เข้าใจ 'การเห่เรือ' ทำไมต้องมี 'กาพย์เห่เรือ' ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
ชวนย้อนประวัติ "การเห่เรือ" และทำความเข้าใจ "กาพย์เห่เรือ" คืออะไร และสำคัญอย่างไร ก่อนร่วมชมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค วันนี้ 27 ต.ค.67
วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 14.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดย ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
สำหรับ ขบวนพยุหยาตรา หรือ กระบวนพยุหยาตรา นั้น คือ ริ้วกระบวนอันสง่างามที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไปในโอกาสสำคัญต่างๆ เช่น เสด็จไปทอดพระกฐิน หรือเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร เพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมี
หากเสด็จพระราชดำเนินทางบก คือ ริ้วกระบวนเคลื่อนไปตามถนนสายสำคัญ เรียกว่า กระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค
หากเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ คือ ริ้วกระบวนเรือสวยงาม เช่น เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่ง- อนันตนาคราช และเรือนำกระบวนต่างๆ เคลื่อนไปตามลำน้ำเจ้าพระยา พร้อมๆ กับที่ฝีพายร้องเห่เรืออย่าง ไพเราะ เรียกว่า กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค
การเห่เรือ
สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยใน ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ก็คือ การเห่เรือ ซึ่งเป็นการให้จังหวะแก่ฝีพายให้พายตามจังหวะทำนอง เพื่อให้เรือแล่นไปอย่างเป็นระเบียบสวยงามและพร้อมเพรียงกัน
การเห่เรือของไทยนั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เห่เรือหลวง เห่เรือเล่น
1. เห่เรือหลวง คือการเห่เรือในการพระราชพิธีที่มีการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทั้งอย่างใหญ่ และอย่างน้อยเพื่อให้ริ้วกระบวนเรือที่จัดขึ้นเป็นพระราชพาหนะในการเสด็จพระราชดำเนิน มีความพร้อมเพรียง เป็นระเบียบเรียบร้อยและสง่างาม โดยใช้บทแต่ลักษณะเป็นสัญญาณและกำกับจังหวะการพายให้พร้อมเพรียงกัน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้ว่า การเห่เรือหลวงน่าจะได้ ต้นเค้าจากประเทศอินเดีย โดยพราหมณ์เป็นผู้นำบทมนต์ในตำราไสยศาสตร์ ซึ่งแต่เดิมคงเป็นภาษาสันสกฤต มาเผยแผ่ ต่อมาก็เลือนกลายไป แต่ยังคงเรียกในตำราว่า “สวะเห่” “ช้าละวะเห่” และ “มูลเห่” ตามลำดับ
2. เห่เรือเล่น ตามความหมายเดิม คือ การเห่เรือแบบไม่เป็นพิธีการของบุคคลทั่วไป เพื่อความสนุกสนาน รื่นเริง และกำกับจังหวะในการพายเรือให้พร้อมเพรียงกัน การพายเรือเล่นของชาวบ้านนั้นมีจังหวะการพาย เพียง 2 อย่างเท่านั้น คือ พายจังหวะปกติและพายจังหวะจ้ำ จึงทำให้การเห่แตกต่างกันออกไปตามจังหวะ การพายด้วย
แฟ้มภาพวันซ้อมใหญ่เสมือนจริง
ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (22 ต.ค. 67)
วัตถุประสงค์ของการเห่เรือ
ในปัจจุบันการเห่เรือมีวัตถุประสงค์ที่เห็นได้อย่างเด่นชัดก็คือ การให้จังหวะแก่ฝีพายจำนวนมากในการพายเรือ พระราชพิธีกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคให้พร้อมเพรียงเป็นระเบียบเรียบร้อย สง่างาม และเป็นไปเพื่อความ สนุกสนานเพลิดเพลิน หรือปลุกเร้าฝีพายให้มีกำลังฮึกเหิม ไม่เหน็ดเหนื่อยง่ายอันจะส่งผลให้เกิดพลังและ กำลังใจในการยกกระบวนพยุหยาตรา
