เมื่อภูมิอากาศ ภูมิรัฐศาสตร์โลกเปลี่ยน : ระบบความมั่นคงอาหารไทยต้องปรับ..
การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์โลก และสภาวะภูมิอากาศที่เข้าขั้นวิกฤติ โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงอาหารและพลังงาน ไทยจะเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสอย่างไร
สภาพภูมิอากาศและภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนไป จะทำให้หลายภาคส่วนในโลกใบนี้ได้รับผลกระทบ ถ้ามองในแง่ผลผลิตทางการเกษตรประเทศไทย มีข้อมูลการวิจัย พบว่าในปี 2050 ผลผลิตต่อไร่ของข้าวและทุเรียนประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง 10-14 เปอร์เซ็นต์ จากที่เคยผลิตทุเรียนและข้าวอันดับต้นๆ ของโลก
เหล่านี้มาจากปัจจัยแปรผันทางด้านภูมิศาสตร์ ที่ตั้งทรัพยากรธรรมชาติและสงคราม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน
สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า ราคาน้ำมันดิบโลกมีความผันผวน ส่งผลต่อราคาน้ำมันในไทยสูงขึ้น เนื่องจากไทยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานหลัก และใช้พลังงานหมุนเวียนน้อยกว่าหลายประเทศ
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช กรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เล่าถึงสถานการณ์ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ในการประชุมประจำปี 2567 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติว่า
เมื่อไม่นานพายุยางิ ทำให้น้ำท่วมภาคเหนือ เสียหายอย่างประเมินมิได้ ส่วนในเรื่องพลังงาน ยกตัวอย่างข้อตกลงปารีสจะทำให้หลายประเทศเตรียมออกมาตรการนำเข้าสินค้าคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะทำให้มูลค่าราคาสินค้าไทยสูงขึ้น
"นโยบาย NET ZERO ในระบบอาหาร จะทำให้อนาคตต้นทุนการปล่อยคาร์บอนจะไม่ฟรีอีกต่อไป ถ้าต้องการส่งออกสินค้าการเกษตรไทยกว่าจะไปถึงตลาดโลกราคาน่าจะสูงขึ้น
ส่วนเรื่องการใช้พลังงาน ตามสถิติ ปี 2565 ไทยใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่อันดับที่ 134 ของโลกประมาณ 15 % ปริมาณต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ใช้พลังงานหมุนเวียนประมาณ 29 %
ขณะที่ 65 ประเทศใช้พลังงานหมุนเวียนเกิน 50% ยกตัวอย่างบราซิล ผู้ผลิตพลังงานของโลกใช้พลังงานหมุนเวียน 80 % ส่วนเวียดนามใช้พลังงานหมุนเวียนเกิน 50 % และอีกหลายประเทศ
ในอนาคต ถ้าไทยไม่ปรับตัวเรื่องพลังงานก็จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ราคาสินค้าเกษตรและอาหารจะสูงขึ้น เพราะปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้ายังผูกขาดกับผลผลิตมวลรวมของชาติ ยังไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม"
อาจารย์วิษณุ เสนอแนะให้มีการยกระดับความมั่นคงทางอาหาร พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสดังนี้
- 1. นโยบายการเกษตรไทยต้องเปลี่ยน จากรูปแบบการช่วยเหลือเยียวยาแบบให้เปล่าจากภาครัฐและไม่มีเงื่อนไข ต้องเปลี่ยนเป็นแบบมีเงื่อนไข ให้ความรู้เและหลักประกันความเสียหายเกษตรกร เพื่อจูงใจให้หันมาใช้เทคโนโลยีการเกษตรแบบเท่าทันการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
