ย้อนวันวาน"รถไฟไทย" เรื่องเล่าในพิพิธภัณฑ์เล็กๆ หน้า"สถานีรถไฟกรุงเทพ"
"พิพิธภัณฑ์รถไฟไทย" ด้านหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ (สถานีหัวลำโพง) จัดวางสิ่งของเครื่องใช้ในการเดินรถไฟในอดีตให้ชมในพื้นที่ขนาดกะทัดรัด เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ชมทั้งชั้นล่างและชั้นสอง
นอกจากความโดดเด่นของ สถานีรถไฟกรุงเทพ (สถานีหัวลำโพง) ที่ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาลี มาริโอ ตามันโญ (Mario Tamagno) จะมีความคล้ายกับสถานีรถไฟแฟรงก์เฟิร์สในเยอรมนี เป็นอาคารทรงโดมโค้ง มีนาฬิกาขนาดใหญ่เด่นสง่าด้านหน้า และโครงสร้างตกแต่งด้วยกระจกสี สไตล์อิตาเลียนผสมผสานศิลปะยุคเรอเนสซองส์
ด้านหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ ยังมีพิพิธภัณฑ์รถไฟไทยขนาดเล็ก ตั้งอยู่ที่อาคารมุขหน้าด้านทิศตะวันตก เป็นสำนักงานมูลนิธิรถไฟไทยและพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่ปี 2558 เพื่อแสดงกิจการรถไฟตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของรถไฟไทย
ดังนั้นถ้าใครมีโอกาสแวะเวียนไปใช้บริการถไฟไทยที่นั่น ลองแวะไปชม ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
ด้านล่าง พิพิธภัณฑ์รถไฟไทย จัดวางของเก่าที่เคยใช้ในสถานีรถไฟ มีทั้ง หมวกนายสถานี ทำจากหนังช้าง ใช้งานในสมัยรัชกาลที่ 6 ,ตั๋วรถไฟแบบแข็งหลากสีหลายรุ่น, เครื่องตราทางสะดวก, เครื่องพิมพ์ดีด ,เครื่องส่งโทรเลข, โมเดลรถไฟ, ของที่ระลึก เครื่องใช้ในครัวของกรมรถไฟหลวง พวกกระติกใส่น้ำแข็ง และเครื่องเงิน ฯลฯ
ส่วนชั้นบนของพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงโปสเตอร์เตือนให้ระวังภัยในการเดินรถไฟ ที่นั่งริมหน้าต่างในตู้เสบียง และจัดแสดงพระเก้าอี้ในสมัยรัชกาลที่ 7 ฯลฯ
ชั้นสามพิพิธภัณฑ์รถไฟไทย
เครื่องประทับวันที่บนตั๋วรถไฟ ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว
ย้อนความทรงจำรถไฟไทย
จำได้ไหมว่า เคยนั่งรถไฟไทยหวานเย็นครั้งสุดท้ายเมื่อไร จำเสียงระฆังที่นายสถานีให้สัญญาณได้ไหม...
นับตั้งแต่กรมรถไฟ เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยอยู่ในสังกัดกระทรวงโยธาธิการ รถไฟไทยก็เปิดบริการประชาชนตั้้งแต่ยุคนั้นจนถึงปัจจุบัน
ในยุคสมัยที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ การติดต่อสื่อสารระหว่างนายสถานีรถไฟ ใช้โทรเลขส่งเป็นรหัสมอส มีวิทยุติดต่อสื่อสารถึงกัน และมีการใช้เครื่องตราทางสะดวก ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการจัดการเดินรถระหว่างสถานี
เครื่องตราทางสะดวกในยุคดั้งเดิม
ปกติแล้วนายสถานีจะต้องตรวจสอบทางสะดวกก่อนปล่อยขบวนรถออกจากสถานี เพื่อไม่ให้รถไฟชนกันหรือการเดินรถติดขัด สมัยก่อนจะใช้วิธีเคาะระหัสทางสะดวกระหว่างสถานี ผ่านเครื่องตราทางสะดวก จากสถานีหนึ่งไปอีกสถานี