แฟ้มภาพวันซ้อมใหญ่เสมือนจริง
ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (22 ต.ค. 67)
และอีกประการหนึ่งการเห่เรือเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ที่เกี่ยวกับพระราชประเพณี ดั้งเดิมในการใช้กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ไทย ให้คงอยู่สืบไป
กาพย์เห่เรือ
กาพย์เห่เรือ คือ คำประพันธ์สำหรับใช้เป็นแบบอย่างของบทเห่เรือเก่าที่สุดที่เหลือเป็นหลักฐานสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ คือ "กาพย์เห่เรือ" บทพระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ หรือที่ออกนามกันทั่วไปว่า เจ้าฟ้ากุ้ง ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ในสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏหลักฐานการนำบทเห่เรือ ทั้งที่มีมาแต่เดิมและประพันธ์ขึ้นใหม่มาใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเนื่องในการพระราชพิธีต่าง ๆ สืบมา
สำหรับ กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พุทธศักราช 2567 ประพันธ์โดย พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ประกอบด้วย 4 บท ได้แก่
- บทสรรเสริญพระบารมี
- บทชมเรือกระบวน
- บทบุญกฐิน
- บทชมเมือง
บทที่ ๑ สรรเสริญพระบารมี
๏ บุญพระปานเพชรพริ้ง พรายฉาย
เผด็จทุกข์ดับภัยผาย ผ่องแผ้ว
สืบสันตติวงศ์ถวาย เศวตฉัตร
เป็นปิ่นปกเกศแก้ว ก่องฟ้าพาเกษม๚ะ๛
๑-๏ พระเอย พระผ่านฟ้า พระชนม์พรรษาหกรอบสมัย
สืบสวัสดิ์ทรงฉัตรชัย สืบชาติไทยให้มั่นคง
๒-๏ สืบสนองทรงครองราชย์ ตามรอยบาทพระปิตุรงค์
ต่อยอดให้ยิ่งยง ทรงสืบเสริมเพิ่มพูนเพ็ญ
๓-๏ ปิดทองหลังองค์พระ ขอเดชะทวยเทพเห็น
หยิบยื่นความชื่นเย็น ทรงดับเข็ญทุกคราวครัน
๔-๏ ที่ดินหลายถิ่นฐาน ทรงพระราชทานนับหมื่นพัน
พระราชทรัพย์นับอนันต์ พันหมื่นล้านทานบารมี
๕-๏ ศึกษา จิตอาสา ทรงเสริมค่าเข้มแข็งทวี
ภัยโรคโศกรุมตี ทรงช่วยต้านทานโรคภัย
๖-๏ พระเอย พระผ่านเผ้า ดับโศกเศร้าเสริมสดใส
เคยท้อขอถอดใจ ค่อยฟื้นไข้ขึ้นครามครัน
๗-๏ ทรงธรรม์ปานนำ้ทิพย์ เทพไทหยิบหยาดสวรรค์
ชุ่มชื่นชุบชีวัน เป็นมิ่งขวัญแห่งชีวา
๘-๏ พระเอย พระผ่านพิภพ สุขสงบงามสง่า
ปานเพชรเก็จก่องนภา ประดับฟ้าประดับไทย
๙-๏ เดชะพระบารมี วงศ์จักรีจึงเกริกไกร
ทวีโชคทวีชัย ทวีสุขทุกวารวัน
๑๐-๏ พระเอย พระผ่านเมืองไทยประเทืองประทับขวัญ
ปวงบุญแต่ปางบรรพ์ พระทรงธรรม์จึงทรงไทย
๑๑-๏ ทรงศีลทั้งทรงสัตย์ จึงทรงฉัตรจึงทรงชัย
บัวบุญจึงเบ่งใบ อุบลบานบนธารธรรม
๑๒-๏ พระเอย พระผ่านเกล้า ทุกค่ำเช้าไทยชื่นฉ่ำ
พระมหากรุณานำ คือน้ำทิพย์ลิบโลมดิน
๑๓-๏ พระทศมินทร์ปานปิ่นเพชร จึงสำเร็จเด็จไพรินทร์
ฟื้นฟ้าฟื้นธานินทร์ ผ่องภิญโญยิ่งโอฬาร
๑๔-๏ พระเอย พระผ่านฟ้า พระเดชาจงฉายฉาน
แม้นมีมวลหมู่มาร จุ่งมอดม้วยด้วยพระบารมี
๑๕-๏ หมู่มิตรจงมั่นคง น้ำจิตตรงเต็มไมตรี
ไพร่ฟ้าประชาชี สามัคคีอยู่มั่นคง
๑๖-๏ เดชะพระไตรรัตน์ ทั้งศีลสัตย์สร้างเสริมส่ง
พระบารมีจักรีวงศ์ ทุกพระองค์เป็นธงชัย
๑๗-๏ แรงรักแห่งทวยราษฎร์ หลอมรวมชาติสืบศาสน์สมัย
ร้อยถ้อยร้อยดวงใจ ถวายไท้องค์ทศมินทร์
๑๘-๏ ขอจงทรงพระเจริญ พระชนม์เกินร้อยปีถวิล
พระกมลหมดมลทิน ผ่องโสภินดั่งเพชรพราย
๑๙-๏ ปรารถนาสารพัด สมพระมนัสที่ทรงหมาย
สุขทวีมิมีวาย พระบรมวงศ์ทรงพร้อมเพรียง
๒๐-๏ พระบารมีที่ทรงสร้าง ไป่โรยร้างรุ่งเรืองเรียง
บำรุงรัฐวัดวังเวียง จักรีวงศ์ทรงพระเจริญ-เทอญ๚ะ๛