เส้นทาง ‘รีวิวเวอร์’ ของ ‘อู๋ spin 9’ ชายลูก (แมว) 2 ที่รู้ตั้งแต่เด็กว่าไม่อยากทำงานประจำ
คอลัมน์ “The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด” ชวนพูดคุยกับอู๋สปิน 9 เพื่อเข้าใจมุมมองการทำงาน การใช้ชีวิต รวมทั้งถอดบทเรียนของอดีตเด็กจบใหม่ที่ต้องสื่อสารกับพ่อแม่ว่าไม่อยากทำงานประจำเพราะรู้ตัวว่าอยากเป็นนักรีวิวตั้งแต่เด็ก
ถ้าพูดถึงนักสร้างคอนเทนต์ด้านเทคโนโลยี แก็ดเจ็ตไอที และยานยนต์ ในประเทศไทย “อู๋สปิน 9” อาจเป็นชื่อแรกๆ ที่หลายคนนึกถึงและอาจจะรู้จักเขาในสถานะที่แตกต่างกันออกไป เขาอาจจะเป็นเพื่อนที่ช่วยคุณตัดสินใจว่าจะซื้อสมาร์ตโฟนเครื่องนี้หรือไม่ คุณควรเสียเงินหลายหมื่นกับหูฟังแบรนด์นี้ไหม หรือบางคนก็ดูรีวิวของช่องสปิน 9 เพียงเพราะความบันเทิง
แต่ก่อนที่เขาจะมาถึงจุดที่ประสบความสำเร็จแบบที่ทุกคนรู้จักทุกวันนี้ หลายคนอาจไม่รู้ว่าเส้นทางการเติบโตของสปิน 9 ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเพราะต้องผ่านช่วงเวลายากลำบากในการค้นหาตัวตนของช่อง การสื่อสารจุดยืนกับแบรนด์ที่ทำงานด้วยหรือแม้กระทั่งการพูดคุยกับพ่อแม่ตั้งแต่ตอนเรียนจบใหม่ว่าไม่อยากทำงานประจำ
วันนี้คอลัมน์ “The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด” ชวนพูดคุยกับ "อติชาญ เชิงชวโน" หรือ อู๋สปิน 9 ให้ลึกซึ้งมากขึ้นเพื่อเข้าใจมุมมองการทำงาน การใช้ชีวิต รวมทั้งถอดบทเรียนของอดีตเด็กจบใหม่ที่ต้องสื่อสารกับพ่อแม่ว่าไม่อยากทำงานประจำเพราะรู้ตัวว่าอยากเป็นนักรีวิวตั้งแต่เด็ก
ตั้งแต่เช้าจรดเย็นทำอะไรบ้าง
ตอนนี้มีแมว มีแมวเหมือนมีลูกเลยเพราะต้องตื่นเช้าทันที (หัวเราะ)
ชีวิตก่อนมีแมวก็จะตื่นสายได้นิดหน่อยแต่พอมีแมวมาอยู่ด้วยสองตัว เขาก็จะปลุกเราแต่เช้า มีอะไรให้ทำตามมาหลายอย่าง ไม่ว่าจะให้อาหารเอย รดน้ำต้นไม้เอย คือมันมีงานบ้านให้ทำ แล้วก็ออกกำลังกาย สองปีที่ผ่านมาเลยตื่นเช้าขึ้นเยอะโดยเฉพาะในวันที่ไม่ได้มีงานเช้ามาก
ตอนเช้ามีช่วงเวลาที่ต้องอยู่คนเดียวก่อนเริ่มงานไหม
ถ้าเป็นนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการอาจจะมีช่วงเวลาที่ต้องอยู่กับตัวเองในตอนเช้าก่อนที่จะออกไปพบปะผู้คน แต่ของเราคือการรีเสิร์ชข้อมูลของโปรดักต์เพราะยิ่งเราคุ้นเคยกับมันมากเท่าไหร่เราก็จะยิ่งสามารถถ่ายทอดได้แม่นและคมขึ้น
ที่บ้านจะมีห้องทำงานของตัวเอง ตอนเช้าก็จะจมตัวเองในห้องทำงานเพื่อรีเสิร์ชข้อมูล เพราะอาชีพที่ทำอยู่ต้องทำงานกับโปรดักต์ใหม่ทั้งหมดและสินค้าบางตัวที่เราต้องทำงานด้วยก็เป็นชิ้นที่ยังไม่ได้วางขาย ข้อมูลที่มีจึงจำกัดพอสมควรเพราะไม่สามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ทั่วไป
