เส้นทางจากเด็กขายลอดช่องหลังตลาดบางรัก สู่ผู้นำบิ๊กอสังหาฯ ของ ดร.ยุ้ย-เกษรา
“คอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด” นัดสัมภาษณ์พิเศษกับ “ผศ. ดร. เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์” หรือ ดร.ยุ้ยเพื่อถอดบทเรียนด้านการทำงานและวิธีคิดของผู้หญิงเก่ง (และแกร่ง) ท่านนี้
อาจารย์มหาวิทยาลัย ข้าราชการการเมือง และผู้บริหารบิ๊กอสังหาฯ อย่างเสนาดีเวลลอปเม้นท์ คือหมวกสามใบที่ “ผศ. ดร. เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์” หรือ ดร.ยุ้ย สวมอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแต่ละบทบาทล้วนใช้ทักษะความสามารถ และมีความท้าทายที่แตกต่างกันออกไป
ดังนั้นเพื่อถอดบทเรียนด้านการทำงานและวิธีคิดจากผู้หญิงเก่ง (และแกร่ง) ท่านนี้ “คอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด” นัดสัมภาษณ์พิเศษกับเธอ เพื่อพูดคุยในประเด็นดังกล่าวให้ลึกซึ้งมากขึ้น
ความเป็นเมืองกับชีวิตประจำวัน
1. เล่าให้ฟังได้ไหมว่าชีวิตประจำวันปกติทำอะไรบ้าง แล้วชอบช่วงเวลาไหนที่สุด
ตื่นนอนประมาณตี 4 กิจวัตรทุกวันก็จะคล้ายกันคือเริ่มออกกำลังกายประมาณตี 5 ไม่เล่นเทนนิส ก็ว่ายน้ำ พอ 6 โมงก็จะแต่งตัวแล้ว 7 โมงก็จะเริ่มออกจากบ้านไปทำงาน
ช่วงเช้าเป็นช่วงที่ดีที่สุดเพราะสมมุติว่าต้องคิดอะไรยากๆ หรือตัดสินใจอะไรหินๆ ช่วงเช้าจะเป็นเวลาที่มีความสำคัญมาก เพราะรู้สึกว่าปลอดโปร่ง หลังจากนั้นก็จะไหลไปตามตาราง และเพราะเริ่มงานเช้า ดังนั้นสักประมาณ 6 โมงเย็นก็จะเลิกงาน ส่วนใหญ่ไม่ค่อยไปไหน ไม่ค่อยชอบออกงานเย็นมาก ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ
2. ความเป็นเมืองที่เปลี่ยนไป ทำให้ชีวิตประจำวันเราเปลี่ยนไปอย่างไร
เปลี่ยนมากเพราะชีวิตประจำวันของคนเกี่ยวข้องกับการเดินทางสูงมาก ยกตัวอย่าง ที่บอกว่าเวลาที่ดีที่สุดตอนเช้าคือช่วงออกกำลังกายเสร็จ แล้วมานั่งอะไรเรื่อยเปื่อยที่บ้าน
แต่จริงๆ แล้วทำแบบนั้นไม่ได้ทุกวัน เพราะต้องคิดแล้วว่าวันนั้นจะไปไหน เช่นถ้าต้องไป กทม. ต้องคิดแล้วว่าต้องออกจากบ้านเวลาไหน เพราะถ้าสายไปสักนิดเดียว รถก็จะติดมหาศาลซึ่งก็จะทำให้ไปตามนัดไม่ทัน
3. เมืองต้นแบบที่ไหนที่รู้สึกว่าทำให้คุณภาพชีวิตของคนในประเทศดี
