‘เกษียณ...ไม่ได้ตั้งใจ’ ชีวิต จะเริ่มนับหนึ่งใหม่อย่างไร ?
ในภาวะผันผวนของเศรษฐกิจปัจจุบัน งานประจำที่แสนมั่นคงอาจจะสั่นคลอนได้อย่างไม่คาดคิด ‘มนุษย์เงินเดือน’ ควรเตรียมพร้อมอย่างไร หากต้อง ‘เกษียณ’ แบบ ‘ไม่ได้ตั้งใจ’ จุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ได้พูดคุยกับ 3 ท่าน ไว้เป็นแง่คิด
ในวัยทำงาน.... นัถชนก สมสวัสดิ์ อดีตผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายสื่อสารและประชัมพันธ์องค์กร บริษัท บัตรกรุงไทยจำกัด (มหาชน) หรือ KTC คิดว่า
ได้ทำงานที่ตัวเองรัก นั่นก็คือความสุขแล้ว พร้อมทุ่มเทให้กับงานและใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ ปลายเดือนมีเงินเข้าบัญชี ทุกเดือนสิ้นปีมีโบนัส
หากรู้ว่าวันหนึ่งจะต้องเกษียณก่อนเวลา ก็น่าจะเก็บเงินไว้ให้มากกว่านี้ เพื่อที่จะเป็นทุนอุ่นใจในการทำธุรกิจเลี้ยงชีพต่อไป จึงฝากถึงคนทำงานประจำว่าอย่าได้ประมาทกับชีวิต ออมเงินไว้ให้มากที่สุด เมื่อวันนั้นมาถึงจะได้ไม่หวนเสียดายกับวันวาน
“นัถเองก็อยากทำงานจนถึงอายุเกษียณ พอคุณพ่อคุณแม่เริ่มป่วย อายุเยอะขึ้น ก็ต้องออกมาดูแล พออาการของสองท่านเริ่มอยู่ตัวแล้ว นัถก็เลยชวนน้องที่สนิทกัน (เพ็ญพรรณ ตันนิรัตร์) มาทำสิ่งที่เราชอบโดยแบ่งหน้าที่กันตามที่ตัวเองถนัด
เพราะนัถชอบแต่งตัว ชอบอะไรสวยๆงามๆ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการทำชุดเดรสขายในสไตล์เรา ชุดสวย คลาสสิค ใส่ได้ทั้งทำงาน ไปเที่ยว ใส่ง่ายๆจบในชุดเดียว แถมยังดูดี ใส่สบาย นัถใส่ใจในการออกแบบ ตัดเย็บแบบมีคุณภาพ”
‘นัถชนก สมสวัสดิ์’
สำหรับคนที่เบื่องานประจำ อยากจะลาออก ต้องรู้ว่า ออกมาแล้วจะทำอะไร ถามใจตัวเองก่อนว่าชอบอะไร ถนัดอะไร สิ่งที่นัถทำ มีคนทำอยู่แล้วมากมายในตลาด ดังนั้นต้องหาจุดที่แตกต่าง และเป็นสิ่งที่เรารัก หาจุดเด่นของตัวเองให้เจอ เพื่อให้ลูกค้าหันมาสนใจ และหันมาสนับสนุน นัถชนก สมสวัสดิ์ กล่าวต่อไปว่า
“เงินทุนก็สำคัญมากๆ อย่างนัถตั้งลิมิตไว้ว่าจะลงทุนเท่าไหร่ พอขายได้ก็นำเงินไปหมุนเวียนซื้อของมาเพิ่ม ลงทุนเพิ่ม ทดลองตลาด ค่อยๆ เรียนรู้ไป แต่มั่นใจว่าชุดที่เราออกแบบนั้นสวย เราโอเคแล้ว
ก่อนหน้านั้นนัถทำงานด้านพีอาร์มาก่อน ก็นำทักษะที่เคยใช้ติดต่อสื่อสาร มาเป็นการพูดคุยสื่อสารกับลูกค้า นำเทคนิคการเขียนมาใช้ในการโพสต์ขายชุด
นัถทำงานด้านพีอาร์ที่ KTC มาประมาณ 17 ปี ก่อนหน้านั้นทำที่อื่นประมาณ 7 ปี พอมาขายชุดเดรส พี่ๆน้องๆเพื่อนร่วมงานที่ KTC ก็สนับสนุนให้กำลังใจมาตลอด โดยเฉพาะพี่ต้อย เจ้านายคนแรก”
