วางเข็มทิศเส้นทางใหม่อนาคตสังคมไทย ผ่านนโยบายเด็กและครอบครัว

วางเข็มทิศเส้นทางใหม่อนาคตสังคมไทย ผ่านนโยบายเด็กและครอบครัว

ชวนคนไทยเจาะลึกสถานการณ์เด็กและครอบครัว กับปัญหา 4 ด้าน ผ่าน 4 ผลวิจัย กับงานเสาวนา "เปิดเส้นทางใหม่ นโยบายเด็ก และครอบครัวไทยแห่งอนาคต" หวังจุดประกายหารือการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. มีเป้าหมายพัฒนาสุขภาวะเด็กและเยาวชนไทย เพื่อให้ทุกครอบครัวมีความเข้มแข็ง ซึ่งจากการทบทวนสถานการณ์สังคมพบว่า มีปัญหาที่รอการแก้ไข 4 เรื่อง ได้แก่ 1.) เรื่องพัฒนาการและคุณภาพชีวิตของเด็กปฐมวัย 2.) วัยรุ่นมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น 3.) ความขัดแย้งและไม่ลงรอยทางความคิดของคนต่างรุ่น และ 4.) ความต้องการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นทางสังคม

สสส. จะเอาข้อเสนอจากงานวิจัยเหล่านี้มาวิเคราะห์ต่อ แล้วก็ปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย เพื่อที่จะดูความเป็นไปได้ของข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้

วางเข็มทิศเส้นทางใหม่อนาคตสังคมไทย ผ่านนโยบายเด็กและครอบครัว

สวัสดิการเพื่ออนาคตเด็กไทยกำลังเดินถอยหลัง

วาระพัฒนาการเด็กเล็กไทยยังเป็นประเด็นสำคัญ แต่จากงานวิจัย "ระบบสวัสดิการเด็กเล็กเพื่ออนาคต" อาจสะท้อนให้เห็นว่าผู้มีส่วนในการขับเคลื่อนการดูแลพัฒนาการเด็กปฐมวัยไทย ยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญแท้จริง

ดร.สัณห์สิรี โฆษินทร์เดชา คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดประเด็นด้วยการนำเสนอภาพรวมสถานการณ์การเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยไทยว่า ในขณะที่เด็กซึ่งกำลังกลายเป็นประชากรวัยแรงงาน ซึ่งมีความสำคัญต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มมีสัดส่วนที่ลดลง ทำให้เด็กถูกคาดหวังมากขึ้น ในการต้องมารับภาระต่างๆ ในอนาคต แต่หากย้อนถามไปว่า แล้วปัจจุบันเราให้การสนับสนุนเด็กเหล่านี้อย่างไรบ้าง ? สิ่งที่สะท้อนให้เห็นนั่นคือ มาจากระบบการให้การสนับสนุนในการเลี้ยงดูเด็กเล็กของประเทศไทย ที่น่าสนใจก็คือในกลุ่มยากจนซึ่งมีประชากรมเด็กปฐมวัย 0-2 ปี มากที่สุด เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กไม่สามารถที่จะพัฒนาคุณภาพด้านการเรียนรู้ เช่น พื้นฐานการอ่าน ขณะเดียวกันเด็กยังเผชิญกับการเลี้ยงดูด้วยความรุนแรงทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งอาจเกิดจากความเครียดสะสมของพ่อแม่ จากภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบถึงเด็ก

ดร.สัณห์สิรี กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกเรื่องของปัจจัยที่ยังไม่ครอบคลุมอย่างเช่น เงินอุดหนุนเด็กเล็กก็ยังไม่ถ้วนหน้า ในแง่ของค่าใช้จ่ายถือเป็นความท้าทายของกลุ่มครัวเรือนที่ยากจน จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการดูแลเด็กปฐมวัยเฉลี่ย 6,000 บาทต่อเดือน เมื่อระบบที่ไม่ยืดหยุ่นเพียงพอก็ทำให้ครัวเรือนต่างๆ ต้องหาวิธีที่จะดูแลเด็กเล็กตามสถานการณ์ของแต่ละครัวเรือนไป