ถ้าง่ายสุด พนักงานรถไฟจะโทรศัพท์หรือโทรเลขสอบถามสถานีข้างเคียงว่า ทางที่ขบวนรถจะไปนั้นมีขบวนรถกีดขวางหรือไม่ ถ้าไม่มีก็สามารถออกตั๋วทางสะดวกแก่พนักงานขับรถได้เลย
หมวกนายสถานีรถไฟ ยุคแรกๆ ทำจากหนังช้าง
ในสมัยก่อนพนักงานรถไฟจะต้องส่งสัญญาณด้วยการเคาะเครื่องทางสะดวก เป็นสัญญาณกระดิ่งสอบถามสถานีข้างเคียง หากสถานีข้างเคียงตอบกลับมาว่า “ขบวนรถจะถึง” เจ้าหน้าที่จะดึงมือจับเครื่องทางสะดวก บิดไปที่ตำแหน่ง “ขบวนรถออกแล้ว” เพื่อให้ลูกตราหรือเหรียญตราหล่นออกจากเครื่อง และะลูกตรานี้จะต้องส่งมอบให้พนักงานรถจักร เสมือนว่าเป็นสัญญาณอนุญาตให้ขบวนรถผ่านเข้าสู่ทางช่วงที่ระบุได้
และตราทางสะดวกนี้จะไม่สามารถออกใหม่ได้ ถ้าขบวนรถนั้นๆ ยังไม่ได้ส่งคืนตราให้สถานีถัดไป ดังนั้นตราทางสะดวกจึงเป็นหลักประกันว่าไม่มีขบวนรถใดอยู่ในทางระหว่างสถานีมากกว่าหนึ่งขบวน
ในปัจจุบันระบบตราทางสะดวกได้รวมเข้าเป็นหนึ่งกับแผงควบคุมแบบรีเลย์และแบบคอมพิวเตอร์
จำตั๋วรถไฟรุ่นหนานี้ได้ไหม แบบอย่างมาจากประเทศในยุโรป
ส่วนเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่อยากเล่าอีกนิด ก็คือ ชื่อย่อสถานี ที่ใช้ตัวย่อเยอะมาก เพราะในอดีตการติดต่อสื่อสาร ถ้าเขียนชื่อเต็มๆ ต้องใช้เวลาเคาะโทรเลขเยอะ จะเพิ่มค่าใช้จ่าย อาทิ กท.-ตช.(จากสถานีกรุงเทพ-ชุมชนตลิ่งชัน ) กท.-ดม.(กรุงเทพ-ดอนเมือง)และทส.-กต. (ชุมชนทุ่งสง-กันตัง) ฯลฯ
ส่วนตั๋วโดยสารรถไฟที่ใช้ในอดีต กลายเป็นของสะสมที่มีราคา มีความหนาประมาณ 0.6 - 0.8 มม. กว้าง 30.5 มม. และยาว 57 มม.ผิวหน้าหลังเรียบลื่นและมีความแข็งแรงเพียงพอ ไม่หักงอง่ายๆ
ตั๋วรถไฟหนารูปแบบดั้งเดิมมีต้นแบบมาจากประเทศในยุโรป เช่น อังกฤษ เยอรมัน ตั๋วทุกใบจะมีการพิมพ์คำว่า The state Railway of Thailand
แต่ปัจจุบันการรถไฟฯ ได้นำระบบการจำหน่ายตั๋วด้วยคอมพิวเตอร์มาใช้งาน จึงได้ยกเลิกการใช้ตั๋วหนา
......................
-จากกิจกรรมและภาพถ่าย KTC Press club ตอน The Secret of พระนคร ตอนเริงพระนครตะลอนสยามอารยะ /ผู้ให้ข้อมูล ร.ต.ปิติพนธ์ ศรีอุ้มสุข พนักงานการเดินรถ 6 งานรถโดยสารฝ่ายบริการโดยสาร แฟนพันธ์แท้รถไฟไทย 2013 และอ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก เพจทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย
-พิพิธภัณฑ์รถไฟไทย ณ สถานีรถไฟกรุงเทพ เปิดให้ชมทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-17.00 น. ไม่เสียค่าใช้จ่าย เบอร์ติดต่อ 082 219 2194
ของใช้บนรถไฟในสมัยก่อน
ของเก่าเล่าเรื่องรถไฟไทย
ป้ายเตือนให้ระวังเวลาใช้บริการรถไฟไทยในอดีต
ริมหน้าต่างเวลารับประทานอาหารบนรถไฟ
จัดแสดงพระเก้าอี้ในสมัยรัชกาลที่ 7
สถานีกรุงเทพฯ