จัดประเพณี มะพร้าวลอยเคราะห์ "ลอยกระทง 2565"
"ลอยกระทง 2565" ครั้งแรกรอบ 200 ปี ชาวคุ้งตะเภา ขนกะลาเข้าวัดสืบสานประเพณี ลอยกระทงลอยเคราะห์ ให้ลูกหลานลอยท่าน้ำวัด
จัดงาน "ลอยกระทง 2565" ที่ลานวัดคุ้งตะเภา อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มแม่บ้านตำบลคุ้งตะเภา ต่างขะมักเขม้น แบ่งหน้าที่อย่างลงตัวและความถนัด ประดิษฐ์กระทงกะลามะพร้าวทำมือ เพื่อนำถวายวัดคุ้งตะเภา ในงาน “สืบสานประเพณี ลอยกระทงกะลามะพร้าวลอยเคราะห์ ท่าน้ำวัดคุ้งตะเภา” ปี 2565 ในวันเพ็ญเดือนสิบสอง ตรงกับวันที่ 8 พ.ย. 2565
นายรุ่งศักดิ์ เลี้ยงประเสริฐ นายกเทศมนตรีตำบลคุ้งตะเภา กล่าวว่า วัดคุ้งตะเภาเป็นวัดโบราณมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และมีแม่น้ำน่านไหลผ่าน งาน “สืบสานประเพณีลอยกระทงกะลามะพร้าวลอยเคราะห์ท่าน้ำวัดคุ้งตะเภา” ปี 2565 เป็นครั้งแรกรอบ 252 ปี หลังวัดได้รับสถาปนาขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อปี 2313 พี่น้องประชาชนต่างตื่นเต้น พร้อมใจจัดหากะลามะพร้าว รวบรวมขนเข้าวัด เพื่อส่งต่อให้ผู้สูงอายุ กลุ่มแม่บ้านประดิษฐ์กระทงกะลา ขณะนี้ยอดกว่า 10,000 ใบแล้ว
งาน “สืบสานประเพณีลอยกระทงกะลามะพร้าวลอยเคราะห์ท่าน้ำวัดคุ้งตะเภา” ปี 2565 เกิดจากแนวคิดเป็นหนึ่งเดียวของชาวตำบลคุ้งตะเภา มี พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา ให้คำปรึกษา โดยเห็นกะลามะพร้าวที่ชาวบ้านได้นำมาประกอบอาหารและขนม สุดท้ายต้องนำมาเผาไฟทิ้ง จึงเปลี่ยนมาเป็นกระทงแทนต้นกล้วย ทำความสะอาด ขัดให้เกิดความเงางาม และนำเศษเทียนพรรษาจากวัดต่างๆมาต้มให้ละลายนำฝ้ายดิบมาปั่นเป็นลักษณะคล้ายกับตีนกา เพื่อใช้นำมาเป็นไส้มาใส่ในกระทงกะลา ไม่ต้องเผา ไม่ต้องทิ้ง ลดภาวะโลกร้อน
กระทงกะลามะพร้าว ขณะนี้รวบรวมได้กว่า 10,000 ใบ นำถวายวัดคุ้งตะเภาเป็นพุทธบูชา ให้พระสงฆ์ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาก่อนนำกระทงดังกล่าวไปลอยท่าน้ำน่านวัดคุ้งตะเภา นอกจากจะเป็นการขอขมาพระแม่คงคาแล้ว ยังเป็นการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาอายุ สิ่งไม่ดีต่างๆ ให้ไหลไปกับสายน้ำ มีแสงไฟสว่างไสวนำทางสิ่งดีๆ ชีวิตเจริญก้าวหน้า และให้ลูกหลาน คนรุ่นใหม่ได้เข้าวัดทำบุญ บำรุงพุทธศาสนา
ทั้งนี้ เทศบาลตำบลคุ้งตะเภา กำหนดจัดงาน ระหว่างวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2565 “กระทงกะลาลอยเคราะห์” โดยมีกระทงกะลาให้บูชา ร่วมลอยที่ท่าน้ำน่านวัดคุ้งตะเภา ที่ประดับประดาด้วยไฟหลากสีสันเป็นทางเดินไปสู่ท่าน้ำเพื่อลอยกระทงกะลา