ไปเพื่อนอน! เทรนด์ใหม่การท่องเที่ยว เอาใจผู้มีปัญหาด้านการนอน

ไปเพื่อนอน! เทรนด์ใหม่การท่องเที่ยว เอาใจผู้มีปัญหาด้านการนอน

“การท่องเที่ยวเพื่อการนอนหลับ” (Sleep Tourism) เทรนด์ท่องเที่ยวใหม่มาแรงที่ได้รับความนิยมในยุคหลังโควิด-19 ทำให้โรงแรมหรูต่าง ๆ ออกแคมเปญเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้

เทรนด์ “การท่องเที่ยวเพื่อการนอนหลับ” (Sleep Tourism) กำลังเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เห็นได้จากตัวเลขการเข้าพักโรงแรมและรีสอร์ตทั่วโลกที่เน้นการนอนหลับมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้โรงแรมหรูหลายแห่งหันมาจับเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้ที่มีภาวะขาดการนอนหลับ (sleep-deprivation) หรือ การนอนหลับไม่เต็มอิ่ม มากยิ่งขึ้น

ปี 2564 ที่ผ่านมา Park Hyatt New York โรงแรมระดับ 5 ดาว ใจกลางมหานครนิวยอร์ก ได้เปิดตัว Bryte Restorative Sleep Suite ห้องสวีทขนาด 900 ตารางฟุต ที่เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการนอนหลับโดยเฉพาะ ขณะที่เครือ Rosewood Hotels & Resorts เชนโรงแรมหรูซึ่งมีที่พักใน 16 ประเทศทั่วโลกก็ได้จัดแพ็คเกจ Alchemy of Sleep ออกแบบสำหรับการพักผ่อนอย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะ

ขณะที่อังกฤษก็มี Zedwell โรงแรมเพื่อการนอนหลับแห่งแรกของกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เปิดตัวในปี 2563 

ส่วน Hastens บริษัทผลิตเตียงและอุปกรณ์เพื่อการนอนหลับสัญชาติสวีเดน เปิดตัว Hästens Sleep Spa Hotel โรงแรมสไตล์บูติกขนาด 15 ห้อง ในโปรตุเกส เมื่อปี 2564 เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวสายนอนโดยเฉพาะ

ทำไมการนอนหลับจึงกลายเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญของการท่องเที่ยวในปัจจุบัน?

รีแบคกา ร็อบบินส์ นักวิจัยด้านการนอนหลับ ให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่า “ที่จริงทุกคนรู้อยู่แล้วว่า เราจองโรงแรมเพื่อสำหรับเป็นที่พักระหว่างท่องเที่ยว แต่ว่าเราให้ความสำคัญกับการวางแผนท่องเที่ยว กิจกรรมที่ต้องทำ ชิมอาหารร้านดัง มากกว่าการนอนหลับพักผ่อน แต่ตอนนี้เราให้ความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่มากขึ้น"

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกมีส่วนอย่างมากต่อการนอนหลับของผู้คน จากผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Journal of Clinical Sleep Medicine วารสารวิชาอายุรศาสตร์การนอนหลับ พบว่า 40% ของผู้ใหญ่กว่า 2,500 คนที่เข้าร่วมการศึกษาระบุว่า คุณภาพการนอนหลับของพวกเขาลดลงตั้งแต่เริ่มต้นการระบาดใหญ่

ร็อบบินส์กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผู้คนกลับมาให้ความสำคัญกับการนอนหลับมากขึ้นตั้งแต่ในยุคโควิด เนื่องจากประสบปัญหากับการนอนหลับมากยิ่งขึ้น”

ขณะที่ มัลมายเดอร์ กิลล์ นักสะกดจิตบำบัดและโค้ชด้านสุขภาพแบบองค์รวมตั้งข้อสังเกตว่าผู้คนมีทัศนคติต่อการนอนหลับที่เปลี่ยนไป 

“ทุกคนต่างหวังจะมีชีวิตยืนยาว จึงหันมาให้ความสำคัญกับการนอนหลับที่เป็นสิ่งสำคัญในชีวิต เพราะการอดนอนทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ทั้งสุขภาพกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน เซ็ง และความเหนื่อยล้า”

กิลล์และ Cadogan โรงแรมในเครือ Belmond Hotel ในกรุงลอนดอน ได้ร่วมกันสร้างบริการพิเศษเรียกว่า Sleep Concierge สำหรับลูกค้าที่มีปัญหาด้านการนอนหลับ โดยจะเปิดเสียงต่าง ๆ เพื่อสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมแก่การนอนหลับ มีหมอนให้เลือกตามท่านอนที่ถนัด ไม่ว่าจะเป็นการนอนหงาย หรือนอนตะแคงเพื่อรองรับสรีระของผู้นอน ตลอดจนเลือกน้ำหนักของผ้าห่มเพื่อให้พอดีกับร่างกาย ไม่ให้รู้สึกหนักเกินไปได้อีกด้วย รวมถึงมีบริการชาก่อนนอนที่เป็นสูตรพิเศษที่คิดค้นขึ้นโดยเฉพาะ และมี Pillow Mist เครื่องหอมเพื่อการบำบัดที่จะทำให้หลับสบายยิ่งขึ้น