นัถขอฝากถึงคนทำงานประจำว่า ขณะที่ยังมีงานทำอยู่ อยากให้ระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย เก็บเงินไว้เผื่อวันหนึ่งจะได้ใช้เงินก้อนนี้ลงทุนกิจการ ตัวเธอยอมรับว่าไม่ได้ตั้งใจออกจากงานมาเร็วขนาดนี้
แต่ก็พอจะมีเงินเก็บอยู่บ้าง ฝากถึงใครยังไม่เริ่มเก็บเงิน ก็อยากจะบอกว่า เก็บเงินไว้เถอะ เพราะเราไม่รู้อนาคต นัถเองก็ตั้งใจจะอยู่จนถึงวันเกษียณเหมือนกัน ในที่สุดมีเหตุให้ต้องออกมา ถ้าเราไม่มีเงินเก็บเลย เราจะทำอะไรไม่ได้ ก็อยากจะย้อนบอกตัวเองในวันก่อนเหมือนกันว่า เราน่าจะเก็บไว้ให้เยอะกว่านี้
เกษียณ...ไม่ได้ตั้งใจ ชีวิต จะเริ่มนับหนึ่งใหม่ ด้วยการเริ่มต้นธุรกิจเล็กๆ ต้องมั่นใจในสินค้า ลงทุนไม่เยอะ ไม่มีหน้าร้าน เพราะขายผ่านโซเชียลมีเดีย ได้กำไรเก็บเล็กผสมน้อยค่อยๆทำ
สั่งสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ เธอเองทดลองขายสินค้าเมื่อพฤษภาคม 2566 ทว่าออกจากงานก่อนหน้านั้น เพื่อมาดูแลพ่อแม่ เนื่องจากเงินเก็บเริ่มโดนใช้ไปแล้วเรื่อยๆ ทำให้เริ่มกังวลเล็กน้อย จึงคิดหารายได้เพิ่มเติมเข้ามา
กิจการด้านเสื้อผ้าของ ‘นัถชนก สมสวัสดิ์’ ติดตามได้ในเฟสบุ๊กชื่อว่า ‘GraoeGlam ชุดเดรส ชุดทำงาน ชุดไปเที่ยว’ IG: @graceglamclothing
‘ธัชดล ปัญญาพานิชกุล’ อดีต บก.ภาพ เนชั่น
ธัชดล ปัญญาพานิชกุล อดีต บก.ภาพ เนชั่น เป็นคนหนึ่งที่เกษียณแบบ ไม่ได้ตั้งใจ ผันตัวมาเป็นเจ้าของ ฟาร์มสเตย์ แถว วังน้ำเขียว เขาใหญ่ เขากล่าวกับ จุดประกาย ว่า
“ผมแทบจะไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย เพราะลาออกแบบปุ๊บปั๊บมาก บ้านที่สร้างไว้ก็ยังไม่เสร็จ ที่ก็ยังไม่ได้ปลูกต้นไม้ ตรงนี้เป็นที่ดั้งเดิมของพ่อตา อยู่ตรงข้ามกับโบนันซ่า เขาใหญ่ รั้วตรงข้ามกันเลย มีทั้งหมด 12 ไร่
ด้านหน้าติดกับถนนตรงข้ามโบนันซ่าเขาใหญ่ ปลูกดอกไม้ให้นักท่องเที่ยวมาถ่ายภาพประทับใจ
เดิมให้เขาเช่าปลูกมันสำปะหลัง ปลูกข้าวโพด ก็เลยเป็นพื้นที่โล่งๆ ไม่มีต้นไม้เลย เราก็เข้ามาค่อยๆขอที่คืน ปลูกบ้าน ทำฟาร์ม ปลูกต้นไม้ ลงพืชผักสวนครัว อะโวคาโด น้อยหน่า ปลูกผลไม้ ดอกไม้
ปลูกดอกกุหลาบมากมายเนื่องจากภรรยาชอบ
พืชผักที่พอจะเก็บเกี่ยวได้เลย ไม่ต้องรอก็มี ถั่วฝักยาว มะเขือพวง ผักชี มีไข่ไก่อารมณ์ดี เราได้ผลผลิตไม่มากเพราะไม่ได้ใช้สารเคมี อยากกินอะไรก็ปลูก เหลือก็แจก ตอนนี้ยังไม่มีรายได้เข้ามาเพราะเรายังไม่ขาย”