ความท้าทายของการทำงานรีวิวคือการที่เราไม่คุ้นเคยกับโปรดักต์มากแต่วันนี้หรือวันพรุ่งนี้จะต้องถ่ายทำแล้ว ดังนั้นในช่วงเช้าเราจะรีเสิร์ชข้อมูล ส่วนสินค้าตัวไหนที่เรามีอยู่ในมือก็ทดลองใช้ให้มันอยู่มือให้มันเข้ามือ ให้สามารถเล่าได้อย่างแม่นยำ
หรือในกรณีที่สินค้าเป็นรถก็อาจจะต้องใช้เวลาในห้องทำงานซึ่งก็คือในรถ ลองไปทำงานกับมันว่าระบบใหม่เป็นอย่างไร คนฟังคนดูเดี๋ยวนี้เก่ง เขาฟังแป๊ปเดียวก็รู้แล้วว่าคนนี้เพิ่งคว้าสินค้ามาแล้วพูดเลยหรือว่าคนไหนรู้จักสินค้าดีมาก
ที่สำคัญสินค้าเกือบทุกตัวมีรุ่นก่อนหน้าทั้งนั้น รุ่นนี้อาจจะเป็นรุ่นที่ 3 หรือรุ่นที่ 8 ที่ถ้าเป็นโทรศัพท์ตอนนี้เลขรุ่นไปไกลแล้วใช่ไหม (หัวเราะ) เลขรุ่น 10 กว่า 20 กว่ากันแล้ว ดังนั้นมันเลยมีเรื่องของประสบการณ์อีกว่ารุ่นนี้ที่ออกมาใหม่มาแทนรุ่นอะไรของปีที่แล้ว แล้วรุ่นก่อนหน้ามีจุดอ่อนอะไร จะเห็นว่าถ้าเรารู้ประวัติศาสตร์ของมันบ้างก็จะยิ่งแม่นไปด้วยว่าตัวใหม่ล่าสุดที่เพิ่งออกมาทำมาแก้เพนพอยต์ตรงไหน
ถ้ายิ่งเราทำงานกับโปรดักต์รีวิว คนมาดูก็เพราะเขาอยากได้อยู่แล้วแหละ ไม่ใช่ว่าอยากได้เพราะเรานะแต่เขาอยากได้สินค้าตัวนั้นอยู่แล้ว เขาอาจจะมาดูงานเราเพื่อคอนเฟิร์มสิ่งที่เขาอยากได้ว่าแบบพี่อู๋บอกว่าดีแสดงว่าที่เราคิดก็ไม่ผิดและสุดท้ายก็อาจจะคิดว่าเขาเสียเงินเพราะพี่อู๋ แต่จริงๆ แล้วคุณนั่นแหละอยากได้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว (หัวเราะ)
มีตัวอย่างโปรดักต์ที่ต้องหาข้อมูล แต่ดันเป็นสินค้ารุ่นแรกแล้วไม่รู้จะหาข้อมูลจากที่ไหนไหม
เมื่อต้นปีที่ผ่านมาคิดว่าหลายคนคงได้เห็น Vision Pro ที่เป็นแว่นวีอาร์ แต่แอปเปิลไม่ได้พูดว่าเป็นแว่นวีอาร์ เขาบอกว่าเป็นคอมพิวเตอร์ที่สวมได้ เขาบอกว่านี่เป็นสินค้ากลุ่มใหม่ซึ่งพอเป็นสินค้าในหมวดหมู่ใหม่ แล้วเราจะไปเอาข้อมูลมาจากไหน คำตอบก็คือการไปลองของจริง
วันที่ได้ไปทดลองครั้งแรกก็เป็นการทดลองในห้องปิดของแอปเปิลที่ไม่ให้ถ่ายรูปไม่ให้ถ่ายวิดีโอไม่ให้อัดเสียง แต่เราได้ข้อมูลมาบ้างแล้วแหละแต่เป็นข้อมูลที่จำกัดในระดับหนึ่ง ในวันที่โปรดักต์วางขายก็ยังไม่มีใครทำรีวิว เพราะทุกอย่างมันเร็วมาก ยังไม่มีข้อมูลของคนที่ได้ลองใช้ของจริง
