อุทยานธรณีโคราช....กับการได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรณี
‘อุทยานธรณีโคราช’ กับการได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรณี เมื่อบ้านเราถูกนานาชาติเขายกย่องให้มีคุณค่าในระดับโลกอย่างนี้ ก็อยากจะเชิญชวนให้คนไทยเจ้าของประเทศ ได้ออกเดินทางไปชื่นชมด้วยกัน จะได้ภาคภูมิใจว่านี่แหละคือบ้านเรา คือเมืองไทยขงเรา
ต้องแสดงความยินดีกับ อุทยานธรณีโคราช หรือ โคราชจีโอปาร์ค (Khorat Geopark) ที่คณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ได้มีมติรับรองให้ "โคราชจีโอปาร์ค" เป็น อุทยานธรณีโลก เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2566 จากการประชุมครั้งที่ 216 ที่ผ่านมา
จึงส่งผลให้บ้านเรา มี อุทยานธรณีระดับโลก เป็นแห่งที่ 2 ต่อจากอุทยานธรณีสตูล ซึ่งได้รับการรับรองไปเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมาซึ่ง UNESCO Global Geopark ปัจจุบันมี 195 แห่ง ใน 48 ประเทศทั่วโลก อุทยานธรณีโคราชเป็นแห่งที่ 183
ซึ่งอุทยานธรณีนี้เขาจะมีหลายลำดับโดยไล่ไปตั้งแต่อุทยานธรณีระดับท้องถิ่น อุทยานธรณีระดับจังหวัด อุทยานธรณีระดับประเทศ และอุทยานธรณีระดับโลก ซึ่งแต่ละลำดับ เขาก็จะมีกฎเกณฑ์ มีมาตรฐานของเขามากำหนด และอุทยานธรณีโคราชก็ผ่านเกณฑ์มาจนถึงระดับโลกดังในข่าว
แผนภาพแสดงตำแหน่งยอดเขาบนเควสตาโคราชมองไปทางทิศเหนือ(ภาพ...อุทยานธรณีโคราช)
- อุทยานธรณีระดับโลก
อุทยานธรณีโคราช หรือ Geopark ในนิยามของ UNESCO และ กรมทรัพยากรธรณี ของเราเอามาเผยแพร่คือ พื้นที่ที่ประกอบด้วย แหล่งธรณีวิทยาหรือแหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยา ที่เป็นที่รู้จักหรือมีชื่อเสียง แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาและแหล่งธรณีวิทยา รวมทั้งแหล่งด้านโบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม
นี่คือที่เขานิยามอย่างเป็นทางการ ซึ่งอ่านแล้วอาจจะงงๆ ซ้ำไปซ้ำมา ผมสรุปอย่างนี้ครับ อุทยานธรณี คือ พื้นที่ที่มีความโดดเด่นทางธรณีซึ่งอาจครอบคลุมไปถึงแหล่งโบราณคดี แหล่งธรรมชาติรวมทั้งผู้คน วัฒนธรรม หรือรวมหมดทุกสิ่งอย่างในพื้นที่ที่กำหนด
ดังนั้นจึงจะเห็นว่าการประกาศพื้นที่เป็นอุทยานธรณีมันจะครอบคลุมหมู่บ้านบ้าง ชุมชน ป่าเขา อุทยานแห่งชาติ ถนนหนทาง คลุมไปหมด แต่ไม่ใช่ว่าอยากจะประกาศตรงไหนก็ประกาศ หากแต่พื้นที่นั้นต้องมีความโดดเด่นในด้านต่างๆ อย่างที่บอกมาด้วย
ภูเขารูปอีโต้ มองจากวัดป่าภูผาสูง
- ความโดดเด่นของโคราชจีโอปาร์ค
ในส่วนของ อุทยานธรณีโคราช นั้นจะครอบคลุมพื้นที่ใน 5 อำเภอคือ สีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เมืองนครราชสีมา และเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมีความโดดเด่นของพื้นที่กระจายกันอยู่โดยทั่ว และเป็นไปตามนิยามของ ยูเนสโก้ ทุกแขนง
ในด้านทางธรณีนั้น สิ่งที่เขาชูขึ้นมา ก็คือลักษณะภูมิประเทศแบบเควสตา (Cuesta) ซึ่งภูเขารูปทรงแบบนี้ จะคล้ายกับมีดอีโต้หัวตัด คือเอียงหักสั้นไปด้านหนึ่งเหมือนหัวมีด ส่วนด้านหลังจะค่อยๆ ลาดลงคล้ายตัวมีด
ภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ที่วัดเขาจันทร์งาม
สภาพของบริเวณภาพเขียนสีวัดเขาจันทร์งาม..