ปัจจุบันมีบ้านพัก 1 หลัง รองรับลูกค้าได้ 5 ท่าน
ภายในบ้านพักฟาร์มสเตย์ ไร่ลุงเติม หรือ ‘My Father’s Farm KhaoYai’
ยามเช้าและยามเย็นบรรยากาศดี
หน้าบ้านพักมองเห็นเขายายเที่ยง
อนาคตเขาคิดจะทำ ‘ฟาร์มสเตย์’ มีที่พักเล็กๆน้อยๆ สำหรับคนที่ต้องการมาพักผ่อน ปัจจุบันทำไว้ 1 หลัง เป็นบ้านเล็กๆ สีขาว บรรยากาศดีมองเห็นทิวทัศน์ภูเขา (เขายายเที่ยง) ส่วน เขาใหญ่อยู่ด้านหลัง ‘จุดประกาย’ ไปพักมาแล้ว 1 คืน ราคา 2500 บาท พักได้ 2 คน หากมาเพิ่มคิดคนละ 500 บาท บ้านหลังหนึ่งพักได้ไม่เกิน 5 คน
อาหารเช้าสำหรับลูกค้าที่มาพัก สั่งได้ว่าต้องการรับประทานอะไร วันนี้มีไข่ไก่อารมณ์ดี ที่ลูกค้าเพิ่งเก็บเองเมื่อเช้า ยังอุ่นๆ
“ผมค่อยๆปรับพื้นที่ ค่อยๆทำไป ถ้าเรารีบลงทุนเยอะๆ ก็ต้องรีบหารายได้ แต่เราไม่รีบเอาทุนคืน ผมมีที่ดินทั้งหมด 12 ไร่ ผมเองเรียนจบด้านการตลาด เรียนด้าน AE เขามีวิชาถ่ายภาพด้วย ผมก็ไปฝึกงานด้านช่างภาพ เพราะไม่ชอบทำงานนั่งโต๊ะ ในที่สุดก็ทำงานช่างภาพมาเกือบ 30 ปี”
พืชผักที่ปลูกง่ายโตเร็ว เก็บเกี่ยวได้ในปัจจุบัน
เนื่องจากชอบ ‘เขาใหญ่’ มาบ่อยๆเพราะคุณน้าของเขาอยู่ที่นี่ ญาติๆของภรรยาก็อยู่ที่นี่ ได้เห็นวิถีชีวิตเกษตร ก็ชอบ พอลาออกจากงานประจำ ก็ไปอบรมหาความรู้ด้าน เกษตรอินทรีย์ เรียนรู้เรื่องการปรุงดิน การทำปุ๋ย
เริ่มจากปลูกพืชผักสวนครัว ลงต้นไม้ ต้นกุหลาบเพื่อความสวยงาม ฝึกปลูกไปเรื่อยๆ เรียนรู้ด้วยตัวเอง อ่านในตำรา ถามคนบ้าง ฤดูกาลไหน ควรปลูกอะไร ลงทุนไปกว่าล้านบาท รวมทั้งซื้อรถไถมาฝึกไถเองตามใจชอบ
‘ธัชดล’ ฝากถึง ‘คนทำงานออฟฟิศ’ หรือ มนุษย์เงินเดือน ที่ต้องการเกษียณ ออกมาใช้ชีวิตแบบวิถี เกษตรพอเพียง ต้องเตรียมความพร้อม อาทิ ที่ดินต้องพร้อม ไม่ต้องหาซื้อ
ไม่ต้องมีเยอะมากมายก็ได้ เพียง 1 ไร่ก็พอแล้ว มีเงินลงทุนจำนวนหนึ่ง ไม่ใช่ลาออกมาจากงานแบบไม่มีเงินเก็บเลย เขาเองคิดว่าหากได้เตรียมตัวซัก 2-3 ปี เก็บเงินแล้วค่อยๆสร้างไว้ ถึงเวลาค่อยลาออกมาทำเต็มที่ก็จะดีกว่านี้
“ชีวิตก่อนหน้านั้น ผมเป็นช่างภาพ ถือกล้องถ่ายรูป หลังๆเป็นหัวหน้าไม่ต้องออกไปถ่ายเอง งานสบายกว่าเยอะ วันนี้หันมาถือจอบ ขุดดิน ขุดหาความหมายของชีวิต ถามว่าเหนื่อยไหม ตอบเลยว่า เหนื่อยมาก แต่ก็มีความสุข ชีวิตอยู่กับต้นไม้ ใบหญ้า รอดูความเจริญเติบโตของพืชผัก
เฝ้าดูแม่ไก่ออกไข่ ใช้ชีวิตกับการทำงานมาเยอะแล้ว ผมว่าน่าจะพอแล้ว ถึงเวลาที่ได้ใช้ชีวิต ผมเคยเป็นโควิดเกือบช็อกตาย นอนห้องไอซียูมาแล้ว 3 คืน เพราะเกล็ดเลือดเกือบไม่มีเหลือ แถมยังต้องผ่าตัดสมอง มีปัญหาเรื่องตาข้างหนึ่งเป็นต้อหินอีก วันนี้ก็เลยขอเกษียณก่อนเวลา มาใช้ชีวิตอีกแบบ”
