“หอมนสิการ” ท่องเที่ยวสายธรรม..กราบสักการะพระพุทธองค์
“หอมนสิการ” แหล่งท่องเที่ยวสายธรรม ชมนิทรรศการพุทธประวัติในรูปแบบแสงสีเสียง ผสานงานเพ้นท์ติ้งและประติมากรรม ตั้งอยู่เบื้องหน้าภูเขาพระพุทธบาทน้อย อ.แก่งคอย สระบุรี สร้างโดย “มูลนิธิโนอิ้ง บุดด้า”
โครงการ หอมนสิการ เกิดขึ้นตามดำริของ อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล ประธานมูลนิธิโรงเรียนแห่งชีวิต และ มูลนิธิโนอิ้ง บุดด้า เพื่อการปกป้องพระพุทธศาสนา
ขนาดพื้นที่ 7.4 ไร่ ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี มีฉากหลังเป็นภูเขาหินปูน ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ ภายในจำลองเส้นทางเดินของพระพุทธเจ้า ในรูปแบบนิทรรศการร่วมสมัย ที่จะดึงผู้เข้าชมให้เหมือนย้อนเวลาไปที่อินเดีย เมื่อ 2,500 ปีก่อน
หอมนสิการ
หอมนสิการประกอบด้วย 2 กลุ่มอาคาร คือ 1 อาคารหอมนสิการ แบ่งเป็นส่วนนิทรรศการและหอจัตุรัส ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อสักการะบูชา
2 อาคารนิทรรศการ Spiritual Life แสดงคำสอนของพระบรมศาสดา นิทรรศการโนอิ้ง บุดด้า และห้องฝึกนั่งสมาธิ คาเฟ่ Market Place ร้านขายสินค้าชุมชนและสินค้าโดยผู้ปฏิบัติธรรม มุม Snack and Nap เป็นที่ผ่อนคลายกึ่ง Outdoor
สู่เส้นทางเดินของพระพุทธองค์
ผู้เข้าชมหอมนสิการ (ครั้งละ 5-8 คน) จะได้รับหูฟัง (เลือกภาษาไทยหรืออังกฤษ) บรรยายห้วงเวลาต่าง ๆ จากพุทธประวัติ เรียกว่า เส้นทางเดินของพระพุทธเจ้า (The Buddha’s Path: An Exhibition Passageway) ฝั่งขาเข้า ชมพระพุทธประวัติในรูปแบบนิทรรศการร่วมสมัย (Journey to the Life of Buddha)
ส่วนนั่งพักจิบกาแฟก่อนเข้าชมหอมนสิการ
ผู้ชมจะย้อนเวลาสู่สมัยพุทธกาล เล่าเรื่องของเจ้าชายสิทธัตถะ ค้นพบวิถีแห่งความเสียสละกว่าที่พระพุทธองค์จะทรงบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า ที่จะปลุกจิตสำนึกในธรรมแท้ ผ่านการจัดแสดงแบบ Interactive เป็นครั้งแรกในประเทศไทย
เส้นทางเล็ก ๆ แสงสลัว...ผู้เข้าชมจะเหมือนเดินอยู่ในอุโมงค์ย้อนเวลา แล้วเสพงานศิลปะร่วมสมัย ภาพ แสง สี เสียงบรรยาย และวิดีโอสื่อผสมระดับภาพยนตร์ ให้ได้ซึมซับผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 พาย้อนสู่ครั้งพุทธกาล
ส่วนไฮไลท์คือ ห้องพุทธกาล ช่วงที่ 5 กล่าวถึงการ “หนี” จากพระราชวังเพื่อออกผนวช บำเพ็ญเพียรค้นหาทางรอดจากกงล้อแห่งวัฏสงสาร กับช่วงที่ 6 “การทรมานร่างกายครั้งประวัติศาสตร์” จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้ง (เสมือนจริง) พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ตามความเชื่อในแบบลัทธิดั้งเดิม จนพระวรกายผ่ายผอม เพื่อค้นหาธรรมแห่งการหลุดพ้น
หอจัตุรัสหรือ "หอกราบ"
เมื่อเดินถึงจุดภายในสุด (ฝั่งขาเข้า) จะพบกับ หอจตุรัส ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อการสักการะ ที่จะทำให้ผู้มาเยือนเดินทางกลับไปแบบไม่ว่างเปล่า แต่จะได้ข้อคิดในหลักการดำรงชีวิต เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญาที่พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้ทางไว้
