่จำกัด

ย้อนกลับไปตอนเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ เล่าให้ฟังได้ไหมว่าเครียดยังไงแล้วพระพุทธศาสนาช่วยให้ผ่านไปได้ไหม

การทำงานในตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเหมือนกับคนที่ทำงานในด้านนโยบายสาธารณะตำแหน่งสูงๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง หรืออธิบดีกรมต่างๆ ซึ่งจะมีความยากกว่าภาคธุรกิจมาก เพราะมีความคาดหวังที่หลากหลายของคนในสังคม ซึ่งความคาดหวังก็อาจจะแตกต่างกันและตรงกันข้ามกัน

ที่แบงก์ชาติอาจจะยิ่งยากขึ้นไปอีกเพราะทุกอย่างที่เราทำ หรือตัดสินใจ อยู่ท่ามกลางผลประโยชน์ มีคนที่ได้และคนที่เสีย เช่นถ้าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมา คนนำเข้าก็จะได้ประโยชน์ ส่วนคนส่งออกเขาก็จะรู้สึกว่าเขาเสียประโยชน์

เหมือนกันถ้าดอกเบี้ยขึ้น คนฝากเงินก็ได้ประโยชน์ ส่วนคนกู้เงินก็อาจจะรู้สึกว่าเสียประโยชน์ แต่ก็เป็นธรรมชาติว่าคนที่ได้ประโยชน์เขาก็จะอยู่เฉยๆ ส่วนคนที่เสียเขาก็จะร้องเรียน เรียกร้อง ให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

ดังนั้นสิ่งที่ยากคือการตอบโจทย์ความต้องการ ความคาดหวัง ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย ไม่เหมือนการทำธุรกิจที่ทำเพื่อสร้างกำไรให้บริษัท ซึ่งเป็นการมองมิติเดียวเป็นเรื่องใหญ่ แต่การทำงานของแบงก์ชาติแตกต่างกันออกไป

อันที่สองคือเราอยู่ท่ามกลางผลประโยชน์ ดังนั้นเวลาตัดสินใจ ต้องแน่ใจว่า ผลประโยชน์ที่เรามอง เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย สำหรับระบบเศรษฐกิจไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาว

เพราะว่าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจซึ่งเป็นเรื่องที่คนมักไม่ให้ความสำคัญถ้าไม่เกิดปัญหา

ถ้าเมื่อไรก็ตามระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ คนก็จะบอกว่า แบงก์ชาติคุมเข้มไปหรือป่าว ทำไปทำไม แต่เมื่อมันเกิดปัญหาขึ้น คนก็จะบอกว่า เมื่อสามปีที่แล้ว คุณทำอะไร เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ทำไมไม่ทำอะไร ทำไมปล่อยให้เกิดปัญหาสะสมจนกระทบเสถียรภาพ

ดังนั้นถ้าถามว่าท่ามกลางความคาดหวังที่หลากหลาย ทำยังไงที่เราจะไม่เกิดความเครียดขึ้น หรือไม่ให้ความเครียดมาบิดเบือนการตัดสินใจหรือไม่สามารถมองสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างที่มันควรจะเป็น แล้วไปมองแบบอคติซึ่งแบบนั้นจะอันตราย

หลักคิดเรื่องพระพุทธศาสตร์ช่วยเยอะมาก สำหรับผมเรื่องแรกคือการ “ฝึกสติ” ให้เราสามารถแยกแยะ เรื่องต่างๆ ได้ หลายครั้งเวลาที่เรามีปัญหาจนเกิดความเครียด เป็นเพราะเรารู้สึกว่าโจทย์มันใหญ่มาก มันยากมาก เราไม่มีทางออก แต่ถ้าเรามีสติ สามารถแยกแยะจะเห็นว่าทุกโจทย์จะมีโจทย์ย่อยๆ โจทย์เล็กๆ อยู่เสมอ

วิธีการของผมคือเราต้องพยายามทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก แล้วค่อยๆ แก้ไปทีละเปลาะ เรียบเรียงลำดับความสำคัญได้ เมื่อไรก็ตามที่เราเห็นทางออก ความเครียดจะลดน้อยลง

ต่อมาคือหลัก “ไตรลักษณ์” ที่พูดถึง “อนิจจัง” ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แม้กระทั่งโจทย์ที่เราเผชิญก็ไม่เที่ยง บางคนที่เครียดเพราะไปมุ่งตอบโจทย์อะไรบางอย่าง แต่วันรุ่งขึ้นโจทย์ก็อาจจะเปลี่ยน บริบทเปลี่ยน ความรุนแรงก็เปลี่ยน อาจจะรุนแรงมากขึ้นหรือลดลงก็ได้ เพราะฉะนั้นการที่เรามีสติที่พร้อมใช้ ก็จะช่วยให้เราอยู่ในสภาวะที่อยู่ในโจทย์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันแทนการไปกังวลกับเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคต  ซึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้อยู่กับปัจจุบันถ้าศึกษาเรื่องพระพุทธศาสนาจะเห็นว่าทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  ดังนั้นทุกเรื่อง ทุกโจทย์ ผมก็เชื่อว่ามีทางออก