‘ธัชดล’ ฝากถึงพนักงานออฟฟิศ มนุษย์เงินเดือน ว่า ต้องคิดเผื่อ วางแผนอนาคตไว้บ้าง เพราะปัจจุบันงานออฟฟิศหลายๆอย่าง มีเอไอมาทำแทนมนุษย์แล้ว สมัยก่อนแผนกหนึ่งมี 10 คน ปัจจุบันลดเหลือ 5 คน หากอายุ 30 ปี ต้องมองว่า อีก 10-20 ปีข้างหน้าจะเดินไปทิศทางไหน
อย่าให้เหมือนกับตัวเขาที่ไม่ได้วางแผนอะไรไว้เลย อยู่ดีๆก็ เกษียณ...ไม่ได้ตั้งใจ วันนี้ต้องใช้สติว่า...ให้ค่อยๆเดินไป เดินแบบไหนถึงจะมั่นคงยั่งยืน ต้องไม่รีบร้อน
ไม่ใช่เฉพาะงานเกษตรอย่างเดียว ไม่ว่างานอะไรก็ตาม จะทำต้องวางแผน สำคัญที่สุดคือ ต้องเก็บเงินเอาไว้ด้วย หรือถ้าคิดจะทำงานประจำจนเกษียณ ก็ต้องเก็บเงินไว้ใช้ตอนที่ไม่มีแรงทำงานด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน ‘ธัชดล’ เป็นเจ้าของไร่ ‘My Father’s Farm KhaoYai’ เลขที่ 451 หมู่ 11 บ้านโบนันซ่า อำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา โทร. 089 772 3988
โดยมีบ้านพัก 1 หลัง พักได้ 5 คน อนาคตจะทำเพิ่มอีก 4 หลัง ปลูกดอกไม้สวยๆ ให้นักท่องเที่ยวแวะมาถ่ายรูป มีคาเฟ่เล็กๆ ให้ผู้คนมาแวะดื่มกิน อาจจะมีพืชผักผลผลิตจากไร่แบบปลอดสารพิษมาวางจำหน่าย
‘My Father’s Farm KhaoYai’
‘นิภาพร ทับหุ่น’ อดีตนักข่าวสาว
นิภาพร ทับหุ่น อดีตนักข่าวสาว หนังสือพิมพ์ชื่อดังฉบับหนึ่ง รับเงินเกษียณก่อนกำหนด เธอมีเงินก้อนออกไปทำทุนสร้างอาณาจักร ‘เกษตรอินทรีย์’ ในฝัน
เธอบอกกับ ‘จุดประกาย’ ว่า.... เคยถามตัวเองเหมือนกัน ว่าจะทำงานประจำไปจนถึงอายุเท่าไหร่ พออายุ 38 ปี ทางบริษัทเปิดแคมเปญ Early Retirement จึงตัดสินใจรับเงินก้อน
“ก่อนหน้านั้นไม่นาน แม่บอกว่า กลับมาอยู่บ้านเราก็ดีนะ แสดงว่าเขาเริ่มต้องการเราแล้ว เขาคงเหงา ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ แม่เริ่มสุขภาพไม่ค่อยดีไปขายของที่ตลาดไม่ค่อยไหว ก็เลยตัดสินใจกลับพิษณุโลก อยากใช้ชีวิตแบบเกษตรพอเพียงมาตั้งนานแล้ว เพราะเราเคยไปสัมภาษณ์เกษตรกรที่เขามีโรงเห็ดแค่โรงเดียว
คนก็มาเที่ยวชมดูโรงเห็ด สร้างรายได้สบายๆ พอไปไร่รื่นรมย์ เราก็ชอบ คิดว่าอยากจะทำแบบนี้คงไม่ยาก ได้กลับไปอยู่บ้านสวยๆ ตอนเด็กๆเราเองก็เคยปลูกพริก ปลูกมะเขือ แต่พอได้มาทำจริงๆ ก็ไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด เหนื่อยมากๆ เพราะเราไม่เคยทำเกษตรมาก่อน”