ดร.คฑา ชินบัญชร ชมส่วนนิทรรศการของมูลนิธิโนอิ้ง บุดด้า
ภายใน หอจัตุรัส ตกแต่งด้วยสีทองตัดกับผ้าไหมสีแดง ประดิษฐาน พระบรมโลกนาถ พระพุทธรูปขนาดหน้าตัก 30 นิ้ว ปิดทองคำบริสุทธิ์งดงามผุดผ่อง โดยหนึ่งในมวลสารที่ใช้หล่อพระพุทธรูป คือ มวลสารดินจากกุสินารา และทองคำบริสุทธิ์ ซึ่งพิธีเททองหล่อพระจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ บริเวณหน้าหอมนสิการ
องค์พระบรมโลกนาถ เป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบอินเดีย ที่มีลักษณะเสมือนจริงกับมนุษย์ เพื่อให้ผู้บูชาสามารถน้อมจิตได้ใกล้ชิดพระพุทธองค์ในแบบกายเนื้อมนุษย์มากยิ่งขึ้น พระพักตร์มีความงดงามและสงบเย็น พระเนตรเปี่ยมด้วยความเมตตา ยังความสงบเมื่อได้มอง
ด้านซ้ายมือประดิษฐานองค์พระบรมสารีริกธาตุ ที่เสด็จมาด้วยพุทธปาฏิหาริย์ใน 3 วาระ รวมทั้งสิ้น 18 พระองค์
ภาพปักพระบรมโลกนาถ
ด้านขวาจัดวางภาพปักพระบรมโลกนาถ ที่ปักโดย สุวลักษณ์ เสนานุช มีขนาดความกว้าง 67.2 ซม. สูง 85.6 ซม. จำนวนฝีเข็มกว่า 651,000 ฝีเข็ม ใช้ไหมทั้งหมด 49 สี โดยปักครั้งละ 3 เส้น (ปกติทั่วไปจะใช้ 2 เส้น) มีความหมายคือ พระรัตนตรัย เส้นที่ 1 แทนพระพุทธ เส้นที่ 2 แทนพระธรรม และเส้นที่ 3 แทนพระสงฆ์ ซึ่งผู้ปักภาพบริกรรม คำว่า “นิพพาน” ทุกฝีเข็ม และถือศีล 8 ตลอดระยะเวลาการปัก 8 เดือน
เส้นทางเดินออกเพื่อเข้าใจถึงการใช้ชีวิต
เมื่อกราบสักการะพระบรมโลกนาถในหอจัตุรัสแล้ว ผู้ชมจะเดินผ่านเส้นทางนิทรรศการขาออก (สวมหูฟังอีกครั้ง) กลับสู่ยุคปัจจุบัน ให้พิจารณาการใช้ชีวิตบนเส้นทางแห่งความดีงาม รวมเวลาประมาณ 15 นาที (ไม่นับช่วงกราบพระที่หอจัตุรัส ซึ่งบางคนอาจใช้เวลานาน)
สถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายใน
หอประดิษฐานพระบรมโลกนาถ พระพุทธรูปองค์สีทอง ขนาดหน้าตัก 30 นิ้ว ตลอดจนพระบรมสารีริกธาตุที่เสด็จมาต่างวาระ 18 พระองค์ และ ภาพปัก พระบรมโลกนาถ รูปแบบสถาปัตยกรรมแรกเริ่มทั้งภายนอกและภายใน ออกแบบโดย อ.อัจฉราวดี วงศ์สกล
โดยต้องการให้ตัวอาคารมีความร่วมสมัย ไม่เป็นแนวประเพณีจนเกินไป ยอดหลังคาได้แรงบันดาลใจมาจากโบสถ์วัดพุทธไธศวรรย์ จ.อยุธยา เป็นศิลปะอยุธยาตอนต้น ผสมผสานศิลปะแบบขอม ด้านหน้าอาคารมีกันสาด ลวดลายอาคารแบบนีโอคลาสสิก
ภายในอุโมงค์
ทางเดินด้านในช่วงนิทรรศการเป็นอุโมงค์โค้งมน แบบอุโมงค์ทางเดินริมฝั่งแม่น้ำ Arno ด้านหน้าของ Uffizi Museum ที่ฟลอเรนซ์ อิตาลี
นอกจากนี้ได้เชิญ คุณนาคนิมิตร สุวรรณกูฏ ซึ่งเป็นทายาทของศิลปินชั้นครู อ.ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ มาออกแบบลวดลายสถาปัตยกรรม และให้คำปรึกษาตกแต่งภายใน คุณนาคนิมิตร ผูกลวดลายตัวอาคารให้มีความเป็นสากล โดยการผสมผสานลวดลายสไตล์อินเดีย สไตล์วิกตอเรีย และสุโขทัย เพื่อให้มีรูปแบบเฉพาะของมนสิการ
อ.อัจฉราวดี บอกว่า “ทุกขั้นตอนของโครงการ ตั้งแต่แนวคิด รูปแบบ ไปจนถึงวัสดุการก่อสร้าง ดีไซน์ ทั้งภายนอกและภายใน ผ่านการพิจารณาอย่างละเอียดและเข้มงวด รวมทั้งเดินทางไปดูสถาปัตยกรรม โบราณสถานที่เมืองชัยปุระ ประเทศอินเดีย เพื่อนำมาเป็นแนวคิดในการออกแบบหอมนสิการ