พอไม่มีแหล่งข้อมูล ไม่มีเว็บให้เราหา เหมือนมันไม่มีหนังสือให้เราอ่าน คล้ายว่านี่เป็นของใหม่ที่เราต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ดังนั้นทันทีที่ได้ของก็ต้องทดลองในทุกมิติซึ่งก็เป็นประสบการณ์และความเก๋าของคนรีวิวแล้วแหละว่าสินค้าประเภทนี้คำถามแรกที่ควรถามคืออะไร สำหรับเราคือการหากลุ่มลูกค้า
ทาร์เก็ตของเขามีสองส่วน อันแรกคือคนที่อยากซื้อส่วนที่สองคือคนที่อยากดู ต้องยอมรับว่าบางคนก็ไม่ได้อยากซื้อแต่อยากรู้เฉยๆ ว่ามันทำอะไรได้บ้าง เพราะฉะนั้นถ้าเราตีโจทย์นี้ออกก่อน เราก็จะตีโจทย์ต่อไปได้ว่าไลฟ์สไตล์ประมาณนี้จะนำสินค้าประเภทนี้ไปทำอะไร เราก็จะได้นำเสนอในแนวทางทาร์เก็ตอยากดู
ย้อนกลับไปตอนทำข้อมูล Vision Pro ตัวนั้นเราก็ต้องนั่งใช้จนรู้ว่าข้อจำกัดมันคืออะไร ทำได้ถึงแค่ไหน โหถ้าทำแบบนี้เริ่มจะทำไม่ได้แล้วนะหรือว่าทำแบบนี้ได้ด้วย บางทีในคู่มือการใช้งานหรือพรีเซนเทชัน เขาบอกเราไม่หมดเขาบอกเราเฉพาะไฮไลท์เพราะมีเวลาจำกัด ดังนั้นข้อมูลทั้งหมดที่เขาไม่ได้บอกจึงเป็นโจทย์สำคัญของการรีเสิร์ช ถ้าเราทำข้อมูลตรงนี้ได้ครบ วันถ่ายสบาย วันถ่ายไม่เครียด วันที่เครียดที่สุดคือช่วงหาข้อมูล
ในการรีวิวแต่ละครั้งก็ต้องเจอข้อเสียหรือจุดด้อยของโปรดักต์ มีวิธีนำเสนอสิ่งเหล่านี้ในแบบ ‘สปิน 9’ ยังไง
โปรดักต์ทุกตัวไม่มีชิ้นไหนเพอร์เฟกต์ คิดว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ทุกคนรู้และอีกอย่างคือไม่มีสินค้าชิ้นไหนที่ผลิตมาสำหรับทุกคนคือมันมีโปรดักต์ที่ทำขึ้นมาเพื่อคนกลุ่มหลักกลุ่มหนึ่งที่ผู้ผลิตเชื่อว่าคนส่วนมากในกลุ่มนี้นำไปใช้แล้วน่าจะแฮปปี้
แต่มั่นใจได้เลยว่ามันไม่มีโปรดักต์ตัวไหนที่คิดค้นขึ้นมาสำหรับทุกคนและให้ทุกคนนำไปใช้แล้วแฮปปี้แน่นอน เพราะฉะนั้นสินค้าทุกตัวมี Segmentation (การแบ่งส่วนของตลาดตามลักษณะผู้บริโภค) มี Target Customer (กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย) ของตัวเองซึ่งคนที่รู้ดีที่สุดเรื่องนี้ก็คือแบรนด์นั่นแหละ ผู้ผลิตเขาก็รู้ว่าสินค้าเขาไม่เพอร์เฟกต์ตรงไหนบ้าง เขาอาจจะเลือกพูดกับเราหรือไม่พูดกับเรา อันนี้แล้วแต่ว่าแบรนด์นั้นมีวิธีการทำการตลาดยังไง
สมมุติว่าสมาร์ตโฟนเครื่องหนึ่งถ่ายรูปสวยมาก กล้องดี กล้องดีสุดๆ แต่แบตเตอร์รีหมดและเครื่องร้อนเร็ว แล้วก็อาจจะเล่นเกมช้าหน้อย จะเห็นว่ามันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ถ้าเราเลือกที่จะพูดแต่ข้อดีคือถ่ายรูปสวยมาก จอสวย ชาร์จเร็ว คุณไปซื้อเลยในราคา 20,000 บาทไม่มีใครในตลาดที่ราคานี้แล้วถ่ายรูปได้ดีเท่านี้ แล้วจบ