บางครั้งการที่เราเครียดมันเกิดจากการที่เราไม่มีทางออก แต่หลักของผม คิดว่าทุกเรื่องมีทางออก จากประสบการณ์ทุกเรื่องมีทางออก เพียงแต่ว่าเราต้องทำความเข้าใจ แยกแยะปัญหาต่างๆ ได้ แล้วก็มีสติที่จะพร้อมใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาแล้วก็หาทางออก

อีกหลักที่สำคัญมากคือ “อนัตตา” หรือการที่จะวางตัวตน บางครั้งเราแบกสิ่งต่างๆ ไว้เยอะมาก แล้วก็อาจจะเกินพอดี เราแบกตำแหน่ง และแบกความคาดหวัง ปัจจัยเหล่านั้นสุดท้ายจะเข้ามาทำให้การตัดสินใจของเรายากขึ้น

การตัดสินใจให้อยู่บนหลักเศรษฐศาสตร์ตรงกับธนาคารกลางก็ยากอยู่แล้ว แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามเราใส่ความเป็นตัวตนของเราเข้าไปอีก ก็จะยิ่งสร้างปัญหา สร้างภาระ สร้างความเครียดให้เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ

วิรไท: ผู้นำที่เชื่อว่า การเป็นหัวหน้าที่ดีเหมือนเล่นดนตรีเป็นวง ออร์เคสตรา

ถ้าย้อนกลับไปในอดีตได้ อยากกลับไปบอกอะไรกับตัวเอง

ในอดีตผมอาจจะโตขึ้นมากับการทำงานที่เน้นเพอร์ฟอร์แมนซ์ เน้นเรื่องผลของงาน แล้วก็จะเป็นคนที่ Drive For Performance (ทำทุกอย่างให้ประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้น) จะผลักดัน ขับเคลื่อนให้ได้คุณภาพสูง ให้ได้เร็ว ให้ได้ประสิทธิภาพสูง แล้วก็ใส่ใจเรื่องใจน้อยไป ทั้งใจของตัวเองแล้วก็ใจของเพื่อนร่วมงาน

เมื่อก่อนเรารู้สึกว่าการที่เราโหดร้ายกับลูกน้องเป็นการฝึกฝนให้เขาแกร่งขึ้น แต่บางทีอาจจะสร้างความทุกข์ให้เขาเยอะมาก แล้วมันก็สร้างพลังลบให้กับองค์กร

ถ้าสามารถย้อนกลับไปได้ ก็คงไม่ใช้วิธีในการทำงานแบบเดิม คงจะให้เวลามากขึ้นในการดูแลคน ดูแลทีมงาน การใส่ใจหรือการให้ความสำคัญกับเรื่องของใจมากขึ้น มากกว่าที่จะเน้นในเรื่องของเพอร์ฟอร์แมนซ์อย่างเดียว

ทั้งหมดคือช่วงที่ผมเด็กๆ อยู่ในธนาคารแห่งประเทศไทย ตอนนั้นผมเริ่มตระหนักในเรื่องของใจและการเป็นผู้นำ นิสัยผมก็เริ่มเปลี่ยนไปจากเดิมเยอะ โดยเฉพาะตอนที่ไปอยู่ธนาคารแห่งประเทศไทย หน้างานจะค่อนข้างหลากหลายมาก แล้วเราก็ต้องทำงานกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่จำนวนมาก

เรามีบทบาททั้งกำกับดูและ และเป็นผู้พัฒนา ร่วมกับเพื่อนร่วมงานหลายท่านตอนนั้นผมใช้หลักคิด “Conductor Leadership” คือทำยังไงให้คนเก่ง แต่ละคนมีเวทีแสดงศักยภาพของตัวเอง เมื่อเราผสานออกมาเป็นวงซิมโฟนี่

วาทยากรมีหน้าที่ผสานพลังให้คนเก่งแต่ละด้านสามารถแสดงความเก่งของเขา มือไวโอลิน มือเชลโล และมือกลองที่อยู่ข้างหลังก็สามารถที่จะแสดงความเก่งของเขาได้

โดยหน้าที่ของผู้นำคือทำให้ทุกคนเล่นไปในทิศทางเดียวกัน แล้วก็เป็นเพลงที่มีคุณภาพสูง เพราะฉะนั้นตอนหลังผมก็ให้ความสำคัญกับการเป็นผู้นำในลักษณะนี้มากขึ้น เป็น Conductor Leader

ท้ายที่สุด หลักการสำคัญของการเป็นผู้นำแบบนี้คือต้องเข้าใจความหลากหลายของคน ซึ่งผมเรียนรู้มากขึ้นหลังจากมีบทบาทในการบริหารจัดการคนจำนวนมากในองค์กรที่มีความหลากหลายในหน้างาน แต่เมื่อก่อนอาจจะไม่ได้ใส่ใจในเรื่องพวกนี้ คือเน้นเพอร์ฟอร์แมนซ์ เพอร์ฟอร์แมนซ์ เพอร์ฟอร์แมนซ์