เราใช้ชีวิตอยู่กับสองประเทศ (ที่ไม่รวมไทย) คือแคลิฟอร์เนีย กับ ญี่ปุ่น อย่างแคลิฟอร์เนีย อยู่แถวแอลเอ ซึ่งแทบจะใช้ขนส่งสาธารณะไม่ได้เลย ต้องใช้รถยนต์อย่างเดียว ดังนั้นรัฐก็ทำให้ราคารถยนต์ถูก กลไกของการทำเมืองของเขาคือทำให้ภาษีรถยนต์ไม่แพงเพื่อให้ทุกคนมีรถยนต์ใช้
ส่วนเมืองที่ดีในแง่ของการใช้ขนส่งสาธารณะคือญี่ปุ่น เพราะมีรถสาธารณะจำนวนมากและสามารถเดินทางไปมาระหว่างแต่ละจุดได้ง่าย ซึ่งทำให้เราประชาชนอยากใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น แล้วก็สะอาดสะอ้าน
ย้อนกลับไปตอนเป็น ‘เด็กหญิงยุ้ย’
4. ย้อนกลับไปในวันเด็ก เป็นคนยังไง
โชคดีที่เกิดทันตอนที่คุณพ่อคุณแม่ฐานะไม่ดีมากๆ เมื่อก่อนท่านเป็นคนขายกาแฟ ขายลอดช่อง อยู่ที่ตลาดบางรัก ซึ่งปัจจุบันคือห้างโรบินสัน บางรัก
ลักษณะของบ้านเป็นตึกแถว หลังบ้านของทุกคนจะเปิดเข้าไปที่ตลาด ซึ่งก็จะมีเขียงขายหมูเต็มไปหมด แล้วบ้านเราก็จะปล่อยเช่าพื้นที่เล็กๆ บวกกับขายน้ำด้วย ส่วนหน้าบ้านไม่ค่อยมีคนเพราะติดถนนใหญ่ แล้วลูกหลานก็จะมาอยู่ในบ้านเต็มเลย
ถึงแม้ตอนนั้นจะเป็นเด็กที่ไม่ได้ทุกข์เท่าไรเพราะแม่ก็ดูแล แต่ช่วงเวลานั้นทำให้รู้ถึงความลำบากของทั้งสองท่าน ตอนที่เราลำบาก แล้วต้องพยายามไต่เต้าในการที่จะเป็นคนที่มีฐานะ เป็นเจ้าของกิจการ รู้สึกว่ามันลำบากยังไง คิดว่าชีวิตช่วงนั้นเป็นการเรียนรู้ที่ดีมากๆ ซึ่งมันคือ 40 ปีที่แล้ว
จุดเปลี่ยนของครอบครัวคือวันหนึ่งคุณพ่อคุณแม่พูดว่าต่อให้ขายน้ำทำไปเท่าไรก็น่าจะไม่รวย ท่านก็เลยเริ่มออกมาเป็นนายหน้าค้าไม้ จากนั้นท่านก็ไปขายไม้ที่หมู่บ้าน
ต่อมาท่านก็รู้สึกว่าเป็นคนขายไม้สุดท้ายเจ้าของบริษัทไม้ก็รวยดังนั้นทั้งสองเลยค่อยๆ มาทำไม้บ้าง ต่อมาก็เริ่มรู้สึกว่า เอ๊ะ พอไปส่งไม้ที่บริษัทก็เห็นว่าคนทำหมู่บ้านรวยกว่าคนขายไม้ ก็เลยอยากเป็นคนทำหมู่บ้านด้วยจากวันนั้นคุณพ่อและคุณแม่ก็ค่อยๆ สร้างเนื้อสร้างตัวทีละนิดเพราะไม่มีทุน หมู่บ้านแรกที่ทำก็กู้ธนาคารมา ซึ่งมี 5 ยูนิตเอง
ณ วันนั้นทุกสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำ มันก็ทำให้เห็นถึงความยากลำบาก และเห็นการค่อยๆ เก็บหอมรอมริบซึ่งสุดท้ายความพยายามนั้นสร้างความเป็นEntrepreneur (ผู้ประกอบการ) ให้เรา
5. บริบทสังคมในปัจจุบันทำให้เราสร้างตัวได้ง่ายเหมือนสมัยก่อนหรือไม่
โอกาสในสังคมช่วง 40 ปีที่แล้วมีเยอะมากเพราะมันยังไม่เหลื่อมล้ำเท่าปัจจุบัน มันทำให้เราใช้โอกาสและใช้ความขยันจนเติบโตจากจุดที่เราอาจจะอยู่ไกลเส้นชัยมากกว่าคนอื่น แต่สุดท้ายถ้าเราวิ่งอย่างเข้มแข็ง เราก็ยังมายังเส้นชัยได้
แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่มาของพี่มาอยู่ในยุคสมัยปัจจุบัน มันยากกว่าเยอะเลย ถึงแม้ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่คนเดิม ทำทุกอย่างเหมือนเดิม แต่ใช่ว่าท่านทำแล้วจะได้ผลลัพธ์แบบเมื่อ 40 ปีที่แล้ว
กำลังจะเปรียบเทียบให้เห็นว่า เวลาสังคมมันเปลี่ยนแปลง กลไกของสังคม กลไกของความเหลื่อมล้ำ มันทำให้ถึงแม้คนจะขยันเท่ากันและมีความสามารถเท่ากัน แต่โอกาสที่ได้รับอาจจะไม่เท่ากัน แล้วก็อาจจะทำให้โอกาสที่ได้ไม่เท่ากัน
6. สังคมไทยตอนนี้ทำให้คนรุ่นใหม่อยากพัฒนาตัวเองมากน้อยขนาดไหน
เราเลือกสิ่งที่เราเกิดมาไม่ได้แต่เราพยายามกับสิ่งที่เราอยู่ได้ เราทำให้ดีที่สุดจากจุดที่เรายืนได้เสมอ เราแก้ไม่ได้ทุกเรื่อง แต่เราไม่ควรจะบอกว่าสังคมไทยเป็นแบบนี้เราก็คงต้องเป็นแบบนี้
เชื่อว่าเราไปเลือกอยู่ในกลุ่มที่มันจะเป็นแรงผลักที่ดีได้ ซึ่งตรงนั้นมีประโยชน์มาก เราไม่ใช่คนเก่งมากอะไร แต่รู้ว่ามีเพื่อนที่ดีแล้วมันทำให้เราไปอยู่ตรงนั้นด้วย
สำหรับชีวิตการทำงานปัจจุบัน เราเชื่อมากกับคำที่ว่า ถ้าเราอยู่กับใคร 5 คน เราจะเป็นค่าเฉลี่ยของ 5 คนนั้น เช่นถ้าเรารู้สึกว่าอยากจะได้อะไรที่เป็นมุมมองที่เป็นประโยชน์ เราจะคิดว่าเขาเหล่านี้เป็นคนที่เก่งจัง เราก็เอาตัวเองไปอยู่ตรงนั้นสักหน่อย แล้วพยายามคิดว่าเราอยากจะเรียนรู้อะไรจากคนเหล่านั้น โดยเราต้องเป็นคนเซตคำถาม เป็นคนคิดกับตัวเองว่าฉันอยากเรียนรู้เรื่องนี้ กับคนกลุ่มนี้ แล้วเวลาเราอยู่ตรงนั้น
7. มีตัวอย่างคนเหล่านั้นในชีวิตไหม
เป็นสองคนที่เราไม่เคยเจอ แต่ชอบวิธีคิด คือเราชอบอ่านมุมที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ พูดถึงวิธีการ “เลือก” เราชอบกลับไปวิเคราะห์วิธีการเลือกหุ้นของเขา เพราะรู้สึกว่ามัน So Fundamental (พื้นฐานมาก) ถึงขนาดที่ว่า เราสามารถนำเรื่องนั้นไปคิดเรื่องอื่นต่อได้
คำพูดของบัฟเฟตต์ที่วนอยู่ในหัวเราบ่อยๆ คือ เขาจะไม่ลงทุนอะไรที่เขาไม่รู้จัก พี่พลาดกับการลงทุนที่ไม่รู้จักจำนวนมาก เพราะตอนนั้นคิดว่ามันเป็นการลงทุนที่ดูเท่ แล้วเป็นการลงทุนที่เขาลงกัน แสดงว่าต้องถูกแน่เลย บวกกับรู้สึกว่ามีความรู้พอ
สุดท้ายพลาดเยอะเลย ตอนที่เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis) ก็ลง พวกที่เป็น Structured Product (อนุพันธ์) ทั้งที่ตัวเองไม่ได้รู้จักมันดี แค่รู้สึกว่าเราเรียนมา เรารู้จักมันดี รู้สึกว่าตอนนั้นเขาลงกันเยอะแยะ ไม่มีพลาดหรอก