เสร็จแล้วคนก็ไปซื้อกันจากนั้นก็พบว่ามันร้อนนะ มันแบตเตอร์รีหมดเร็วและเล่นเกมได้ไม่ดีมาก เขาจะคิดทันทีว่าแล้วทำไมพี่อู๋ไม่บอก ทั้งๆ ที่เขาเข้ามาดูแล้ว หาข้อมูลแล้ว เงิน 20,000 ไม่ใช่จำนวนที่หามาได้ง่ายๆ อีกอย่างเขาต้องผ่อนอีก 10 เดือน หรือเขารอมา 4 ปีกว่าจะเปลี่ยนโทรศัพท์รอบหนึ่ง เขาผิดหวัง ถามว่าเขาผิดหวัง แทนที่จะผิดหวังกับแบรนด์อย่างเดียว เขาดันผิดหวังกับเราด้วย
ดังนั้นเราจะนำเสนอข้อเสียนั้นยังไงให้แบรนด์ก็ไม่รู้สึกว่าถูกโจมตี เรื่องนี้ต้องสื่อสารกับแบรนด์ ในฐานะครีเอเตอร์เป็นหน้าที่เราที่ต้องสื่อสารกับแบรนด์ว่าหลังจากใช้แล้วเราค้นพบว่า มันมีประเด็นต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น เราเข้าใจว่าไม่มีสินค้าตัวไหนที่สมบูรณ์แบบ ถ้าสิ่งที่เราค้นพบเป็นสิ่งที่เกิดจากความผิดพลาดของเรา
เช่นเราอาจจะทำอะไรผิด ตั้งค่าอะไรบางอย่างผิดเองหรือเปล่า หรือเราอาจจะได้ซอฟต์แวร์ที่ไม่สมบูรณ์ เราเวิร์คตรงนี้กับเขาก่อน ถ้าเขาบอกว่าอันนี้มันไม่สมบูรณ์จริงแล้วขอแก้ไขโดยสินค้าที่ขายจริงจะดีขึ้นก็ว่าไป แต่ถ้าแบรนด์ก็ค้นพบว่าตรงนี้เป็นจุดอ่อนจริง เราก็ต้องหาทางสื่อสารกับคนดูต่อไปให้รู้สึกว่าเราไม่ได้มาโจมตีแบรนด์
เหนื่อสิ่งอื่นใดต้องไม่ลืมว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่อยากได้โทรศัพท์ที่ถ่ายรูปสวย โดยที่ไม่ได้แคร์ว่าจะเล่นเกมดีหรือไม่ เพราะเขาไม่ได้เล่นเกม ไม่ได้แคร์ว่าแบตเตอร์รีจะหมดเร็วกว่ารุ่นอื่นสักนิด เพราะเขามีพาวเวอร์แบงก์หรือสามารถชาร์จที่โต๊ะทำงานได้ ไม่ได้แคร์เรื่องแบตเตอร์รีมาก แต่แคร์เรื่องถ่ายรูปสวย
ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนที่ไม่ได้แคร์เรื่องถ่ายรูปแต่ว่าชอบเล่นเกมดังนั้นวิธีการสื่อสารของเราก็ต้อง Diplomatic (มีชั้นเชิง) มากพอที่จะทำให้คนที่อยากได้แล้วก็รู้ว่าตัวเองอยากได้อะไรเข้าใจ ถ้าการถ่ายรูปด้วยโทรศัพท์มือถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคุณรุ่นนี้เหมาะมาก แต่ถ้าคุณต้องพกพาออกไปนอกสถานที่บ่อยๆ เล่นเกมบ้างบางช่วงเวลา รุ่นนี้อาจจะร้อนไปหน่อย แบตฯ อาจจะหมดเร็วไปซึ่งเป็นข้อจำกัดของรุ่นนี้ หรืออาจจะต้องดูน้ำหนักว่าคุณรับได้มากแค่ไหน รวมทั้งแนะนำได้ว่ามีรุ่นอื่นในงบประมาณเดียวกันที่เหมาะสมกว่าหรือไม่
พอเราสื่อสารในรูปแบบนี้แบรนด์ก็จะไม่รู้สึกว่าถูกโจมตี แล้วจริงๆ เราไม่เคยทำร้ายแบรนด์ ไม่รู้ว่าครีเอเตอร์จะทำร้ายแบรนด์ไปทำไม คนดูหลายคนอาจจะชอบ ชอบให้ครีเอเตอร์ด่าแบรนด์ ด่าโปรดักให้ฟัง เพราะมันดูจริงใจดี และเป็นจิตวิทยาว่าการที่เราทำร้ายโปรดักต์ตัวหนึ่งคือความจริงใจ คือการโชว์ว่าฉันไม่ได้รับเงินแบรนด์ ฉันซื้อเอง ฉันด่าแบรนด์ให้คนดูฟัง มันเป็นความใจกล้าของครีเอเตอร์ ซื้อใจคนดู คนดูก็รู้สึกว่าครีเอเตอร์คนนี้จริงใจกับเขา ครีเอเตอร์คนนี้อยู่ฝั่งคนดู
