งบอุดหนุน 3.3 หมื่นล้าน ต้องไม่จมหายไปกับควันไฟในไร่อ้อย
ทางการไทยพบโรงงานน้ำตาลหลายแห่งมีสัดส่วนรับซื้ออ้อยไฟไหม้สูง ทั้งที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เอาจริงกับปัญหาการเผาไร่อ้อยมานาน เพื่อแก้ปัญหามลพิษ PM2.5
KEY
POINTS
- ปัจจุบันไทยปลูกอ้อยประมาณ 11 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 7-10 ตัน/ไร่ ตอนนี้มีอ้อยเผาเข้าโรงงานมาแล้ว 4 ล้านตัน แสดงว่าเป็นพื้นที่ไร่อ้อยที่ถูกเผาไปแล้ว 4 แสนไร่
- การเผาไร่อ้อยส่งผลให้ค่ามลพิษอากาศในพื้นที่ภาคกลางและอีสานที่มีการเผาสูงขึ้นอย่างชัดเจน
- ประเทศไทยล้มเหลวกับมาตรการป้องกันมลพิษฝุ่น pm2.5 จากการเผาไร่อ้อย ที่ชาวบ้านเรียกแบบประชดประชันว่า “หิมะดำ” เป็นปัญหาความเดือดร้อนมายาวนาน ทางการไทยยังต้องกดดันให้โรงงานงดรับซื้ออ้อยเผาไฟ
ปีนี้เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นบทบาทของเจ้ากระทรวงอุตสาหกรรม และ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จ้ำจี้จำไชเอาจริงกับปัญหาการเผาไร่อ้อย เมื่อพบว่ามีโรงงานที่รับซื้ออ้อยไฟไหม้เข้าหีบแนวโน้มมากเกินเป้าหมายไม่เกิน 25% ได้มีคำสั่งให้โรงงานหยุดรับซื้อ 10 วัน สนองนโยบายแก้ปัญหามลพิษ PM2.5
จากนั้นได้เห็นเลขาธิการ สอน. แถลงข่าวสื่อสารไปถึงโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายยักษ์ใหญ่ “มิตรผล - ไทยรุ่งเรือง” ให้กวดขันโรงงานน้ำตาลในเครือจำนวน 6 โรงที่มีสัดส่วนรับซื้ออ้อยไฟไหม้สูงกว่าโรงงานอื่น ประกอบด้วย
1) โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี รับซื้ออ้อยถูกเผา 58.8%
2) โรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี จ.อุดรธานี รับซื้ออ้อยถูกเผา 41.68%
3) โรงงานมิตรกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ รับซื้ออ้อยถูกเผา 35.66%
4) โรงงานน้ำตาลเอราวัณ จ.หนองบัวลำภู รับซื้ออ้อยถูกเผา 27.05%
5) โรงงานไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จ.สกลนคร รับซื้ออ้อยถูกเผา 26.99% และ
6) โรงงานรวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น รับซื้ออ้อยถูกเผา 20.06%
แม้ตอนนี้การรับซื้อในภาพรวมสามารถดำเนินการอยู่ในเป้าคือ มีอ้อยไฟไหม้เข้ามาประมาณ 4 ล้านตัน คิดเป็น 21.80% ของปริมาณอ้อยที่รับเข้าหีบทั้งหมดกว่า 18 ล้านตัน แต่ก็ต้องเข้มงวดกับโรงงานที่ยังไม่เป็นตามเป้า
การแถลงข่าวของ สอน. ระบุว่า อ้อยที่ถูกเผา 4 ล้านตันดังกล่าว เทียบได้กับการเผาป่า 4 แสนไร่ สร้างมลพิษฝุ่นควันที่ปล่อยออกมาประมาณ 1 พันตัน
อ้อยเผาไฟเข้าโรงงานหลายล้านตัน สะท้อนพื้นที่ไร่อ้อยไฟไหม้ปีละประมาณ 2 ล้านไร่
ปัจจุบันไทยปลูกอ้อยประมาณ 11 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 7-10 ตัน/ไร่ ตอนนี้มีอ้อยเผาเข้าโรงงานมาแล้ว 4 ล้านตัน แสดงว่าเป็นพื้นที่ไร่อ้อยที่ถูกเผาไปแล้ว 4 แสนไร่ ซึ่งตัวเลขนี้จะสูงขึ้นไปอีกหากเทียบบัญญัติไตรยางศ์สัดส่วนอ้อยเผาไฟ 1 ใน 4 ของผลผลิตภาพรวม ก็จะมีการเผาไร่อ้อยปีละประมาณ 2 ล้านไร่ เป็นอย่างน้อย ...