‘นิภาพร’ เล่าว่า พอลาออกจากงานประจำ ก็เข้าอบรมใครโครงการ ‘คนกล้าคืนถิ่น’ 5-6 วัน เพื่อเรียนรู้เรื่องการทำปุ๋ย ปรุงดิน ทำเกษตรอินทรีย์ ฯลฯ จากนั้นขอที่ดินของแม่ประมาณ 3 ไร่ เอามาทำแปลงปลูกผัก ลงทุนไป 3 แสนบาทสร้าง 5 โรงเรือน ไม่รวมปรับพื้นที่ ขุดดินยกร่อง สุดท้ายได้เรียนรู้ว่าไม่จำเป็นต้องสร้างโรงเรือนให้เปลืองเงินก็ได้
“เราต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ตอนที่ตัดสินใจลาออกมา เพราะแม่เริ่มมีปัญหาเรื่องเบาหวาน ความดัน ไขมัน ก็ตั้งใจจะออกมาปลูกผักอินทรีย์ให้แม่กิน ทำเกษตรยอมรับว่าเหนื่อยจริงๆ แต่มีความสุข เพราะความเหนื่อยพอเราได้นอนหลับพักผ่อน ตื่นขึ้นมาตอนเช้ามันก็หายเหนื่อยแล้ว”
ปีแรกๆ รวมตัวกับเพื่อนๆเกษตรกรมือใหม่เหมือนกัน ตั้งกลุ่ม 2 แคว ออร์แกนิค สร้างระบบเครือข่ายที่มีมาตรฐาน ทำกิจกรรมเยอะมาก โดยมีจุดประสงค์ให้คนในพิษณุโลกเปลี่ยนพื้นที่เคมี มาเป็นพื้นที่อินทรีย์ ปัจจุบันเธอกลายเป็นผู้ตรวจมาตรฐานพืชผักอินทรีย์ หาตลาดเป็นคนกลางนำพืชผักไปขาย
เปลี่ยนอาชีพพนักงานประจำ ไปทำการเกษตร ได้ 7 ปี มีประสบการณ์มากมาย เปิดร้านใน มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ชื่อ epa’s organic
รับพืชผักจากเครือข่ายมาวางขาย อาทิ เช่น สินค้าเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป อาหารพร้อมรับประทาน เครื่องดื่ม ฯลฯ รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักศึกษานำของมาวางขายเพื่อหารายได้พิเศษอีกด้วย
“จากที่เป็นคนทำอาหารไม่เป็นเลย ไม่มีพรสวรรค์ด้านนี้เลย พอผักกาดขาวล้นตลาด ก็เอามาลองทำ กิมจิ ให้เพื่อนๆชิม ปรับปรุงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งทำขายได้ กิมจิก็ต้องมาจากผักที่เราปลูกเองปลอดสารพิษเท่านั้น
คอมบูชะ มาจากเรามีปัญหาท้องผูก ไปอ่านเจอว่าคอมบูชะจะปรับสมดุลลำไส้ ก็เลยลองหมักกินเองแล้วได้ผลดี แบ่งเพื่อนกิน จนกลายมาเป็นทำขาย เราใช้ชาเขียวอินทรีย์ หมักกับน้ำผึ้ง”
หลักการคือ....เมื่อ เกษียณ....แบบไม่ได้ตั้งใจ ก่อนอื่นหยุดคิดเพื่อตั้งตัว มองหาทิศทางที่ใช่ของตัวเอง แล้วค่อยๆก้าวเดินอย่างระมัดระวัง ที่สำคัญ....วันนี้คุณต้องเก็บเงินไว้ให้มาก เพื่อต่อยอดอนาคตใหม่ ที่อาจจะมาถึงเร็วเกินคาด
epa’s organic (ร้านอีป้าออร์แกนิค) อยู่ใต้อาคารคณะเกษตร มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เปิดวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00 -17.00 น. 089 789 1461