แต่มันกลายเป็นวัฒนธรรมหรือบรรทัดฐานที่ Toxic (เป็นพิษ) ว่าครีเอเตอร์ต้องด่าโปรดักต์ถึงจะได้การรับรู้จากผู้ชมว่าเป็นครีเอเตอร์ที่จริงใจ บางทีก็ด่าในประเด็นที่ไม่มีประเด็น แต่ต้องหยิบมาด่าบ้าง แข่งกันด่าแรงๆ ในสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ก่อให้เกิดอะไรขึ้นมา
ดังนั้นอาจจะต้องแยกข้อเท็จจริงให้ถูกว่าโปรดักต์ไม่เพอร์เฟกต์ โปรดักไม่ได้ออกแบบมาสำหรับทุกคน แต่มันคุ้มค่ามากพอหรือไม่ที่ประสบการณ์จากครีเอเตอร์คนเดียวมาบอกว่าโปรดักต์ตัวนี้ห่วย มันไม่มีโปรดักต์ตัวไหนห่วยหรอกครับ ถ้าเขาผลิตออกมาขายมันมีคนซื้อแหละ มีคนซื้อแน่ๆ มีทาร์เกตของเขาอยู่ ในแบรนด์ระดับโลก ไม่ใช่แบรนด์ที่ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนนะ
การที่ในช่องสปิน 9 มีแค่หน้าของอู๋กับซู่ชิง (จิตต์สุภา ฉิน) เป็นข้อดีหรือข้อเสียของช่อง
เราตั้งใจมากที่จะคราฟต์ไม่ใช่แค่การนำเสนอแต่เราต้องการได้การรับรู้จากผู้ชมด้วยว่าคาดหวังอะไรได้เมื่อเห็นหน้าเราสองคน ในมุมของธุรกิจเรามีหลายแนวทางที่เราสามารถทำได้ เราอาจจะรับคนหน้ากล้องมาอีก 5 คน ทีนี้งานลูกค้าที่อยากให้เรานำเสนอเราก็จะรับได้เยอะขึ้น
แต่เราอยากเล่าให้ฟังเหมือนกันว่าสปิน 9 ไม่ใช่ช่องที่รับรีวิวสินค้าจากแบรนด์ เราไม่ใช้คำนี้เลย เราได้เงินจากแบรนด์บ้างก็จริง แต่มันคือการที่แบรนด์จ้างเราให้เรานำเสนอสินค้าในสไตล์ของเรา ไม่ใช่จ้างให้อวยยศกันเต็มที่ ไม่ใช่จ้างให้เราบอกว่าโปรดักต์ตัวนี้ดีที่สุดหรือเจ๋งที่สุด
เงินที่แบรนด์จ่ายเราคือการจ่ายเพื่อเพิ่มช่องทางออกอากาศของเขา เขาอาจจะไปซื้อ TVC (ช่วงโฆษณาในโทรทัศน์) หรือซื้อโฆษณากับสื่อต่างๆ แบนนงแบนเนอร์ แล้วเขาซื้อเราอีกช่องทางคือสินค้าเขาตัวนี้ถูกนำเสนอโดยเรา แต่เขาไม่ได้มีอำนาจในการกำหนดว่าเราต้องพูดถึงสินค้าเขา 1 2 3 4 5 เป็นข้อๆ ออกมา หรือพูดคีย์เมสเสจนี้ของบริษัท
แล้วแบรนด์ไม่มีสิทธิ์ได้ตรวจเทปก่อนออกอากาศด้วย นั่นหมายความว่างานที่เราขึ้นช่องยูทูบ แม้กระทั่งคนที่จ่ายเงินก็ได้ดูพร้อมกันกับคนดู แล้วถ้างานชิ้นไหนเราได้เงิน เราก็บอกคนดูหน่อยว่าเราได้รับการสนับสนุนจากแบรนด์นี้นะ แต่เราไม่ได้บอกนะว่าแบรนด์นี้จ้างเรารีวิวเพราะไม่ใช่การจ้าง แต่เขาจ่ายเงินสนับสนุนเรา ซึ่งก็ตอบแทนเขาด้วยการนำชื่อแบรนด์เขามาพูดให้คนดูได้เห็น