นิทรรศการของมูลนิธิโนอิ้ง บุดด้า
ความต้องการคือเมื่อผู้เข้าชมได้เห็นและก้าวเข้ามาในบริเวณนี้ จะสัมผัสได้ทันทีถึงความสง่างามและความร่วมสมัย ที่น้อมใจของผู้ที่ได้พบเห็นเกิดความนอบน้อมต่อพระบรมศาสดาอย่างสูงสุด”
พิธีสมโภชหอมนสิการ
กว่าจะเป็น “หอมนสิการ”
คุณจิระวุฒิ ศิริจันทร์ อดีตช่างภาพนิตยสาร IMAGE หนึ่งในคณะทำงานถ่ายภาพและผลิตภาพยนตร์สั้น และ “ป้าดา” (ดารณี ศรีโท) ผู้จัดการ หอมนสิการให้ข้อมูลว่า
“แรกเริ่มเกิดจากวิปัสสนาจารย์ อ.อัจฉราวดี วงศ์สกล อยากจะสร้างสถานที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและสายธรรมะ โดยใช้นวัตกรรมสร้างแสงสีเสียง อาจารย์บอกว่าเราอยู่ในยุคดิจิทัล จึงอยากสร้างให้เป็นงานศิลปะร่วมสมัยให้เข้าถึงง่าย
ประติมากรรมพระพุทธเจ้าบำเพ็ญทุกกรกิริยา
เช่นภาพถ่ายจากคนจริง เป็นภาพนิ่งและภาพยนตร์สั้น มีทีมโปรดักชั่น คอสตูม ม้าจริง ๆ (เจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช) หุ่นขี้ผึ้งใช้เวลาทำเกือบปี ปรับแก้นับสิบรอบ
ในคอนเซปต์ว่า เข้าใจศาสนาพุทธภายในเวลา 15 นาที ระหว่างทางเดินเข้าและออก เพราะธรรมะคือธรรมชาติ อยากให้คนที่เข้าชมเข้าใจถึงหลักความเป็นจริงของชีวิต หลายคนที่เข้าชมแล้วบอกว่า...ธรรมะที่จริงง่ายขนาดนี้
ใช้งบประมาณ 40 ล้านบาท ไม่รวมที่ดิน ซึ่งได้จากเงินบริจาคของมูลนิธิ กับทรัพย์ส่วนตัวของ อ.อัจฉราวดี วงศ์สกล ที่ค่อย ๆ เก็บสะสมหลายปี จึงใช้เวลาถึง 5 ปี กว่าจะสร้างเสร็จ
The Harmony Tearoom
ส่วนห้องอาหารพิมพิมาน และห้องอาฟเตอร์นูนที (The Harmony Tearoom) เป็นส่วนของโรงแรม ซึ่งมาเช่าที่ดินประมาณ 7 ไร่ อยู่ติดกัน แต่เป็นโรงแรมที่ตรงกับคอนเซปต์ของเรา คือเป็นที่พักที่ไม่มีทีวี (ตอนนี้ยังไม่เปิด) เป็นห้องพัก แบบกระท่อมก็มี ใครมาอยากจะมาชาเลนจ์หน่อยก็มีที่นอนแบบฟูก กางมุ้ง เหมือนสถานปฏิบัติธรรม
เป็ดอบซอสส้ม ห้องอาหารพิมพิมาน
ห้องอาหารพิมพิมาน
ปัจจุบัน อ.อัจฉราวดี วงศ์สกล ยังเปิดสอนปฏิบัติธรรม มีที่พักอยู่ด้านใน มีตั้งแต่ 1 วัน, 4 คืน 5 วัน, 7 คืน 8 วัน ไม่มีค่าใช้จ่าย
หอมนสิการ เกิดจากวัตถุประสงค์อยากทำสถานที่ท่องเที่ยวให้เป็นวัด ปกติเราไปไหนถ่ายรูปสวย ๆ แล้วกลับบ้าน แต่ที่นี่ไม่ใช่แค่ถ่ายรูป เราได้เรียนธรรมะ เข้าใจหลักธรรมในระยะเวลาอันสั้นมาก
อ.อัจฉราวดี วงศ์สกล
คนมาเที่ยวจะได้อะไรกลับไป มาดูแล้วจะเข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างน้อยเข้าใจถึงหลักคำสอน อย่างง่าย ๆ คือ ศีล 5 เป็นหลักปฏิบัติง่ายที่สุด แค่นั้น...ถ้าปฏิบัติได้ชีวิตเราจะเปลี่ยน บางคนมาดูซาบซึ้งก็มาต่อยอดไปนั่งสมาธิ ปฏิบัติธรรม จะช่วยให้จิตใจเราดีขึ้น”
หอมนสิการ 63/3 หมู่ 10 ต.สองคอน อ.แก่งคอย จ.สระบุรี
เปิด : อังคาร–ศุกร์ 10.00 - 17.00 น. / เสาร์-อาทิตย์ 09.30 - 18.00 น.
(หยุดทุกวันจันทร์)
ค่าเข้าชม : คนไทย 20 บาท ต่างชาติ 50 บาท
เด็ก นักเรียน นักศึกษา ผู้สูงวัย ผู้พิการ นักบวช เข้าฟรี (*ค่าเข้าชมเพื่อช่วยสนับสนุนค่าน้ำค่าไฟ)
โทร.09 5760 0885, FB: manasikarn.hall, www.manasikarn.com
แผนที่เดินทาง : https://maps.app.goo.gl/8EcesozVyF8E8efr8?g_st=ic