"เด็กเล็กนั้นต้องการแม่ หรือใครบางคนที่มีอยู่จริง สำหรับเขาแล้วใครคนนั้นคือแม่ แต่แม่ของเขาอยู่ที่ไหน นั่นคืออาจจะต้องไปทำงานอยู่" ดร.สัณห์สิรี กล่าว

หนุนกลไกลท้องถิ่นดูแลเด็ก

ผศ.ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงการจัดสวัสดิการอย่างไร เพื่อให้เด็กไทยไม่มีพัฒนาการถอยหลังทั้งด้านกายใจ และสติปัญญา การเรียนรู้ โดยเสนอแนะทางออกว่า สถานการณ์การเลี้ยงดูเด็กกำลังจะเปลี่ยนไป โดยปี 2567 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศแนวทางการดูแลพัฒนาการเด็กปฐมวัย ภายใต้แนวความคิด Nurturing Care Framework ครอบคลุมถึงเรื่องสุขภาพ โภชนาการ สวัสดิการ การได้รับความเอาใจใส่ และโอกาสเข้าถึงเรียนรู้

1.) ให้รัฐบาลดูแลสถานดูแลเด็กปฐมวัยให้มีมาตรฐาน เพิ่มกำลังคนให้สามารถดูแลเด็กได้ครอบคลุม และ 2.) ให้มีสถานรองรับเด็กของภาครัฐที่เพียงพอ โดยมองว่าองค์กรส่วนท้องถิ่นมีศักยภาพในการที่จะเชื่อมโยง รวมไปถึงระดมทรัพยากรเพื่อเอามาสนับสนุนระบบนี้เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเด็กจากกลุ่มยากจนไปสู่กลุ่มที่มีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อีกด้านหนึ่งบุคลากรสำคัญคือ ผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลเด็ก ซึ่งปัจจุบันมองว่ายังขาดแคลนและไม่เพียงพอ อาจไม่จำเป็นจะต้องเป็นหน่วยงานของรัฐเพียงอย่างเดียว จะเป็นองค์กรเอกชน หรือแม้แต่พ่อแม่ และผู้ดูแลเด็กเอง ก็สามารถที่จะเป็นผู้ให้บริการในการดูแลเด็กได้

ผศ.ดร.ภาวิน กล่าวเพิ่มอีกว่า เด็กเล็กอยู่ในครอบครัวฐานะยากจน 40% ล่างสุดของประเทศ เท่ากับเด็กจะมีจำนวนประมาณหนึ่งล้านคน ซึ่งถ้าเราเอามาตรฐานกำหนดว่าผู้ดูแลจะต้องมีจำนวน มีสัดส่วนเด็กสามคนต่อผู้ดูแลหนึ่งคน เราจะต้องมีครูเพิ่มขึ้น 200,000 คน หรืออีกหนึ่งเท่าตัว ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยโดยเฉพาะระยะเวลาสั้น ดังนั้น การให้สิทธิประโยชน์กับพ่อแม่และผู้ดูแล ที่ต้องลาออกจากงานประจำมาให้การดูแลเด็กเล็กด้วยตัวเอง

"ข้อเสนอของเราก็คือ เราทำให้พ่อแม่ตัดสินใจในการออกมาดูแลลูกได้ง่ายขึ้น ก็คือเราจ่ายเงินให้กับพ่อแม่ที่ทำหน้าที่ในการดูแลเด็กในระบบ และยังมีการให้สวัสดิการ อย่างเช่น สามารถได้รับสวัสดิการ ประกันสังคมมาตรา 33 ต่อเนื่อง เพราะในการดูแลเด็กเล็ก พ่อแม่ดูแลลูกน้อยเองถือเป็นเรื่องที่ดีที่สุด" ผศ.ดร.ภาวิน กล่าว