ที่ผ่านมาเคยนั่งคุยกันเรื่องนี้ว่า ถ้าแบรนด์จะจ้างสปิน 9 รีวิว เช่นเครื่องดูดฝุ่นที่ยอดเยี่ยมมาก แล้วมาบอกว่าสปิน 9 ต้องพูดว่ามีข้อดีทั้งหมด 5 อย่างแล้วจบ และเราก็ทำตามเขาสั่ง ส่งไฟล์ที่เสร็จแล้วไปให้เขา จากนั้นบริษัทก็มานั่งลิสต์ว่าคุณอู๋ไม่พูดอันนี้ได้ไหมคะ คำพูดนี้ปรับเป็นอันนี้ได้ไหมคะ คุณอู๋ขึ้นชื่อฟีเจอร์นี้บนหน้าจอได้ไหมคะ หรือมาแบบ วินาทีที่ 1 ต้องพูดว่าอะไร วินาทีที่ 2 ต้องพูดว่าอะไร วินาที 5 ต้องแก้อะไร วินาทีที่ 20 ต้องใส่อะไรบนหน้าจอบ้าง พี่ครับ พี่ทำ TVC เถอะ
ใช้เงินจำนวนเดียวไปกันไปจ้างทำวิดีโอที่พี่อยากได้เลย ใช้ดาราเลย พี่จะใช้ดาราคนไหนก็ได้ ตามที่พี่อยากได้ แล้วพี่ก็ยัดคำพูดที่พี่อยากได้ใส่ปากเขาเลย เขาพูดได้ ออกมาเหมือนตามนั้นเลย ใช้สตูดิโอถ่ายเลย ซื้อชุดภาพจากเว็บไซต์ต่างประเทศยัดเข้าไปเลย ถ้านั้นคือสิ่งที่พี่อยากได้
แต่ถ้าอยากให้สปิน 9 ทำ นั่นคือคนดูเราอยากดูอะไร คุณต้องเชื่อเรานะ ถ้าเกิดคุณไม่เชื่อเรา ทำ TVC ดีกว่า นี่คือสิ่งที่เราอยากสื่อสารกับแบรนด์ซึ่งมันคือสิ่งใหม่ มันคือความเข้าใจที่ผิดอยู่บ้างในอุตสาหกรรมนี้ ครีเอเตอร์เองที่รับจ้างก็รู้สึกว่าต้องทำตามนี้เพราะมันเป็นสิ่งที่ส่งต่อจากรุ่นพี่มาเรื่อยๆ ซึ่งก็ไม่รู้ว่ารุ่นพี่ไหน เหมือนรุ่นพี่มหาวิทยาลัยบอกว่านี่คือวัฒนธรรมการรับน้อง (หัวเราะ)
ยากไหมกว่าที่จะสามารถต่อรองกับแบรนด์เพื่อทำคอนเทนต์ในแบบของ ‘สปิน 9’ ได้
เราเคยผ่านช่วงเวลาที่เคยรับบรีฟจากแบรนด์แบบที่พูดมาด้านบนหมดแล้ว ไม่ใช่อยู่ๆ ก็มีวันนี้เลย ผ่านหมดแล้ว และจริงๆ คนดูก็เห็นแหละว่ามีช่วงเวลาที่เราต้องเรียนรู้ เราก็ไม่ได้เริ่มต้นช่องมาแล้วรู้เลยว่าต้องเจอกับอะไร
มีช่วงเวลาที่ลูกค้าจ้างแล้วเราเป็นครีเอเตอร์ตัวเล็กๆ มีลูกค้าจ้างเราก็รู้สึกว่าต้องทำตามโจทย์ ซึ่งประสบการณ์ก็สอนเราว่ามันอาจจะไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องเสมอไปสำหรับเรา มันอาจจะถูกต้องสำหรับหลายคนก็ได้ หลายช่องที่รับโจทย์ลูกค้ามาแล้วทำ ปรุงส่วนผสมของลูกค้าเข้ากันสไตล์ของช่องแล้วทำได้ดี
อย่างการโฆษณาในสไตล์ของเสือร้องไห้ทำได้ดีมาก ทำตามโจทย์ลูกค้าได้ตรงเป๊ะ ครบหมด ขณะเดียวกันก็ยังได้ความเป็นตัวตนของครีเอเตอร์ยัดเข้าไปเต็มที่และคนดูก็ยังชอบด้วย เป็นส่วนผสมที่ลงตัว ถ้าเป็นครีเอเตอร์ที่สามารถทำได้ก็ยอดเยี่ยม
แต่กว่าที่เสือร้องไห้จะทำในลักษณะนั้นได้ เขาก็ต้องมีช่วงเวลายากลำบากที่ผ่านมาแล้ว เจ็บปวดมาว่างานแบบนี้ฉันจะไม่เอาแล้ว งานแบบนี้ฉันผิดพลาด สปิน 9 ก็มีเช่นกัน
