ผนึก 5 ภาคี ปั้นหลักสูตรจัดการภัยพิบัติ สร้างชุมชนสู้ภัยฯ ยั่งยืน
"ภัยพิบัติ" เป็นอีกหนึ่งสถานการณ์ที่โลกต้องเผชิญถี่ขึ้น และหนักหน่วงยิ่งขึ้น แม้เป็นสิ่งที่ไม่อาจควบคุมได้ แต่สามารถเตรียมความพร้อมที่จะรับมือเพื่อลดความรุนเเรง จึงนำมาสู่การผนึกกำลังร่วมกันของ 5 ภาคี เพื่อให้ชุมชนสามารถจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติด้วยตนเองได้
สภาพแวดล้อมที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงผันผวน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์ก่อขึ้น อาทิ ปัญหาโลกร้อน กำลังเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่โลกจะต้องรับมือกับ "ภัยพิบัติ" มากขึ้น
สำหรับคนไทยการรับมือกับภัยพิบัติอาจยังเป็นเรื่องห่างไกลในอดีต แต่เมื่อวันนี้ภัยพิบัติกำลังเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และรุนแรงขึ้นทั่วโลก ทั้งส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนจำนวนมาก คนไทยจึงไม่อาจเพิกเฉยวางใจได้เสมือนในอดีตอีกต่อไป
แม้ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่อาจควบคุมได้ หากแต่ "ป้องกัน" ได้ ด้วยการเตรียมความพร้อม เพื่อจัดการก่อนและหลัง ยามเมื่อภัยพิบัติมาเยือน ซึ่งหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวคือ การส่งเสริม ยกระดับความเข้มแข็ง เพื่อให้ชุมชนเป็นฐานในการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติได้ด้วยตัวเอง โดยการพัฒนาและเสริมสร้างองค์ความรู้ในการสร้างระบบเตือนภัยของชุมชน และเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการภัยในพื้นที่ของตนเอง
แนวคิดดังกล่าวจึงนำมาสู่การผสานพลังความร่วมมือจากภาคี 5 ฝ่าย ได้แก่ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และประธานเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติจากธรรมชาติจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสนับสนุนความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่นในการจัดการภัยพิบัติ
ชุมชนเป็นฐานจัดการความเสี่ยง
ในพิธีลงนามดังกล่าว ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองประธานกรรมการที่ปรึกษา ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ประธานในพิธี เผยว่า มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย จัดตั้งตามพระดำริของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงดำรงตำแหน่ง องค์นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงดำรงตำแหน่ง องค์ประธานกรรมการมูลนิธิฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและเชื่อมโยงให้ภาครัฐ เอกชน และชุมชน ร่วมกันเกื้อหนุนช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามทุกข์ยากจากอุทกภัยที่รุนแรง เพื่อบูรณาการความช่วยเหลือในเรื่องอุทกภัยอย่างครบวงจรให้ประชาชนสามารถกลับมาดำรงชีวิตอย่างปกติได้อย่างยั่งยืน โดยมูลนิธิฯ ได้ดำเนินงานตามพันธกิจ 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านการเฝ้าระวังก่อนเกิดอุทกภัย, การบรรเทาทุกข์ระหว่างเกิดอุทกภัย และการฟื้นฟูหลังเกิดอุทกภัย
"ในการทำงานร่วมกับชุมชน มูลนิธิฯ น้อมนำพระดำริขององค์ประธานกรรมการมูลนิธิฯ ในการให้ชุมชนเป็นฐานในการจัดการความเสี่ยงจาก ภัยพิบัติ มาใช้ โดยที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้ถอดบทเรียนจากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นจริง ผนวกเข้ากับข้อมูลสารสนเทศ ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ทั้ง 19 แห่ง ทุกภูมิภาคเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างองค์ความรู้ในการสร้างระบบเตือนภัยของชุมชน และเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการภัยในพื้นที่ของตนเอง โดยเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติจากธรรมชาติจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็น 1 ในเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) และเป็นตัวอย่างความสำเร็จของทีมอาสาสมัครภาคประชาชน ที่นอกจากจะเข้าใจบริบทของพื้นที่เป็นอย่างดีแล้ว ยังมีองค์ความรู้จากการอบรมพัฒนาทักษะอาสาสมัคร และการบริหารจัดการภัยพิบัติ ถือว่าการจัดการภัยพิบัติโดยใช้ชุมชนเป็นฐานในการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ หรือ CBDRM นั้นมีความสำคัญ" ดร. สุรเกียรติ์ กล่าว
ดร. สุรเกียรติ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การพบกันวันนี้เป็นการเชื่อมท้องถิ่นกับการบริหารราชการส่วนภูมิภาค รวมใจกันเป็นหนึ่งในการทำงานร่วมกัน การบรรเทาทุกข์ช่วยได้แค่ 3 วัน แต่ถ้าช่วยป้องกันอุบัติภัยได้ก็จะเป็นการช่วยอย่างยั่งยืน
ย้อนรอยเครือข่ายจัดการภัยพิบัติ
ตำบลเกาะขันธ์ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ถือเป็นพื้นที่รูปธรรมความสำเร็จของพื้นที่ในการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน
จ่าโทโกเมศร์ ทองบุญชู ประธานเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติจากธรรมชาติ จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า เครือข่ายการจัดการภัยพิบัติจากธรรมชาติ จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อตั้งในปี 2547 เครือข่ายฯ เริ่มต้นขึ้น หลังจากเหตุการณ์สึนามิในปี 2547 เกิดการรวมตัวอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติอย่างเป็นรูปธรรมครั้งสำคัญ จากการเป็นอาสาสมัครที่ทำด้วยใจในช่วงแรก ซึ่งเป็นพลังของกลุ่มอาสาสมัครเกาะขันธ์ ที่ตระหนักถึงการช่วยเหลือฟื้นฟูภัยที่เกิดจากธรรมชาติ แต่เวลานั้นทางกลุ่มยังไม่มีองค์ความรู้ในการจัดการ ต่อมา สสส. ได้เข้ามาสนับสนุนให้องค์ความรู้การจัดการหลักสูตรการเรียนการสอนสู่เครือข่ายอาสาสมัครในพื้นที่ต่างๆ จนปัจจุบันเกิดเครือข่ายจัดการภัยพิบัติทั่วประเทศ
ผลจากพลังอาสาบวกกับองค์ความรู้ที่เหมาะสม ทำให้กลุ่มพัฒนาเครือข่ายที่แข็งแกร่ง และมีโอกาสร่วมปฏิบัติการจริงในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ ตามมามากมาย เช่น ดินโคลนถล่มครั้งรุนแรงที่สุด ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ น้ำท่วมใหญ่โคราช น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มในพื้นที่ จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส
ปัจจุบันเครือข่ายฯ ได้พัฒนาพี่เลี้ยงอาสาสมัครเกิดเครือข่ายจังหวัดนครศรีธรรมราช 30 ตำบล ขยายเครือข่ายอาสาภาคใต้ 14 จังหวัด 378 คน เกิดเครือข่ายครอบคลุมภูมิภาคอื่น 15 จังหวัดทั่วประเทศ
นอกจากการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในยามวิกฤติ ทีมปฏิบัติการยังพร้อมทั้งการช่วยเหลือด้านอาหาร สิ่งของจำเป็นแก่ ผู้ประสบภัยพิบัติ ลำเลียงอาหารแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัย รวมทั้งตั้งโรงพยาบาลสนามขนย้ายทีมแพทย์ และพยาบาลเข้าพื้นที่ประสบภัยช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนในพื้นที่ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติ
ต่อยอดสู่หลักสูตรจัดการภัยพิบัติ
ดร. นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า สสส. เห็นถึงศักยภาพของชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงสนับสนุนความเข้มแข็งการจัดการภัยพิบัติ เพื่อให้เกิดศูนย์ฝึกอบรมการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่น ฝึกอบรมให้กับพื้นที่ในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ยกระดับพื้นที่ที่มีความพร้อม สนับสนุนเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติจังหวัดนครศรีธรรมราช จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมการจัดการภัยพิบัติให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยนำร่องที่ศูนย์ฝึกอบรม ตำบลเกาะขันธ์ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพี่เลี้ยงอาสาสมัคร 78 คน มีเครือข่าย 30 ตำบล มีอาสาสมัครกว่า 500 คน ในนครศรีธรรมราช และสามารถขยายเครือข่ายอาสาสมัครทั้งในพื้นที่ภาคใต้ครอบคลุม 14 จังหวัด 378 คน และในภูมิภาคอื่น 15 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี อุทัยธานี พิษณุโลก อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน เชียงราย จันทบุรี ชัยภูมิ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ มีอาสาสมัครรวม 262 คน
"การพัฒนาเครือข่ายจัดการภัยพิบัติเน้นพัฒนา 3 ส่วน 1.) พัฒนาศักยภาพบุคลากร วิทยากรอบรม 2.) พัฒนาหลักสูตรการจัดการภัยพิบัติ และอาสาสมัครให้มีความเชี่ยวชาญรับมือ และตอบโต้กับภัยพิบัติ 3.) พัฒนาเตรียมความพร้อมศูนย์ฝึกอบรม อุปกรณ์ สถานีฝึกอบรม นอกจากนี้ยังพัฒนาศักยภาพคนในชุมชนร่วมป้องกัน แก้ไข บรรเทา ฟื้นฟูภัยพิบัติ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 5 ฝ่ายครั้งนี้ เป็นการสานพลังขับเคลื่อนเครือข่ายตำบลจัดการภัยพิบัติ สร้างเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่นในการจัดการภัยพิบัติ บูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้การจัดการภัยพิบัติเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในอนาคตต่อไป" ดร. นิสา กล่าว
ดร. นิสา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การทำคู่มือการจัดการภัยพิบัติเป็นสิ่งที่ถูกทาง ทุกหมู่บ้านต้องมีแผนชุมชนวิเคราะห์ชุมชนตนเองได้ โดยเฉพาะการวิเคราะห์ความเสี่ยง ความเสี่ยงที่ยอมรับได้เราจะจัดการอย่างไร หลักสูตรดังกล่าว จะเป็นฐานในการหนุนเสริมให้ชุมชนที่เข้ารับการอบรมหลักสูตร สามารถจัดการภัยพิบัติได้ด้วยตนเอง กล่าวคือชุมชนสามารถสร้างระบบการเฝ้าระวังภัยพิบัติในพื้นที่ของตนเองได้ เกิดเป็นอาสาสมัครที่มีศักยภาพและความเชี่ยวชาญในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยระหว่างเกิดภัย ตลอดจนการพัฒนาเชิงพื้นที่ในการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่น 28 ตำบล ใน 4 ภูมิภาค โดยการสนับสนุนทั้งจากกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยเป็นผู้ปรับปรุงหลักสูตร และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จะช่วยให้ชุมชนในแต่ละภูมิภาคสามารถรับมือกับการ ภัยพิบัติ ที่จะเกิดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน
"การฝึกซ้อมเป็นสิ่งสำคัญ ต้องทำอย่างไรให้มีการฝึกซ้อมสม่ำเสมอในหน้าที่ แรกๆ ประชาชนอาจมองเป็นเรื่องไกลตัวแต่เหตุการณ์ที่ผ่านมา เช่น สึนามิ เป็นตัวอย่าง" ดร. นิสา กล่าว