'ซอฟต์พาวเวอร์' 'เที่ยวอย่างยั่งยืน' ลดโลกร้อน กินอาหารอินทรีย์
'ซอฟต์พาวเวอร์การท่องเที่ยว' ยุคนี้ ต้อง 'เที่ยวอย่างยั่งยืน' ลดโลกร้อน กินอาหารอินทรีย์ ผลักดันสู่เป้าหมายเตรียมภาคธุรกิจไทยปรับตัวรับข้อบังคับใหม่ด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป
วันที่ 26 กันยายน 2567 ททท. เปิดโครงการ Action Alert ! Accelerating Towards Sustainable Tourism in Thailand ที่โรงแรมอวานี พลัส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ
งานสัมมนาใหญ่เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป้าหมายสู่ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เตรียมภาคธุรกิจไทยปรับตัวรับข้อบังคับใหม่ด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป
ซึ่งในปี พ.ศ.2569 ธุรกิจท่องเที่ยวไทยจะต้องเผชิญกับแรงกดดันสำคัญจาก CSRD (Corporate Sustainability Reporting Directive) อันเป็นข้อบังคับใหม่ กำหนดให้ EU ต้อง ทำงานกับคู่ค้าที่มีมาตรการด้านการจัดการความยั่งยืนที่น่าเชื่อถือ
(Cr. ภาพ : ลานลม)
ภาคธุรกิจด้านการท่องเที่ยวไทย น่าเชื่อถือ แค่ไหน เตรียมพร้อมแล้วหรือยัง ถ้ายังช้าอยู่จะพลาดโอกาสหลายอย่าง นอกจากปรับตัวพร้อมรับแล้วจะสามารถปรับธุรกิจสู่ ความยั่งยืน ได้ในระดับสากล
ภายในงานรวบรวมเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไทยต้องรู้ อาทิ Earth Check, Travelife, Green Destinations เพื่อปรับเปลี่ยนองค์กรให้เป็น ซอฟต์พาวเวอร์ด้านการท่องเที่ยว ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยว และของโลก
ก่อนหน้านี้ งานเสวนาเพื่อการท่องเที่ยวในชื่อ ไม่เห็นโลกร้อน ไม่หลั่งน้ำตา จัดโดย ททท. ร่วมกับคลาวด์แอนด์กราวนด์, สมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย (TOCA) และสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA)
ร้านกาแฟกลางน้ำตก (Cr.ลานลม)
ชี้ว่า เที่ยวยุคใหม่ต้องคิดถึงสิ่งแวดล้อม ต้องกินอาหารอินทรีย์ผลิตจากท้องถิ่น พร้อมแนะแนวทางการปรับตัวของทุกห่วงโซ่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ททท. ระบุว่า ปัญหาที่ชัดเจนที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ คือ การกำหนดฤดูกาลการท่องเที่ยวที่เคยทำได้ง่าย ๆ ในอดีต ทำได้ยากมาก ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถสร้างจุดขายที่ชัดเจนให้กับการท่องเที่ยวได้อีกต่อไป
น้ำตกเขาหินซ้อน (Cr.ลานลม)
กระทบต่อความมั่นใจของนักท่องเที่ยวในการเดินทาง เช่น การบินที่อาจไม่ปลอดภัยเนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน การเข้าชมแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่ไม่อาจรับประกันความแน่นอนได้อีกต่อไป
รวมถึงผลกระทบต่ออาหารที่เป็นจุดขายสำคัญของ การท่องเที่ยว ไทย เพราะวัตถุดิบทางการเกษตรที่เคยมีคุณภาพสูง เป็นที่ภูมิใจในท้องถิ่นต่าง ๆ อาจไม่สามารถผลิตได้ดีเช่นเดิม เนื่องจาก ภาวะโลกร้อน ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง
เกษตรอินทรีย์ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม (Cr.สามพรานโมเดล)
ข้อมูลจาก TEATA บอกว่า การตระหนักเรื่อง โลกร้อน เป็นเรื่องเร่งด่วน และการขับเคลื่อนเรื่อง GREEN สำคัญมาก ธุรกิจท่องเที่ยวจึงต้องสร้างสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยสมาคมฯ เร่งขับเคลื่อนและสร้างเครือข่ายเรื่อง เที่ยวอย่างไรไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สร้างเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ท่องเที่ยวเชิงอาหารที่เป็น อาหารอินทรีย์