"งานวิจัยในต่างประเทศ การช่วยเหลือแบบให้เปล่าไม่กระตุ้นให้เกษตรกรปรับตัวในการยกระดับประสิทธิภาพการผลิต ปัจจุบันรัฐไทยเน้นให้เงินช่วยเหลือ แต่ให้ความรู้น้อยไป
สิ่งที่เราต้องมีคือ เทคโนโลยีเท่าทันภูมิอากาศ ถ้าปรับเปลี่ยนเรื่องนี้จะช่วยลดความเสียหายทางการเกษตร และปัญหาภูมิอากาศ อย่างการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งสามารถเพิ่มผลผลิตการเกษตร ลดการใช้น้ำ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการให้ปุ๋ยตามการวิเคราะห์ค่าดิน"
- 2. ควรเพิ่มจำนวนที่ปรึกษาทางการเกษตร
"ต้องยอมรับว่าประเทศไทยขาดแคลนที่ปรึกษาทางการเกษตรที่เท่าทันวิกฤติ ทำไมผมเรียกวิกฤติ ภาครัฐที่เป็นผู้รู้ทางการเกษตรมีจำนวนแค่หลักหมื่นต้นๆ แต่แรงงานเกษตรมีกว่า 12 ล้านครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรการศึกษาน้อย
จึงมีคำถามว่า ผู้เชี่ยวชาญหรือที่ปรึกษาการเกษตรจำนวนหลักหมื่นต้นๆ จะส่งผ่านความรู้อย่างไรให้เกษตรกร12 ล้านครัวเรือน ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ ผมคิดว่าการประสานกับหน่วยงานการศึกษาให้มาทำงานร่วมกับคนในพื้นที่จะช่วยลดปริมาณบุคลากรภาครัฐได้"
- 3. จัดตั้งหน่วยงานทำหน้าที่บูรณะการในระบบอาหาร
หน่วยงานนี้จะต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในระบบอาหาร เพื่อขับเคลื่อนนโยบายส่วนกลางสู่พื้นที่อและประเมินผลกระทบความเสี่ยงในอนาคต รวมถึงความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์
"ยกตัวอย่างกระทรวงเกษตรและอาหารของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้หรือหลายประเทศประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีกระทรวงเดียว ดูแลประสานทั้งระบบ แต่ประเทศไทยขาดการบูรณาการ เนื่องจากมีหน่วยงานยิบย่อย ต่างคนต่างทำ
ปัจจุบันปัญหาความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานไหนดูแลชัดเจน และไม่มีหน่วยงานเชื่อมโยง ซึ่งผมมองว่าวิกฤติมากในเรื่องการบริหารจัดการภาพรวม ทำให้ทำงานลำบาก ในอนาคตต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้"
4. ควรทำระบบการตรวจสอบย้อนกลับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช รวมถึงมลพิษต่างๆ ตลอดห่วงโซ่สินค้าเกษตรและอาหาร
“ในอนาคตเรื่อง การปล่อยคาร์บอนในหลายมิติจะถูกใช้เป็นมาตรฐานกีดกันการค้าและการลงทุน ไทยต้องปรับตัว ระบบตรวจสอบย้อนกลับ เกษตรกรแบบเอสเอ็มอียังทำไม่ได้ และระบบธุรกิจขนาดใหญ่ก็จัดทำลำบาก เรื่องนี้ควรเป็นบทบาทภาครัฐ ภาคเอกชนและเกษตรกรร่วมมือกัน”
5.วิกฤติบุคลากรที่ทำงานด้านการประเมินผลคาร์บอนเครดิต เนื่องจากต้นทุนการทำคาร์บอนเครดิตราคาสูงมาก และคนทำงานในบริษัทที่ทำเรื่องตรวจสอบประเมินผลมีจำนวนไม่ถึงหลักสิบ แต่เรามีพื้นที่การเกษตร 150 ล้านไร่ ครัวเรือนการเกษตร 9 ล้านครัวเรือน
"คำถามคือ ถ้าไทยไม่ทำเรื่องนี้ ในอนาคตเงินจำนวนมากจะถูกจ่ายให้บริษัทต่างประเทศ เพื่อทำระบบคาร์บอนเครดิต และนี่คือ โอกาสที่จะสร้างบุคลากรไทยควรทำด้านนี้ เพื่อไม่ให้เงินรั่วออกนอกประเทศ"