นอกจากนี้ ครัวเรือนยากจน เป็นกลุ่มที่จำเป็นจะต้องพึ่งพาศูนย์นอกระบบ พ่อแม่หลายครัวเรือนจำเป็นจะต้องเจียดรายได้น้อยนิดของตัวเองไปจ้างศูนย์นอกระบบ จึงเห็นควรนำศูนย์นอกระบบเข้าสู่ระบบ เพื่อให้สามารถที่จะจดทะเบียน ได้รับสวัสดิการต่างๆ หรือว่ากิจกรรมต่างๆ ที่ภาครัฐจัดหาให้ได้

วางเข็มทิศเส้นทางใหม่อนาคตสังคมไทย ผ่านนโยบายเด็กและครอบครัว

ปัญหาสุขภาพจิต ทรายถมทะเล

พญ.วินิทรา แก้วพิลา คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า การจะแก้ปัญหาสุขภาพจิตคนไทย ต้องคิดให้ครบทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตของคน และคิดให้ลึกมากพอให้เห็นถึงปัญหา และคิดให้ยาวพอที่จะแก้ปัญหาได้ ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้น มองว่ามันเป็นสัญญาณเตือนอันตราย แต่ว่าหลายคนยังไม่รู้เท่าทัน เรามองว่าบางทีเด็กและเยาวชนหรือว่ากลุ่มคนที่เปราะบางเช่น คนที่มีปัญหาเศรษฐกิจ หรือถูกกดดันทางสังคม เปรียบเสมือนเป็นนกขมิ้น เพราะจะเจอปัญหาและเกิดปัญหาสุขภาพจิตก่อนคนอื่น แต่ไม่ได้แปลว่าเราต้องไปแก้สารเคมีในสมองเขา หากแต่จำเป็นต้องมีกลไกในการจัดการ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของหัวข้อวิจัยนี้ แม้จะประสบความสำเร็จในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมแต่ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะเข้าถึงและใช้บริการได้ โดยเฉพาะบริการด้านสุขภาพจิต

พญ.วินิทรา กล่าวเพิ่มอีกว่า ปัญหาสุขภาพจิตคนไทยกำลังเพิ่มขึ้น ความรุนแรงก็เพิ่มขึ้นด้วย แม้ว่าจะพยายามแก้ปัญหามากมาย แต่การฆ่าตัวตายก็สูงกลับขึ้นมาอีก โดยเฉพาะในวัยรุ่น อายุน้อยขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เปราะบาง ทำให้การบริการสุขภาพจิตมีความต้องการที่มากขึ้น จากการวิจัยพบว่าเราต้องเพิ่มบริการ เพิ่มหมอ แต่การเพิ่มแบบเหมือนถมทรายลงไปในทะเล อาจทำให้เราไม่ได้ไปแก้ที่ปัญหาตรงจุด เราควรให้ความสำคัญตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ เพราะหลายครั้งพบว่าเด็กถูกบ่มเพาะความทุกข์ยากตั้งแต่วัยเด็ก ทั้งเรื่องชีวภาพ จิตใจ และสังคม ที่ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญปัญหาความยากจนในครอบครัว ความโดดเดี่ยว สภาพแวดล้อม ไปจนถึงสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เหล่านี้มีผลกับสุขภาพจิตของคนไม่น้อย

"นอกเหนือจากการรักษาเยียวยาทางการแพทย์แล้ว ทุนทางสังคม หรือโซเชียลซัพพอร์ตคือ อีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตที่ดีขึ้นของคนเรา และสุดท้ายปัญหาในด้านระบบคือ การแก้ไขการคิดแยกส่วนของหน่วยงานผู้ให้บริการ หรือบุคลากรผู้ให้บริการ ซึ่งทำให้ไม่ได้ตอบโจทย์การแก้ปัญหา" พญ.วินิทรา กล่าว

ออกแบบระบบหลักประกันสุขภาพใจถ้วนหน้าอย่างไร ?

รศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ และคณะผู้วิจัยมีข้อเสนอต่อการปรับปรุงเรื่องบริการสุขภาพจิต ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.) เพิ่มชุดสิทธิประโยชน์ในการจ่ายเงินชดเชยช่องทางใหม่ๆ เช่น โทรเวช เพื่อให้ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตกลุ่มใหม่สามารถเข้าถึงได้เพิ่มขึ้น 2.) ขยายการบริการสุขภาพจิต ให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ใช่ทีมสุขภาพจิตเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของผู้ป่วยโรคทางกาย รวมถึงผู้ป่วยระยะยาว 3.) ออกแบบระบบผู้สั่งการรักษาทางสังคม ทำหน้าที่เชื่อมต่อคำวินิจฉัยและการดูแลรักษาของทีมสุขภาพจิต เพื่อส่งกลับไปที่ครอบครัว องค์กร ชุมชน หรือสังคมที่ผู้ป่วยใช้ชีวิตอยู่ เพื่อแก้ปัญหาถึงรากฐาน และ 4.) ทำงานเชิงนโยบายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการปรับแก้ปัจจัยด้านสังคมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพจิตเชิงบวก ลดจำนวนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตรายใหม่ และแก้ไขปัญหาทั้งระบบได้อย่างยั่งยืน

วางเข็มทิศเส้นทางใหม่อนาคตสังคมไทย ผ่านนโยบายเด็กและครอบครัว

พลเมืองคนรุ่นใหม่ ไม่ปิดกั้น

รศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษาความสัมพันธ์ของความแตกต่างระหว่างรุ่นและความขัดแย้งทางการเมืองในกลุ่มตัวอย่าง 2,000 คนทั่วประเทศ พบว่า ความขัดแย้งทางการเมือง เกิดจากแนวคิดและรูปแบบการทำกิจกรรมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ ที่กระตุ้นจิตสำนึกของคนรุ่นใหญ่ กลายมาเป็นข้อขัดแย้งและเผชิญหน้ากันในพื้นที่ครอบครัว ความขัดแย้งระหว่างรุ่นมักถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยแวดล้อมอื่น เช่น โครงสร้างอำนาจที่กดทับ สร้างความไม่พอใจให้คนรุ่นใหม่ และวัฒนธรรมเลี่ยงการเผชิญหน้าที่ไม่เอื้อให้เกิดบทสนทนาเพื่อเรียนรู้ เข้าใจ และปรับตัวอยู่ร่วมกัน ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยเสนอเครื่องมือจินตนาการพลเมือง โปรแกรมเวิร์กช็อปสร้างการมีส่วนร่วมด้วยการจินตนาการผ่านวัฒนธรรมร่วมสมัยช่วยให้เข้าใจคุณค่าที่คนต่างรุ่นยึดถือ ช่วยให้คนในครอบครัวที่มีความสนใจต่างกันสามารถสนทนากันอย่างสนิทสนมได้ยิ่งขึ้น

รศ.ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คณะผู้วิจัยใช้เครื่องมือ Civic Imagination มุ่งออกแบบ และพัฒนากระบวนการนำจินตนาการของเยาวชนมาสู่การพัฒนานวัตกรรมทางสังคม ด้วยการเสริมเครื่องมือการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ การคิดเชิงออกแบบ และกระบวนการสร้างนวัตกรรมทางสังคม ให้กับเยาวชนอายุ 15-18 ปี รวม 6 ทีม โดยมีพี่เลี้ยงและผู้เชี่ยวชาญร่วมบ่มเพาะอย่างใกล้ชิด พบว่า เยาวชนมีความยึดมั่นในคุณค่าพลเมืองเพิ่มขึ้น เกิดความตระหนักต่อหน้าที่พลเมือง และการมีความรู้ด้านพลเมือง กระบวนการที่ถูกพัฒนาขึ้น จึงสามารถนำไปบูรณาการให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรของสถานศึกษา เช่น กลุ่มวิชาสังคมศึกษา (หน้าที่พลเมือง) เพื่อเป็นทางเลือกในการส่งเสริมความเป็นพลเมือง โดยอาศัยการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนแสดงความคิดแบบไม่ปิดกั้นจินตนาการ

สนใจข้อมูลวิชาการ และข้อเสนอเชิงนโยบายสามารถดูรายงานสถานการณ์ฉบับสมบูรณ์ได้ที่เว็บไซต์ คิด for คิดส์

วางเข็มทิศเส้นทางใหม่อนาคตสังคมไทย ผ่านนโยบายเด็กและครอบครัว