เปิดตัว 'เส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำ' จาก กรุงเทพฯถึงอยุธยา
การเปิดตัวทดสอบนำร่องเส้นทางการท่องเที่ยวทางน้ำแห่งใหม่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้ ๆ กรุงเทพฯที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ททท. เปิดเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำ กรุงเทพมหานครถึงพระนครศรีอยุธยา หวังกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ สู่การท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน
วันที่ 8 กันยายน 2565 กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ที่ปรึกษาคณะกรรมการการท่องเที่ยวคุณภาพสูง หอการค้าไทย ภายใต้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว
และ อภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยวการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พร้อมด้วย สุทัศน์ คงแย้ม ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปทุมธานี ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี
ร่วมทดสอบเส้นทางนำร่อง ณ จังหวัดปทุมธานี โครงการจัดทำข้อมูลและสร้างสรรค์เส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำจากกรุงเทพมหานครถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, ปทุมธานี และ พระนครศรีอยุธยา)
โดย อภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ททท. กล่าวว่า
"โครงการนี้ ททท.ร่วมมือกับหอการค้าไทย สอดคล้องกับนโยบายที่ให้ความสำคัญกับรูปแบบการบริการขนส่งในแม่น้ำลำคลอง เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ประชาชน
ททท.เล็งเห็นโอกาสศักยภาพของสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวทางน้ำ จึงได้สร้างสรรค์เส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำ เพื่อนำเสนอประสบการณ์การท่องเที่ยว 4 จังหวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และ พระนครศรีอยุธยา เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวทางน้ำดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง กลุ่ม Premium และ Premium mass
กิจกรรมครั้งนี้ จะสร้างการรับรู้มุมมองใหม่ๆ ของการท่องเที่ยวทางน้ำ ที่พัฒนากิจกรรมตามหลักแนวคิดเศรษฐกิจ Bio Circular และ Green หรือ BCG Model คำนึงถึงความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวและการมีส่วนร่วมของชุมชน
โดยเฉพาะ Green Economy ด้วยการล่อง เรือไฟฟ้า และใช้วัสดุย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เพื่อสร้างความตระหนักถึงการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ
และส่งเสริมผู้ประกอบการที่ได้รับมาตรฐาน SHA ต่อยอดให้เกิดการพัฒนาคุณภาพโครงข่ายทางด้านการท่องเที่ยวต่อไป"
- การท่องเที่ยวทางน้ำ เส้นทางใหม่
กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ที่ปรึกษาคณะกรรมการท่องเที่ยวคุณภาพสูง หอการค้าไทย กล่าวว่า
"การท่องเที่ยวทางน้ำ ครอบคลุมถึงการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่ง และการท่องเที่ยวทางแม่น้ำ ลำคลอง เป็นสินค้าที่มีศักยภาพและตอบโจทย์กลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงได้ จึงเป็นที่มาในการประสานความร่วมมือกับ ททท.
เพื่อเฟ้นหาสินค้าและกิจกรรมทางการท่องเที่ยว รังสรรค์เป็นเส้นทางการท่องเที่ยวแม่น้ำเจ้าพระยาจากกรุงเทพมหานครถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และ พระนครศรีอยุธยา)
ผ่านการสร้างสรรค์เรื่องราว จากอัตลักษณ์ของไทย เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวให้สูงขึ้นและเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้
โดยการทดสอบเส้นทางนำร่องในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีครั้งนี้ พบว่า ปทุมธานีเป็นจังหวัดที่มีมนต์เสน่ห์แห่งความหลากหลายที่ชวนค้นหา เต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยว ทางธรรมชาติ วัดวาอาราม โบราณสถาน
มีกิจกรรมที่น่าสนใจ ทั้งการท่องเที่ยววิถีชุมชนและกีฬาทางน้ำ สอดรับกับหลัก Happy model ได้แก่ การกินดี อยู่ดี ออกกำลังกายดี และ แบ่งปันสิ่งดี ๆ นำไปสู่การพลิกโฉมการท่องเที่ยวทางน้ำ
การจัดกิจกรรมทดสอบเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำในครั้งนี้ นอกจากความหลากหลายของวัฒนธรรมชาวไทย-มอญ แล้วยังผสมผสานกิจกรรมร่วมสมัยต่าง ๆ
โดยเริ่มต้นเส้นทางจาก ท่าเรือ Riverdale Marina ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Riverdale District ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา
จุดพักผ่อนแห่งใหม่เต็มรูปแบบ ประกอบด้วย สนามกอล์ฟระดับสากล โรงแรม ศูนย์สุขภาพ คอมมูนิตี้มอลล์ และได้แวะเยี่ยมชม ทำกิจกรรมในแหล่งท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ
ไหว้ขอพร เซียนแปะโรงสี ณ วัดศาลเจ้า
ชมความงามของวัดสมัยกรุงศรีอยุธยาพร้อมสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ วัดสิงห์
ทำกิจกรรม DIY ที่ Pumpkin Art Town ร้านอาหาร คาเฟ่ แหล่งรวมงานอาร์ต
ทดลองขับ Scooter ไฟฟ้า รอบ จัตุรัสปทุม ชมความงามของอาคารเก่าริมแม่น้ำเจ้าพระยา สมัยรัชกาลที่ 6
เยี่ยมชม วัดบางหลวง วัดมอญที่สร้างโดยไม่มีเสา เป็นที่ประดิษฐานของ หลวงพ่อใหญ่ พระประธานปางมารวิชัยที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในจังหวัดปทุมธานี
ออกกำลังกายพาย SUP ในแม่่น้ำเจ้าพระยา พร้อมชมวิถีริมน้ำที่ SUP Station Thailand
โครงการนี้ สามารถต่อยอดให้เกิดการพัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำของประเทศไทยต่อไปในอนาคต เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับประเทศ กระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป"
ข้อมูลเพิ่มเติม Download E - book ได้ที่ www.https://tourismproduct.tourismthailand.org