ปั้นคุณภาพ 'เด็กปฐมวัย' ช่วงเวลาทองของชีวิตที่ต้องลงทุน
"เด็กปฐมวัย" จัดอยู่ในช่วงเวลาทองของการเรียนรู้ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการและอนาคตของเด็ก หากปล่อยให้เด็กกลุ่มนี้เกิด "ความเปราะบาง" ย่อมส่งผลต่อเนื่องในการพัฒนาประเทศระยะยาวด้วย
สำหรับพ่อแม่ทุกคน "ลูก" คือของขวัญที่มีค่าที่สุดในชีวิต แต่คุณแม่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ช่วงชีวิตที่สำคัญที่สุดและดีที่สุดของลูกน้อยนั้น คือช่วงเวลา 6 ปีแรก ซึ่งถือเป็น Golden Time ที่จะเป็นย่างก้าวสำคัญ กำหนดอนาคตของลูกน้อยได้
มีข้อมูลทางวิชาการพิสูจน์แล้วว่า เด็กปฐมวัย คือช่วงเวลาตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีนั้น เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดของการเรียนรู้อย่างมีนัยสำคัญต่อพัฒนาการของสมอง การเรียนรู้ สุขภาพ และพฤติกรรมตลอดช่วงชีวิตของเด็ก
หากแต่สิ่งที่ยังพบในปัจจุบันคือ มีเด็กเล็กจำนวนไม่น้อยที่ยังคง "พร่อง" การเข้าถึงโอกาสการดูแลและการกระตุ้นการเรียนรู้ที่เหมาะสม เพราะด้วยสภาพสังคมและเศรษฐกิจปัจจุบันทำให้ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่สามารถมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของเด็กอย่างจริงจัง
พัฒนาการปฐมวัย เด็กไทยเข้าไม่ถึง
ข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายต่างเร่งระดมกำลังเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเด็กเล็กปฐมวัย เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่สวนทางกันกับการพัฒนาคุณภาพของเด็กปฐมวัยจากวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ที่รูปแบบการเรียนออนไลน์เข้ามาแทนที่ ไม่นับรวมวิกฤติการใช้สื่อหน้าจอในเด็กปฐมวัยที่เพิ่มสูงขึ้น นอกเหนือจากวิกฤติทางสังคมที่เกิดจากครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว พ่อแม่วัยใส กับครอบครัวข้ามรุ่นที่มีปู่ ย่า ตา ยาย ที่มีมากขึ้น
เหล่านี้อาจสะท้อนให้เห็น "ความเปราะบาง" ของเด็กปฐมวัย มีผลต่อเนื่องในการพัฒนาประเทศไทยในระยะยาว
"3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม" เสริมพัฒนาการเร่งด่วน
เพื่อการขับเคลื่อนและพัฒนา เด็กปฐมวัย ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนได้ จึงเกิดการผลักดันนโยบายเสริมสร้างคุณภาพเด็กปฐมวัย เรื่องการขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัย "3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยไทย"
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศวิสัยทัศน์การผลักดันขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบาย "3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในสภาวะวิกฤติ" เป็นวาระแห่งชาติ โดยมาตรการ "3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม" ได้แก่ 1) เร่งให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปกครอง ครู ผู้ดูแลเด็ก ชุมชน และสังคม 2) เร่ง จัดสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 3) เร่งเสริมศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และกลไกระดับพื้นที่ใกล้ตัวเด็ก
ส่วน 3 ลด ได้แก่ 1) ลดการใช้สื่อหน้าจอในเด็กปฐมวัยอย่างจริงจัง งดใช้ก่อนวัย 2 ขวบ 2) ลด ความเครียดคืนความสุขแก่เด็กปฐมวัย 3) ลดการใช้ความรุนแรงกับเด็กปฐมวัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ และ 3 เพิ่ม ได้แก่ 1) เพิ่มกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ ผ่านการเล่นหลากหลาย ดนตรี กีฬา การออก กําลังกาย งานบ้าน งานครัว งานสวน 2) เพิ่มการเล่าหรืออ่านนิทานกับเด็กสม่ำเสมอ 3) เพิ่มความรัก ความใส่ใจ และเวลาคุณภาพของครอบครัว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังประกาศแนวทางการทำงาน ดังนี้