แต่ถ้าเราไปศึกษาวิธีคิดของบัฟเฟตต์ ขนาดคนที่เก่งขนาดนั้น เขายังบอกเลยว่า อะไรที่เขาไม่สามารถเข้าใจได้ เขาก็จะไม่เลือกลงทุน ประโยคนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เตือนตัวเองอยู่เรื่อย ๆ
อีกคนหนึ่งคือ เจฟฟ์ เบโซส์ พูดแค่ครั้งเดียวเองมั้ง แต่เราก็เอามาเป็นหลักคิด เขาบอกว่า อย่ามี Passion Of The Day (แพสชันของวัน) คำนี้สำคัญกับเรามากเลยนะ เพราะ เวลาเราเป็นเจ้าของกิจการเราครีเอทเรื่องได้ทุกวัน เราครีเอทสิ่งใหม่ได้ทุกวัน เราอยากทำอะไรเราก็เริ่มได้ แล้วเวลาเริ่มเรื่องใหม่มันก็จะสนุก
แต่ว่าเวลาเราเริ่มปุ๊บจะมีลูกน้องอีกพวงหนึ่งที่ต้องทำตาม ซึ่งจริงๆ ผลสุดท้ายก็อาจจะไม่ดีก็ได้ แล้วมันมีหลายเรื่องมากเลยที่บางครั้งมันเป็น Passion Of The Day เราไปเจอมา เราไปเห็นเพื่อนเขาทำมา แล้วรู้สึกว่า ไม่มีไม่ได้แล้ว ซึ่งเอไอก็อาจจะเป็นแบบนั้นช่วงหนึ่งสำหรับเราก็ได้นะ (หัวเราะ)
คำแนะนำถึงคนรุ่นใหม่
8. อยากสื่อสารอะไรกับน้องๆ คนรุ่นใหม่ไหม
ไม่ว่าเราจะขยันหรือพยายามยังไงก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เราไม่สามารถ Make Sure (มั่นใจ) ได้ว่าจะเกิดเป็นมัก เป็นผล คือโอกาส คำว่าโอกาส ส่วนใหญ่แล้วมันเกิดจากคนอื่นให้ เกิดจากเราไปทำอะไรบางอย่างแล้วเราไปมีตรงนั้นมา ซึ่งปกติแล้วโอกาสเอาแน่เอานอนไม่ได้ มันไม่เหมือนกับการสอบที่เวลาเราอ่านหนังสือ ผลสอบก็มักจะออกมาได้ดี
แต่เวลาเราทำงาน ถึงแม้ว่าเราจะขยันทำงานมากๆ แต่ถ้าโอกาสมันไม่ได้เข้ามาตามที่เราคิดด้วย ผลอาจจะไม่ดีเท่าคนที่ขยันน้อยกว่า แต่มีโอกาสดีกว่าก็ได้ นั้นคือชีวิตในความเป็นจริง
ดังนั้นเมื่อไรก็ตามที่มีโอกาส อยากให้คว้า ไม่รู้ว่าเป็นการแนะนำที่ถูกไหม แต่ว่าในประสบการณ์ โอกาสเป็นเรื่องที่ดีมาก ถ้าเรามีโอกาสอะไร ปกติแล้วก็จะคว้าไว้
ถึงแม้บางครั้งเราอาจจะยังไม่มั่นใจกับมัน 100% ก็ตาม แต่เราก็มักจะคว้าไว้ก่อน แล้วก็จะทำมันให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งสุดท้ายมันก็มักจะออกมาทำนองว่า “ดีแล้วที่เลือก”
9. สุดท้าย อะไรคือโอกาสล่าสุดที่เพิ่งจะคว้ามา แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำได้ดีหรือเปล่า
คือการที่พี่ชัชชาติ (สิทธิพันธุ์) ชวนมาทำการเมือง (ยิ้ม)