การเผาไร่อ้อยส่งผลให้ค่ามลพิษอากาศในพื้นที่ภาคกลางและอีสานที่มีการเผาสูงขึ้นอย่างชัดเจน เช่น ที่จังหวัดลพบุรีมีการเผารอบๆ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตั้งแต่เริ่มเปิดหีบอ้อยเดือนธันวาคม 2567 ค่ามลพิษฝุ่นกรมควบคุมมลพิษ สถานีวัด 99t ลพบุรี เกินมาตรฐานต่อเนื่อง คือมีวันที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน มีหลายช่วงที่อยู่ระดับ 60-78 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ซึ่งเป็นระดับอันตรายต่อสุขภาพ เช่นเดียวกับสถานี 46t ขอนแก่น มีค่าฝุ่นเกิน 75 ไมโครกรัม/ลบ.ม.หลายครั้ง (ดูกราฟประกอบ)
กล่าวได้ว่า ประเทศไทยล้มเหลวกับมาตรการป้องกันมลพิษฝุ่น pm2.5 จากการเผาไร่อ้อย ที่ชาวบ้านเรียกแบบประชดประชันว่า “หิมะดำ” เป็นปัญหาความเดือดร้อนมายาวนาน จนล่าสุดทั้งรัฐมนตรีและสำนักงาน สอน. ก็ยังต้องออกแรงกดดันเป็นข่าวในหน้าสื่อ
ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 2562 รัฐบาลได้ประกาศวาระแห่งชาติว่าด้วยฝุ่นละออง เป็นมติ ครม. มีเป้าหมายลดพื้นที่อ้อยไฟไหม้เหลือ 0% ภายในปี 2565 แต่ที่สุดแล้วก็เป็นไปไม่ได้ตามนั้น
และที่น่าพิจารณาที่สุดก็คือ นับจากปี 2562 เป็นต้นมา ในระยะ 7 ปีที่ผ่านมานี้รัฐได้มีมาตรการอุดหนุนเกษตรกรไร่อ้อยลดการเผาเป็นเงินจำนวนมากทุกปี ทั้งการอุดหนุนเครื่องจักรยกระดับการผลิต และการอุดหนุนต้นทุนการไม่เผา เอาเฉพาะเม็ดเงินไม่ให้มีอ้อยไฟไหม้รวมแล้วมากกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท แต่ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่วาระแห่งชาติกำหนด มีอ้อยไฟไหม้น้อยบ้างมากบ้าง แต่ก็ไม่เคยน้อยกว่า 25% แม้ตะปีเดียว
กระทรวงอุตสาหกรรมและ สอน. พยายามไปถึงเป้าหมาย 25% ในปีนี้ ซึ่งดูจะยากเย็นแสนเข็ญเพราะเพิ่งผ่านฤดูหีบอ้อยได้แค่เดือนเดียว
มาตรการของรัฐไม่ได้แก้ปัญหา PM2.5 จากการเผาไร่อ้อยที่ต้นทางอย่างแท้จริง
ปัญหาการผลิตและต้นทุนค่าแรง ปัญหาการยกระดับเทคนิคการผลิตที่ไม่เป็นไปตามเป้า หรือกระทั่งการต้องเผาทันทีเมื่อไม่ได้รับเงินอุดหนุน กลายเป็นว่า เมื่อใดที่รัฐไม่มีเงินอุดหนุนให้การเผาจะมากขึ้น แต่ก็ไม่ลดลงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ล้วนแต่เป็นปมที่ต้องคลี่คลาย
แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญที่สุด ที่หน่วยงานรัฐเอง กระทรวงอุตสาหกรรมและ สอน. เองก็ยังไปไม่ถึง นั่นก็คือมาตรการของรัฐไม่ได้แก้ปัญหาผลกระทบ PM2.5 จากการเผาไร่อ้อยที่ต้นทางอย่างแท้จริง นั่นคือ เพื่อบรรเทาผลกระทบและขนาดจำนวนมลพิษ แม้จะใช้เรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างในการตั้งงบประมาณอุดหนุนลดการเผาทุกปีรวมกันมากกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท
นั่นเพราะรัฐใช้ KPI ตัวชี้วัดที่ปริมาณสัดส่วนอ้อยสดเข้าโรงงาน ไม่ได้วัดจากแปลงปลูกพื้นที่ไร่อ้อยจริง ทำให้ในทางปฏิบัติมีไร่อ้อยที่ยังใช้ไฟเผาอยู่เป็นจำนวนมาก แม้แต่ไร่อ้อยตัดสดเพื่อส่งโรงงานและรับเงินอุดหนุนตันละ 120 บาทไปแล้ว กลับมาก็ยังจุดไฟเผาเพื่อสะสางใบอ้อยตกหล่น ตลอดถึงการเผาเพื่อเตรียมแปลง ซึ่งก็ยังใช้ไฟและก่อมลพิษเป็นผลกระทบต่อประชาชนส่วนรวมอยู่ดี
มาตรการเงินอุดหนุน 3.3 หมื่นล้าน ในระยะ 7 ปีมานี้ ในส่วนช่วยลดอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานจากเดิมที่เคยไหม้กว่า 50% ก่อนปี 2562 คนที่ได้ผลประโยชน์คือโรงงานที่ได้วัตถุดิบที่ดีลดต้นทุนผลิต แต่ในส่วนของประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบ ยังไม่ได้รับอากาศสะอาดเพราะยังมีการเผาอ้อยไฟไหม้โดยตรง และการเผาหลังจากตัดอ้อยสด เพราะมาตรการของรัฐไม่ครอบคลุมถึงจุดนี้
ปัญหาการเผาในไร่อ้อย และมาตรการลดการเผาเพื่อแก้ปัญหามลพิษ PM2.5 ตามวาระแห่งชาติที่ดำเนินมาต่อเนื่องจากปี 2562 ใช้เงินงบประมาณไปแล้วกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท (เฉพาะอุดหนุนไม่เผา) ยังไม่ประสบความสำเร็จตามเป้า รอดูว่าเมื่อปิดหีบอ้อยปีนี้ผลลัพธ์จะออกมาเช่นไร
..........................................
เขียนโดย บัณรส บัวคลี่ คอลัมน์จุดประกายความคิด กรุงเทพธุรกิจ