ชอนัน (Cheonan) : หมู่บ้านขนมปังเตาเผาหินโทจูรู / Cheonan K-Culture Expo 2023
เที่ยวเกาหลีเมืองรอง ชอนัน (Cheonan) เดินตามกลิ่นขนมปังที่ Tujuru bread stone Kiln village หมู่บ้านขนมปังเตาเผาหินโทจูรู บรรยากาศเหมือนเทพนิยาย สัมผัส Soft Power เกาหลีที่งาน Cheonan K-Culture Expo 2023
เรายังเที่ยวเกาหลีกันอยู่ทางตอนใต้ของกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ดินแดนที่มีชื่อว่า ชุงชองนัมโด (Chungcheongnam-do หรือจังหวัดชุงชองใต้) เดินทางท่องเที่ยวสำรวจ เมืองรอง ที่อาจยังไม่ค่อยคุ้นชื่อ
สัปดาห์ที่แล้วจากเมือง เซจง (Sejong) เราเดินทางต่อโดยใช้เส้นทางรถยนต์สู่เมือง ชอนัน (Cheonan) ใช้เวลาขับรถประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที ถนนหนทางสะดวกสบาย คุณภาพดี ไม่มีช่วงเหิน ไม่มีหลุมกลางถนน รถไม่ติดขัด ทิวทัศน์สองข้างทางส่วนใหญ่เป็นป่าไม้มองเห็นภูเขาเป็นระยะๆ สบายตา
ความจริง ชอนัน เป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญของเกาหลีมาโดยตลอด เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับกรุงโซล และทำเลที่ตั้งใกล้กับช่องว่างในเทือกเขาทางตะวันออก (เทือกเขา Charyeong) ที่ทำให้สามารถผ่านไปยังศูนย์กลางทางตะวันออกเฉียงใต้ได้โดยง่าย
แต่วันนี้ขอพาไปชมมุมน่ารักน่าอร่อยของ ‘ชอนัน’ ที่ Tujuru bread stone Kiln village หรือ หมู่บ้านขนมปังเตาเผาหินโทจูรู และงาน Cheonan K-Culture Expo 2023 งานรวม K-Culture สุดยิ่งใหญ่ของเกาหลี
หมู่บ้านขนมปังเตาเผาหินโทจูรู
ทางเดินเข้า Tujuru bread stone Kiln village
หากคุณเป็นแฟนตัวยงและมีความสุขกับการได้เห็นขนมสวยๆ น่ากิน ได้ชิมขนมหวานประเภทเบเกอรี่ ขนมเค้ก ขนมอบ ขนมปัง หลากหลายรูปลักษณ์ ตกแต่งสวยงามแปลกตา ที่สำคัญคือ ‘อร่อย’ คุณจะหลงรัก Tujuru bread stone Kiln village หรือ หมู่บ้านขนมปังเตาเผาหินโทจูรู ที่เมืองชอนัน
Kiln คือ ‘เตาเผาหิน’ หรือเตาเผาที่ทำด้วยหิน มีลักษณะโครงสร้างเป็นปล่องสี่เหลี่ยมหรือไม่ก็เป็นปล่องทรงกลม เป็นเตาอบประเภทหนึ่งที่คนโบราณใช้ภูมิปัญญาสร้างขึ้นด้วยมือและวัสดุธรรมชาติ ใช้กันมานานกว่าพันปี ทำความร้อนได้สูงในระดับที่สามารถเปลี่ยนดินเหนียวให้เป็นเครื่องปั้นดินเผา กระเบื้องและอิฐ รวมทั้งอบขนมปัง
‘เตาเผาหิน’ นี้เองที่เป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้านขนมปังแห่งนี้
ร้านขายไอศกรีมของ Tujuru bread stone Kiln village
Tujuru bread stone Kiln village ตั้งอยู่บนเนินเขา ประกอบด้วยร้านเบเกอรี่แบบสแตนอโลนที่ได้รับการออกแบบก่อสร้างสวยงามแปลกตา บางร้านออกแบบเหมือนบ้านตุ๊กตาหลังเล็กๆ มุงหลังคาด้วยกระเบื้อง บานประตูเป็นไม้ขนาดใหญ่แบบโบราณ
บางร้านออกแบบเหมือนเป็นบ้านซ่อนอยู่ในเนินดินคลุมด้วยสนามหญ้าสีเขียว ประตูทางเข้าทำด้วยไม้ เหมือนเปิดเข้าไปในโพรงดิน ดูไปก็คล้ายๆ หมู่บ้าน Hobbiton ของชาวฮอบบิทตัวน้อยใน The Lord of The Rings