ตอนเด็กๆ โตมาในบ้านแบบไหนถึงทำให้โตมาเป็น ‘อู๋สปิน 9’ ทุกวันนี้
เราได้รับการซัพพอร์ตในแง่ของความ Emotional (ด้านความรู้สึก) จากที่บ้านเยอะมากว่าเขาอยากให้เราทำสิ่งที่เราอยากทำ เขาไม่ได้บังคับว่าจะต้องไปเป็นพนักงานบริษัทในสายที่เรียนมา ไม่ได้บังคับเราว่าต้องทำอาชีพที่พ่อแม่ชอบ เราคิดว่าตัวเองโชคดีที่พ่อแม่สนับสนุนในสิ่งที่เขาก็รู้ข้อมูลไม่ครบ ไม่เข้าใจว่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์หรือว่ายูทูบเบอร์คืออะไร เขาไม่เข้าใจตั้งแต่แรก
ขณะเดียวกันเราก็พยายามเต็มที่ในการสื่อสารว่านี่คือสิ่งที่เราอยากทำ นี่คือสิ่งที่เราทำตั้งแต่วันแรกและก็ไม่มีรายได้เพียงพอในการเลี้ยงตัวเอง แต่เขาก็ยังซัพพอร์ต ในแง่ที่ว่าถ้าเหนื่อย ถ้าอยากจะกลับมาปรึกษากันว่าอยากจะทำอะไรอย่างอื่นคือเขาพร้อมพูดคุยมาก
เขาอาจจะไม่ได้มาจากฐานะร่ำรวยอะไร ไม่ได้มาจากบ้านที่พ่อแม่มีทุนทำออฟฟิศ ทำสตูดิโอให้แบบโปรยเงิน เราไม่ได้มาจากบ้านที่มีฐานะแบบนั้น ก็เป็นฐานะปานกลางทั่วไป แต่เขาก็พยายามซัพพอร์ตเราในแง่มุมอื่นทั้งหมด เราอยากทำอะไรเขาสนับสนุนถึงแม้จะไม่เข้าใจก็ตาม
เราโชคดีที่ได้พื้นฐานนั้นจากพ่อแม่มา แล้วก็โชคดีที่ว่าเขาสอนว่าให้อยู่กับความถูกต้อง ให้อยู่กับความรับผิดชอบ มันจึงเป็นที่มาว่า ทำไมถึงทำคอนเทนต์หลอกคนดูไม่ได้ ที่สำคัญเราไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเราต้องหลอกคนดู สำหรับครีเอเตอร์ที่ไม่ได้มีรายได้จากการทำให้ Affiliation (การแปะลิงก์ขายของให้ร้านค้าแล้วได้ค่าตอบแทน) ให้ร้านค้า
มองการทำ Affiliation ของครีเอเตอร์ยุคนี้ยังไง
เป็นวิธีการหารายได้แบบหนึ่งมันคือการแปะลิงก์แล้วถ้าคนดูกดซื้อตามลิงก์ที่ให้ ครีเอเตอร์คนนั้นก็จะได้ส่วนแบ่ง ซึ่งไปกันใหญ่เลยหมายความว่านี่เป็นอีกหนึ่งจุดที่ครีเอเตอร์หลอกคนดูได้ง่ายมากว่าสินค้าดี ไปซื้อกันเลย บวกกับบ้านเราไม่ได้มีกฎหมายควบคุมเรื่องนี้ว่าคุณต้องบอกนะว่าลิงก์ที่แปะไว้คือ Affiliation นี่คือลิงก์ที่คุณได้ประโยชน์ซึ่งหลายประเทศบังคับเป็นกฎหมาย
เราไม่ทำ ทำไม่ได้ จริงๆ ที่ผ่านมาก็มีติดต่อมาแทบจะทุกสัปดาห์ว่าให้ทำให้หน่อย ซึ่งเราก็พยายามอธิบายให้ชัดเจนว่ามันขัดกับสิ่งที่เราทำ เพราะถ้าเรามีส่วนแบ่งเกิดขึ้นเมื่อไรก็ตาม แม้ว่าเราจะจริงใจกับโปรดักต์ตัวนั้นแค่ไหนก็ตาม มันไม่มีความหมายเลย สุดท้ายคนดูก็จะเข้าใจว่าสิ่งที่คุณรีวิวคือการพยายามสร้างยอดขาย
ตอนแรกที่เรียนจบมาแล้วบอกพ่อแม่ว่าอยากเป็นยูทูบเบอร์ ยากไหม
ยากครับ แล้วเมื่อก่อนยากกว่าสมัยนี้มาก (หัวเราะ)