- สกศ. รับผิดชอบประสานการจัดทำแผนการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยใช้เว็บไซต์ "ปฐมวัยไทยแลนด์" เป็นสื่อกลางเพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าให้กับผู้ที่สนใจ
- กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข ขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม
- คณะอนุกรรมการด้านสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย ร่วมกับภาคเอกชน จัดทำแผนการสื่อสาร โดยผ่าน Main Campaign "เพิ่มเวลาคุณภาพ เล่นเป็น กอดเป็น เล่าเป็น" และ Second Campaign "งดจอก่อนสองขวบ ร่วมสร้างวินัย ไม่ใช้ความรุนแรง"
"366 Q - KIDS" นวัตกรรมยกระดับคุณภาพสถานพัฒนาปฐมวัย
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัย ปี 2566 พบ เด็กปฐมวัย มีพัฒนาการล่าช้าด้านการใช้ภาษาสูงถึง 74.8% การเข้าใจภาษา 60.9% ด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา 44.6% และด้านการเคลื่อนไหว 28.2%
"เรามีเป้าหมายในการสร้างเสริมสุขภาวะประชากรทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กปฐมวัย เพราะเป็นวัยสร้างฐานทุนสุขภาพที่ดีตลอดชีวิต เน้นการดำเนินงาน 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1.เพิ่มขีดความสามารถให้แก่ครอบครัวและชุมชน 2.ส่งเสริมพื้นที่เล่นและเรียนรู้ใกล้บ้าน 3.พัฒนาระบบสนับสนุนเด็กและครอบครัวแบบไร้รอยต่อ 4.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของเด็กและเยาวชนในการพัฒนาสังคมสุขภาวะ"
ภายใต้แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564-2570 ที่ผ่านมา สสส. ได้พัฒนาเว็บไซต์ปฐมวัยไทยแลนด์ ecd.onec.go.th เพื่อสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาวะเด็กปฐมวัย เสริมทักษะความเป็นพ่อแม่ และล่าสุด สสส. ยังได้พัฒนานวัตกรรม 366 Q KIDS ขึ้นอีกด้วย
ผู้จัดการ สสส. อธิบายว่า 366 Q KIDS จึงเป็นโปรแกรมส่งเสริมครูพี่เลี้ยงและบุคลากรให้มีความรู้และทักษะในการพัฒนาคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยเฉพาะเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง จะช่วยสำหรับบุคลากรในภาคท้องถิ่นต้องเป็นเจ้าภาพสำคัญอีกภาคส่วนที่มีบทบาทการดูแลการเรียนรู้และพัฒนาการเด็กเล็กปฐมวัย ผ่านศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศทุกหมู่บ้าน ทุกตำบลที่มีอยู่กว่า 19,000 แห่งทั่วประเทศ
"การพัฒนาเด็กปฐมวัย ไม่ได้มีบทบาทแค่พี่เลี้ยงเด็กที่คอยป้อนน้ำ ข้าวปลาอาหาร ดูแลแทนผู้ปกครอง แต่อีกบทบาทสำคัญคือ การเป็นผู้ส่งเสริมเด็กให้พัฒนาการดีขึ้น ด้วยเป็นที่รู้กันดีว่า เด็กในช่วงปฐมวัย คือช่วงอายุ 0-6 ปี กระบวนการตรงนี้ ดังนั้นครูเองก็ต้องได้รับการเสริมสร้างศักยภาพที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ต้องยอมรับว่าครูพี่เลี้ยงนั้นมีความหลากหลาย หลายคนอาจไม่ได้จบด้านการศึกษาเด็กปฐมวัยโดยตรง"
ก่อนจะเป็น 366Q Kids ลองถูกผิดคิดมาเยอะ
ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า สำหรับ 366 Q - KIDS เกิดขึ้นภายใต้โครงการขยายผลเพื่อพัฒนาคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในเครือข่ายตําบลสุขภาวะ เป็นการบูรณาการระหว่างแผนสุขภาวะชุมชนและแผนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว โดยสํานักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สํานัก 3) ร่วมกับสํานักสนับนเครือข่ายตําบลสุขภาวะ ซึ่งสอดรับกับนโยบาย "3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในสภาวะวิกฤติ" สู่การลงมือปฏิบัติจริงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) การแลกเปลี่ยน นําเสนอ และเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้สรุปจากโครงการฯ สามารถนําไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัย
ณัฐยา เผยว่า กว่าจะเป็น 366 Q - KIDS ในวันนี้ ได้ผ่านการลองผิดถูกและมี "Lesson Learned" มาแล้วมากมาย โดยครั้งแรกที่ สสส. ทำ เราทำกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจริง ซึ่งใช้เวลาเป็นปีซึ่งยาวนานมาก ต่อมาปรับปรุงจนเหลือประมาณ 9 เดือน และเราเปลี่ยนจากการปรับปรุงใหม่ที่ไปดูศูนย์ต้นแบบ มาเป็นออนไลน์ 100% ยกกระบวนการออนไลน์ 100% ซึ่งปรากฏว่าไม่ได้ผล เพราะครูเขามีภาระงานจันทร์ถึงศุกร์ ต้องเสาร์อาทิตย์ และไม่มีศึกษานิเทศก์เป็นพี่เลี้ยงใกล้ชิด ทำให้ไม่ค่อยได้ผล อีกด้านเรานำไปทำแผ่นพับและคู่มือแจกจ่ายให้กับครูพี่เลี้ยง แต่ก็ไม่สนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว (สํานัก 4) ในการพัฒนา ปรับปรุงชุดเครื่องมือ กระบวนการเสริมศักยภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) และส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยได้ผลดีนัก เพราะเขาต้องการตัวช่วยเป็นคน
"ทางโครงการได้พัฒนาโครงสร้าง 3 ตัวช่วย เพราะแม้ออนไลน์ไม่ได้ผล แต่ชุดเครื่องมือใช่แล้ว ต้องทำให้ง่ายขึ้น และระยะเวลาก็เหมาะสมแล้ว ซึ่งโครงการนำร่องครั้งดังกล่าวมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเข้าร่วมโปรแกรมและเกิดเป็นต้นแบบแล้ว 51 แห่ง ยกระดับพัฒนาการเด็กปฐมวัยครอบคลุม 2,000 คน"
สำหรับ 366 Q - KIDS ประกอบด้วย 3 ตัวช่วย 6 กิจกรรมการเรียนรู้ ผ่านการเข้าร่วมกระบวนการในระยะเวลา 6 เดือน ตัวช่วยที่ 1 คือชุดเครื่องมือที่ สสส. ออกแบบผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้ว ตัวช่วยที่ 2 คือทีมพี่เลี้ยงที่เราเรียกว่า "ทีมดำน้ำลึก" ด้วยพื้นฐานที่มองว่าการต้องทำเรื่องอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำจำเป็นต้องหาพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา เราจึงค้นหาว่าจังหวัดไหนมีทีมพี่เลี้ยงที่ประกอบไปด้วยศึกษานิเทศก์ นักวิชาการศึกษาท้องถิ่น หรือครูศูนย์เด็กเล็กต้นแบบ รวมตัวกันเป็นทีม "ดำน้ำลึก" และตัวช่วยที่ 3 เกิดจากการเล็งเห็นว่าการพัฒนาการเด็กจะต้องมีหลายด้าน ทั้งมิติสมอง จิตใจ ร่างกาย พัฒนาการ โภชนาการ ควรจะมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องมารวมตัวกันทำหน้าที่เป็นทีมให้คำปรึกษาที่ผ่านทางออนไลน์ได้
ส่วน 6 กิจกรรมเรียนรู้นั้น ณัฐยา เล่าว่า จะเป็นการประสานการทำกระบวนการแบบไฮบริดคือ มีทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ ใช้เวลา 6 เดือน เดือนละ 1 กิจกรรม
"ปัจจุบันเราสรุปบทเรียนเรียบร้อย ทั้งผลวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพ ผลลัพธ์ที่ออกมาหลังสิ้นสุดโครงการนี้ ปรากฏว่าดีขึ้นมาก ครูพี่เลี้ยงเข้าใจถึงการจัดประสบการณ์เด็ก สภาพแวดล้อม การเรียนรู้ให้เด็กปฐมวัย การสร้างมาตรฐานและออกแบบกิจกรรมให้เรียนรู้ผ่านการเล่น ก่อนหน้าที่เคยถูกประเมินอยู่ในระดับต้องปรับปรุง ก็ขึ้นมาดีถึงดีมาก ระดับพอใช้มาดี และระดับดีมากอยู่แล้วก็ขยับขึ้นดีมาก ในการวัดผลส่วนที่สองการวัดพัฒนาการเด็กเอง เด็กได้รับการส่งเสริมพัฒนาการดีขึ้น 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ชุดเครื่องมือที่ใช้ เขาก็ประเมินว่าแต่ละเครื่องมือสามารถช่วยได้จริง ในแตกต่างกัน ทำให้เรามองว่าลงตัวไม่มีต้องตัดออก"
สำหรับในเฟสต่อไป การจะนำเครื่องมือ 366 Q – KIDS ขยายไปสู่วงกว้างมากขึ้น ทาง สสส. มีแผนที่จะร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่เป็นต้นสังกัดศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ ดำเนินการคือการนำเข้าแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อให้ศูนย์เด็กเล็กเข้าถึงได้แบบออนไลน์ จากนั้นจึงมีเวทีแบบออนไซต์เสริม
"อีกทางหนึ่งคือเครือข่ายตำบลสุขภาวะที่เป็นภาคีของ สสส. จะมีศูนย์ต้นแบบ สมัครเป็นศูนย์ต้นแบบพัฒนาเชิงลึก ควบคู่ไปกับการพัฒนากรมเพื่อพัฒนาเป็นทีมศึกษานิเทศก์ เป็นอีกกลไกสำคัญที่ปัจจุบันยังมีน้อย" ณัฐยา กล่าวทิ้งท้าย