ซึ่งผมว่าท่านผู้อ่านก็คงคุ้นตากัน เพราะมีภูเขารูปทรงอย่างนี้กระจายกันอยู่ทั่วไปในภาคอีสานโดยเฉพาะช่วงรอยต่อแผ่นดินภาคกลางกับภาคอีสาน เห็นเยอะมาก ซึ่งเป็นภูมิประเทศแบบเควสต้าอย่างที่บอก แต่ที่นี่จะโดดเด่นกว่านั้นอีกคือ จะมีแนวเขาที่มีลักษณะเป็นเขารูปอีโต้นี้ 2 แนว ตีคู่ขนานไปด้วยกัน ปรากฏเป็นภูเขาทรงมีดอีโต้นี้กว่า 20 ลูก
ด้วยเพราะภูมิประเทศแบบนี้ซึ่งไม่ได้มีบ่อย เขาจึงเป็นชื่อเฉพาะว่า ‘เควสตาโคราช (Khorat Cuesta)’ ซึ่งท่านผู้อ่านลองขึ้นไปพิสูจน์กันดูได้บนอ่างเก็บน้ำที่มีใบพัดยักษ์ที่เขายายเที่ยง หรือที่บนวัดป่าภูผาสูง จะเห็นภูเขาทรงหัวตัดนี้เรียงรายกันดูสวยงามมาก ซึ่งมันก็ดูมหัศจรรย์จริงๆ ถ้าว่ากันในแง่ของภูมิประเทศ
รอยเฉียงระดับ ที่วัดป่าภูผาสูง
ปราสาทพนมวัน ที่บูรณะแล้ว
นอกจากนั้น จากพื้นที่ที่มีแม่น้ำมูลเส้นทางเดิม และลำตะคอง ที่ไหลผ่านในพื้นที่ เราก็ไม่รู้ว่าแม่น้ำสองสายนี้มีที่มาที่ไปเมื่อกี่แสนกี่หมื่นปีมาแล้ว ในยุคนั้นก็มีสัตว์ที่ในยุคนี้ไม่มี พอสัตว์เหล่านั้นล้มตาย กระแสน้ำมันก็ได้พัดพาเอาเศษซากชิ้นส่วนของทั้ง ไดโนเสาร์ ทั้ง ช้างโบราณ และ สัตว์โบราณ ที่ไม่มีในโลกยุคนี้ ไปกองกันอยู่ในทางเดินน้ำเก่า
พอมาในปัจจุบัน ก็มีการขุดทรายในแม่น้ำเก่าเหล่านั้น ก็ไปขุดเจอเศษซากของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ขึ้นมา แล้วพบว่าเป็นชิ้นส่วนของไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลกถึง 4 สายพันธุ์ คือ
- 1. สิรินธรน่า โคราชเอนซิส (Sirindhorna khoratensis)
- 2. ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ (Ratchasimasaurus suranareae)
- 3. สยามโมดอน นิ่มงามมิ (Siamodon nimngami) และ
- 4. สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ (Siamraptor Suwati) รวมทั้งซากฟอสซิลของสัตว์โบราณอีกหลากหลายชนิด ซึ่งเราไม่เคยรู้ว่ามีมาก่อน และก็พบในย่านอุทยานธรณีโคราชนี้จริงๆ
เมืองเสมา เมืองประวัติศาสตร์สมัยทวาราวดี
ทั้งหมดนี้ถูกจัดแสดงใน พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน นครราชสีมา ซึ่งนอกจากจะจัดแสดงซากฟอสซิลของสัตว์ และไดโนเสาร์ชนิดต่างๆแล้ว ที่นี่เขายังรวบรวมไม้กลายเป็นหิน ทั้งแบบที่เราเคยเห็นทั่วๆไป และรูปแบบใหม่ๆ จากทั่วโลกมาจัดแสดงด้วย
ไม้กลายเป็นหินบางชนิดดูยังกะเป็นอัญมณี คือมันมีสีสัน มันสวยงาม ชนิดที่เห็นแล้วตะลึงกันเลยทีเดียว เขาจัดแสดงไว้รวมกันที่พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินโคราชครับ ไปเที่ยวชมกันได้
ไม้กลายเป็นหินที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
- มรดกโลกทางธรณี
ในส่วนของการเป็นแหล่งโบราณคดี เขานับรวมปราสาทหินพนมวัน ในเขต อ.เมือง เมืองเสมา และพระนอนสมัยทวารวดีที่สูงเนิน แหล่งหินตัดและภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ที่วัดเขาจันทร์งาม ในเขต อ.สีคิ้ว
ที่วัดเขาจันทร์งามนี้จะได้ในเรื่องของภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีเรื่องของหินทรายเช่นเดียวกันกับวัดหนองซาด ในเขต อ.สูงเนิน เช่นกัน ซึ่งจะเป็นการเรียนรู้ในเรื่องร่องรอยที่ปรากฏบนหินทรายนั้น บ่งบอกถึงที่มาของสิ่งแวดล้อมและปรากฏการณ์ของโลกเมื่อนับหมื่นนับแสนปีก่อนนี้
อีกรูปแบบหนึ่งของไม้กลายเป็นหิน
ปลาโบราณ ที่จัดแสดงในพิพธภัณฑ์
เวลาเราไปดูแหล่งอุทยานธรณีระดับโลกในต่างประเทศ จะมีความโดดเด่นด้านใดด้านหนึ่ง ที่มันยิ่งใหญ่ อลังการชัดเจนไปเลย เช่น ภูเขาหลากสีจางเย่ ที่มณฑลกันซู่ของจีน หรือเกาะเชจู ในเกาหลีใต้ ฯลฯ
แต่อุทยานธรณีโคราชนี้จะคลุกเคล้าผสมผสานกันไป ในแต่ละอย่าง แต่ละที่ ก็จะมีเรื่องราวของแต่ละแห่งที่โดดเด่น เมื่อนำมาเชื่อมร้อยรวมกัน ก็จะเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าเหมาะสมกับการได้เป็นอุทยานธรณีในระดับโลกจริงๆ ถ้าจะเปรียบว่าเป็นมรดกโลกทางธรณีก็คงไม่ผิด
ชิ้นส่วนของซากสัตวโบราณที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน โคราช
หน้าผาหินที่วัดป่าภูผาสูง
เมื่อบ้านเราถูกนานาชาติเขายกย่องให้มีคุณค่าในระดับโลกอย่างนี้ ก็อยากจะเชิญชวนให้คนไทยเจ้าของประเทศได้ออกเดินทางไปชื่นชมด้วยกัน จะได้ภาคภูมิใจว่านี่แหละคือบ้านเรา คือเมืองไทยของเรา