มันไม่สามารถก๊อบปี้สูตรสำเร็จได้อยู่แล้ว อาจจะคนละยุคคนละสมัยด้วยระดับหนึ่ง ก็คือเราแก่ (หัวเราะ) แต่ก็ผ่านช่วงเวลาที่พ่อแม่อยากให้เราเติบโตในสายที่รู้สึกว่ามีความมั่นคงมาแล้ว
สิ่งที่พ่อแม่อยากได้จากลูกๆ ก็คือความมั่นคง แค่อยากมั่นใจว่าในวันที่พ่อแม่เกษียณไป ในวันที่พ่อแม่ไม่สามารถทำงานมีรายได้เหมือนทุกวันนี้ เขาอยากจะมั่นใจว่าลูกสามารถเลี้ยงตัวเองได้
ตอนจบมาผมก็ไปสมัครงานหมดแหละครับ สมัครงานเพื่อความสบายใจของพ่อแม่ ไม่รู้ว่าเขารู้หรือยังว่าตอนนั้นที่สมัครก็เพื่อความสบายใจของพ่อแม่ สมัครงาน ปตท. สมัครไมโครซอฟท์ประเทศไทย ก็ไป แล้วก็บอกแม่ว่า แม่วันนี้ไปสัมภาษณ์ไมโครซอฟท์ประเทศไทย (หัวเราะ)
ทั้งๆ ที่ก็รู้อยู่ในใจว่าถึงติดก็ไม่ไปทำ แต่เราทำเพื่อให้เขาสบายใจ เรารู้ว่าเราอยากทำอะไรมากกว่าในตอนนั้น และแพสชันมันมีมากกว่าการไปทำงานประจำ ตอนนั้นสนุกกับการทำเว็บไซต์คอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ สนุกกับการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ เขียนบทความ อ่านรีวิวจากต่างประเทศทำงานกับโปรดักต์ เราเห็นตัวตนเราชัดเจนตั้งแต่วันแรกๆ
ตอนนั้นไม่รู้ว่ามันเป็นงานประจำได้ไหม ไม่รู้ว่าจะมีรายได้ได้เยอะเท่ากับทำงาน ปตท. ที่เราไปสมัครตอนนั้นหรือไม่ รู้แต่ว่านี่คือสิ่งที่เราอยากทำ
แล้วเด็กอะ ไม่ได้คิดอะไรไปเยอะกว่านี้ แต่ในมุมของพ่อแม่คิดคือ สิ่งที่แกอยากทำมันไม่ได้มั่นคงมาก เขาก็อาจจะไม่รู้สึกอุ่นใจ เลยคิดว่าถ้าอยากให้แนะนำก็อยากให้เข้าใจกันทั้งสองฝ่าย การสื่อสารคือสิ่งที่สำคัญที่สุด
สุดท้ายอยากบอกอะไรกับน้องๆ ที่กำลังจะเรียนจบแล้วอยากเป็นยูทูบเบอร์ไหม
ไม่มีอะไรมากไปกว่า ทำเถอะ ถ้าคิดว่าชอบทำแล้ว มีของให้ทำแล้ว ปล่อยของให้เต็มที่ ไม่ต้องพยายามเป็นคนที่เราชื่นชอบ พยายามเป็นเรา เราอยากปล่อยของเรื่องอะไร เราอาจจะถนัดในการพูดแบบนี้ พูดสไตล์กันเองกว่าพี่อู๋หน่อยก็ได้ หรืออาจจะสไตล์ตลก ก็ตลกให้เต็มที่ ถ้าไม่ได้ตลกก็อย่าฝืนเยอะ
บางทีเราไปดูครีเอเตอร์ที่เราชื่นชอบ เขาอาจทำเราหลงทางว่าต้องสไตล์นี้ถึงจะคนดูเยอะ ไม่จริง สไตล์ไหนก็คนดูเยอะได้ ถ้าไม่ฝืน เพราะคนดูรู้ว่าแบบไหนฝืน แบบไหนไม่ฝืน แล้วก็ไม่ต้องโปรดักชันสวยงามอลังการก็สนุกได้
ทำเถอะ ขยันปั๊มคอนเทนต์ ยอดวิวไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง ยอดวิวตอบไม่ได้หลายอย่าง สิ่งที่ตอบได้คือความตั้งใจในการทำของเราและเชื่อว่าจะมีคนที่เห็นงานเราแล้วนำไปต่อยอดในทิศทางที่ถูกต้องต่อไป (ยิ้ม)