ร้านนี้ซ่อนตัวอยู่ใต้โพรงดิน
ปล่องระบายอากาศที่ทำให้กลิ่นการอบขนมปังหอมออกมานอกร้าน
ร้านขนาดใหญ่ แต่งผนังด้วยลายก้อนหิน
แผนผัง Tujuru bread stone Kiln village
บางร้านมีลักษณะเป็นอาคารขนาดใหญ่ทันสมัย แต่ก็มีการนำก้อนหินมาตกแต่งปิดทับส่วนผนังด้านนอกทั้งหมด เหมือนเป็นบ้านยุคหิน
แต่องค์ประกอบที่ทุกร้านมีเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งก็คือ เตาเผาหิน หลากหลายรูปแบบ แต่ละร้านมีทางเดินเชื่อมถึงกัน และมีลานจอดรถ
การเดินเข้าไปใน หมู่บ้านขนมปังเตาเผาหินโทจูรู นอกจากมีความรู้สึกเหมือนเดินอยู่ในดินแดนเทพนิยาย ยังได้กลิ่นหอมตลบอบอวลจากการอบขนมปังของร้านต่างๆ ราวจะกระชากวิญญาณให้หลุดลอยตามกลิ่นหอมนั้นไป
ทำไมต้องเป็นเตาเผาหิน
เตาเผาหินของร้าน Tujuru bread
สิ่งที่ทำให้ ขนมปัง ของหมู่บ้านแห่งนี้มีชื่อเสียงเลื่องลือด้านอร่อยและมีลักษณะเฉพาะตัว ก็เพราะอบใน ‘เตาเผาหิน’ โดยทำมาจากหินภูเขาไฟของสเปน ช่วยให้เนื้อขนมปังมีโพรงอากาศและมีรสชาติมากขึ้น
เตาเผาหินนี้ยังคงใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง พิสูจน์ได้ว่าร้านเบเกอรี่แห่งนี้ให้ความสำคัญกับการทำขนมปังอย่างจริงจัง เพราะต้องอาศัยประสบการณ์และทักษะการควบคุมความร้อนให้ได้มาตรฐานคงที่
หน้าตาขนมอบสดใหม่กลิ่นหอมชวนกิน
ขนมปังของโทจูรูอบโดยช่างอบขนมปังจำนวนหนึ่งที่ศึกษาในต่างประเทศและเป็นปรมาจารย์ของ Korean International Bakery ผู้มีความเชี่ยวชาญและทักษะด้านขนมปังโดยเฉพาะ
ตัวแทนหมู่บ้านขนมปังเตาเผาหินโทจูรู ให้สัมภาษณ์ผ่านมัคคุเทศก์ว่า วัตถุดิบหลักที่ใช้ทำขนมปังในหมู่บ้านแห่งนี้ก็คือ ข้าวชอนัน (Cheonan Rice) ทางร้านจะสีข้าวที่ปลูกในเมืองชอนันด้วยมือทุกวันเพื่อให้แน่ใจว่าขนมปังมีความสดใหม่
เค้กข้าวชอนัน
ข้าวชอนันนอกจากแปรรูปเป็นแป้งสำหรับทำขนมปัง ยังใช้ทำ เค้กข้าวชอนัน (Cheonan Rice Cake) ที่มีส่วนผสมของครีมสดและน้ำผึ้งชอนัน เนื้อเค้กมีลักษณะเป็นแผ่นแล้วม้วนเป็นวงกลม มีความคล้ายขนม ‘เค้กพันชั้น’ ของฝรั่งเศส ทั้งขนมปังและเค้กข้าวชอนอันต่างก็มีชื่อเสียงดึงดูดนักชิมทั่วเกาหลีและนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาลิ้มรสขนมอบที่นุ่มฟู
ชื่อหมู่บ้านขนมปัง แต่มีมากกว่าขนมปัง
ขนมอบธัญพืช
ขนมปัง เป็นเพียงตัวแทนหมู่บ้าน จริงๆ แล้ว หมู่บ้านขนมปังเตาเผาหินโทจูรู มีเบเกอรี่ทุกรูปแบบ มีขนมเค้ก พิซซ่า แซนด์วิช ไอศกรีม ฯลฯ และได้รับการสร้างสรรค์อย่างสวยงามชวนกินชวนถ่ายรูปลงโซเชียล
ถ้าแบ่งตามประเภทขนม ก็จะมีร้านผู้เชี่ยวชาญด้านขนมปัง, ร้านขนมปังคาเฟ่, บ้านเค้ก, เบรด วิลเลจ คาเฟ่, ร้านเค้กข้าว แล้วยังมีบ้านตุ๊กตาที่ให้บริการชั้นเรียนทำขนมสำหรับผู้สนใจ คุณสามารถเรียนรู้วิธีทำขนมปังตั้งแต่เริ่มต้น แม้กระทั่งการทำ ‘ถั่วแดงชอนัน’ วัตถุดิบขึ้นชื่อท้องถิ่น เป็นไส้ขนมปังของคุณเอง
หมู่บ้านขนมปังเตาเผาหินโทจูรู ไม่เพียงแต่สร้างสรรค์จุดขายที่มีเสน่ห์ หมู่บ้านแห่งนี้ยังมุ่งมั่นทำขนมปังเพื่อสุขภาพภายใต้สโลแกน Slow Slower คือปราศจากสารเคมีเจือปน เช่น สารกันบูด สารแต่งสี และสารเพิ่มความสดใส