ข้อมูลจาก อรุษ นวราช นายกสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย (TOCA) และผู้ก่อตั้ง สามพรานโมเดล บอกว่า เกษตรอินทรีย์คือเกษตรที่รักษาสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ใช้สารเคมีที่ทำลายดินทำลายน้ำ ทำให้ช่วยลดการทำลายสิ่งแวดล้อมได้ด้วย ในขณะที่ประเทศไทยนำเข้าสารเคมีในราคาแพงมาก ดังนั้น การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นไม่พึ่งพาสารเคมีนำเข้าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกร และเป็นการสร้างความยั่งยืนในระยะยาว
“TOCA ได้เดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนการบริโภคเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง เชื่อว่าการกระตุ้นให้เกิดการขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ทำได้ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มผู้บริโภคที่จะทำให้เกิดความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับโรงแรม ร้านอาหาร และผู้ประกอบการที่สนใจในการใช้และสนับสนุนสินค้าอินทรีย์ เพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืนและรักษาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
ปัจจุบัน เกษตรกรอินทรีย์ในประเทศไทยมีประมาณ 500,000 คน จากจำนวนเกษตรกรทั้งหมดกว่า 20 ล้านคน และพื้นที่เกษตรอินทรีย์มีเพียง 1 ล้านไร่ ซึ่งน้อยกว่า 1% ของพื้นที่เกษตรทั้งหมดในประเทศ เราจำเป็นต้องร่วมมือกันเป็น Active Consumer ที่ใส่ใจในการเลือกบริโภคสินค้าอินทรีย์ ไม่เพียงเพื่อสุขภาพของเรา แต่ยังเป็นการช่วยเกษตรกรในการเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำเกษตรอินทรีย์และรักษาสิ่งแวดล้อม
รวมถึงการจัดการ ขยะอาหาร ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเอาไปฝังกลบจัดการไม่ดีก็เกิดมีเทน แต่ขยะอาหารเป็นวัตถุดิบที่ดีที่เอาไปเป็นปุ๋ยได้ ทำให้กลายเป็นทรัพยากรที่มีค่าได้หากรู้จักวิธีการจัดการและนำกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตเกษตรอินทรีย์”
นักท่องเที่ยวอยากกินอาหารอินทรีย์ในท้องถิ่น (Cr.สามพรานโมเดล)
เกษตรอินทรีย์เชื่อมโยงกับ การท่องเที่ยวเชิงอาหาร ที่กำลังเป็นเทรนด์ ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวเข้าร่วมกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับอาหารและผลิตภัณฑ์มากขึ้น เมื่อเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวก็อยากไปลิ้มลองอาหารท้องถิ่น
จากรายงานของ Global Culinary Tourism Market 2020-2027 คาดว่าการท่องเที่ยวเชิงอาหารของโลกเติบโตเฉลี่ย 16.8% ต่อปี มีนักท่องเที่ยวราว 5.4 พันล้านคนต่อปี ที่ท่องเที่ยวแบบ บินไปกิน คาดการณ์ว่าภายในปี 2570 การท่องเที่ยวเชิงอาหารจะมีตัวเลขสูงถึง 1,796.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
เที่ยวอย่างยั่งยืน (Cr.ภาพ : ลานลม)
เรื่องเร่งด่วนของธุรกิจท่องเที่ยวยุคนี้ ต้องปักธงสู่ความยั่งยืน ไม่เพียงผู้ประกอบการ เกษตรกรก็ต้องปรับตัวเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และส่งผลผลิตอินทรีย์สู่อาหารปลอดภัย นอกจากช่วยดูแลสุขภาพแล้ว ยังรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดการขยะอาหาร
ต้องคิดและทำไปด้วยกัน เที่ยวอย่างยั่งยืนสู้กับภาวะโลกเดือด