“แต่ละคนล้วนมีความชื่นชอบที่แตกต่างกันไป ดังนั้นเราจึงมีตัวเลือกที่หลากหลาย ให้เหมาะสมกับการนอนของทุกคน เพื่อที่จะให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์ที่ดีที่สุด ไม่มีโปรแกรมใดโปรแกรมหนึ่งที่เหมาะสมกับทุกคน” กิลล์กล่าวสรุป

เครือโรงแรม Six Senses โรงแรมสุดหรูที่มีอยู่ทั่วโลก จัดโปรแกรมเพื่อการพักผ่อนอย่างเต็มที่ให้ลูกค้าสามารถเลือกเข้าพักได้ในทุกโรงแรมในเครือทั่วโลก พร้อมทั้งบริการสปาเต็มรูปแบบ ที่มีให้เลือกตั้งแต่ 3-7 วัน ขณะที่ Brown's Hotel โรงแรมในเครือ Rocco Forte Hotels ในกรุงลอนดอน เปิดตัว Forte Winks โปรแกรมที่ช่วยให้แขกที่มาพักได้รับประสบการณ์การนอนหลับอย่างเงียบสงบ

“การนอนหลับมีความสำคัญมาก และเราสังเกตเห็นว่าการท่องเที่ยวเพื่อการนอนหลับและความเป็นอยู่ที่ดีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก หลังจากล็อกดาวน์และโควิด-19 ดังนั้นเราจึงใช้โอกาสนี้แสดงให้ลูกค้าเห็นว่าโรงแรมของเราให้ความสำคัญกับการนอนหลับอย่างที่สุด” แดเนียลา มัวร์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ Rocco Forte Hotels อธิบาย

กิลล์มองว่าการท่องเที่ยวเชิงนอนหลับกำลังเปลี่ยนความคิดเดิมของผู้คนที่มักคิดว่าจะต้องอดหลับอดนอนเพื่อท่องเที่ยวให้ได้มากที่สุด และผู้คนกำลังเข้าใจว่าการนอนหลับนั้นมีความสำคัญมากเช่นใด

แล้วการท่องเที่ยวเชิงนอนหลับที่มอบประสบการณ์การพักผ่อนอย่างเต็มอิ่มเพียงไม่กี่คืนจะส่งผลต่อการนอนหลับในระยะยาวของเราเหรือไม่?

ร็อบบินส์กล่าวว่า การสร้างแพ็คเกจเกี่ยวกับการนอนหลับของโรงแรมต่าง ๆ นั้น นอกจากโรงแรมจะต้องเตรียมสิ่ง ๆ เพื่อช่วยให้การนอนหลับของผู้เข้าพักดีขึ้นแล้ว จะต้องประสานกับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ในการวินิจฉัยว่ามีความผิดปรกติในการนอนหลับหรือไม่

“ถ้ามีแขกที่ใช้โปรแกรมเหล่านี้แล้วยังมีปัญหาเรื่องการนอนหลับอยู่ อาจสงสัยได้แล้วว่า เขาเหล่านั้นมีภาวะต่าง ๆ ที่ยังตรวจไม่พบอยู่ เช่น โรคนอนไม่หลับ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่โรงแรมจะต้องร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อออกแบบโปรแกรมอย่างรัดกุม”

โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ในกรุงเจนีวา ก้าวไปอีกขั้นด้วยการร่วมมือกับ CENAS คลินิกการนอนทางการแพทย์ส่วนตัวในสวิตเซอร์แลนด์ จัดโปรแกรมสามวันที่ศึกษารูปแบบการนอนของแขก เพื่อระบุความผิดปกติของการนอนหลับที่อาจเกิดขึ้นได้

แม้ว่าสถานประกอบการและโปรแกรมที่เน้นเรื่องการนอนหลับส่วนใหญ่มักจะอยู่ในกลุ่มโรงแรมหรูหรา แต่ร็อบบินส์เชื่อว่าโรงแรมและรีสอร์ตทุกระดับควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอันดับแรก

“อันที่จริงสถานประกอบการทุกระดับสามารถให้ความสำคัญกับการนอนหลับได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายมากนัก เช่น การวางที่อุดหูไว้บนหัวเตียง แค่นี้ก็ช่วยแขกที่มาพักนอนหลับได้ดีขึ้นแล้ว” 

แม้ว่าการท่องเที่ยวเพื่อการนอนหลับเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่ร็อบบินส์ยังคงตั้งตารอที่จะเห็น การพัฒนาและการสร้างสรรค์โปรแกรมเกี่ยวกับการพักผ่อนแบบครบวงจร และยังกล่าวว่ายังมีอีกหลายวิธีที่จะผสานการท่องเที่ยวและศาสตร์แห่งการพักผ่อนเข้าด้วยกัน


ที่มา: CNN, Wionews