แซนด์วิชขนมปังบาแกตต์
ขนมปังชาร์โคล
พิซซ่า ชีสเยิ้มๆ กับมะกอกดำ
ขนมปังไส้กรอก
อันนี้ชาวเกาหลีซื้อติดมือกันเยอะมาก
ซ้อนแป้งกันเป็นชั้น
ขนมอบสไตล์ หมู่บ้านเตาเผาหินทูจูรู
ขนมทุกชิ้นมีป้ายเป็นภาษาเกาหลี อ่านไม่ออก แต่น่ากินมาก
เป็นร้านขนมปังที่ใหญ่โตมโหฬาร
พื้นที่สำหรับนั่งรับประทานในร้าน
เรือนกระจกปลูกสมุนไพรสำหรับทำขนมปังในฤดูหนาว เพราะที่นี่หิมะตก
มีรูปเพสตรี้เชฟประจำร้านไว้ให้ชมด้วย
รวมทั้งยังมุ่งมั่นที่จะผลิตขนมปังที่ปลอดภัยและเพิ่มมูลค่าต่อสุขภาพ โดยใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในท้องถิ่นของชอนัน โดยเฉพาะ ‘ถั่วแดงชอนัน’ ต้มสดใหม่ทุกวันด้วย ‘ช่างฝีมือการต้มถั่วแดง’ ที่มีประสบการณ์ 20 ปี ให้เนื้อสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์ของถั่วแดง ไม่สามารถเปรียบเทียบกับร้านเบเกอรี่อื่นๆ ได้
เห็นขนมแต่ละชิ้นแต่ละประเภทแล้ว น่าสั่งมาชิมทุกอย่าง แค่ได้มาชอนันช่วงเดือนสิงหาคม อากาศก็เย็นสบาย ถ้ามาช่วงฤดูหนาว ทิวทัศน์ของหมู่บ้านขนมปังเตาเผาหินโทจูรูก็จะสวยงามแปลกตาไปด้วยหิมะที่ตกปกคลุมบ้านตุ๊กตาเหล่านี้
'อนุสาวรีย์เพื่อชาติ' ก่อนเข้างาน Cheonan K-Culture Expo 2023
The Monument to the Nation หรือ ‘อนุสาวรีย์เพื่อชาติ’
ปี 2566 เมือง ชอนัน ได้รับเลือกให้เป็นเมืองเจ้าภาพสำหรับการจัดงาน K-Culture Expo 2023 หรือ Cheonan K-Culture Expo 2023 ระหว่างวันที่ 11 – 15 สิงหาคม 2566
งานนี้จัดที่ Independence Hall of Korea (หออิสรภาพแห่งเกาหลี) อาคารซึ่งทำหน้าที่รวบรวม อนุรักษ์ จัดแสดง การค้นคว้าเอกสารทางประวัติศาสตร์ของเกาหลีและโบราณวัตถุ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเน้นไปที่การเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชในช่วงยุคอาณานิคมของญี่ปุ่น
Independence Hall of Korea เปิดอย่างเป็นทางการในวันครบรอบวันประกาศอิสรภาพในปี 1987 ด้วยการบริจาคจากสาธารณชน
จากลานจอดรถก่อนเดินถึง Independence Hall of Korea เป็นลานกว้าง เรียกว่า Courtyard of the Independence (ลานแห่งอิสรภาพ) มีประติมากรรมขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่บนลาน
ประติมากรรมนี้คือ The Monument to the Nation หรือ ‘อนุสาวรีย์เพื่อชาติ’ มีรูปทรงคล้ายปีกคู่หนึ่งที่โฉบเฉี่ยวขึ้นไปบนฟ้าด้วยความสูง 51.3 เมตร บนฐานกว้าง 24 เมตร บางคนบอกเหมือนลักษณะมือที่กำลังสวดขอพร
ด้านหนึ่งของ อนุสาวรีย์เพื่อชาติ ประดับสัญลักษณ์ Taegeukgi หลักแห่งพลังหยินและหยางตามแนวปรัชญาแห่งเอเชีย ถ่ายทอดแนวคิดแห่งการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ดุลยภาพ และความกลมเกลียว ซึ่งก่อเกิดเป็นทรงกลมแห่งอนันตภาพ เป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่บนธงชาติเกาหลีใต้
อีกด้านหนึ่งของอนุสาวรีย์มีสัญลักษณ์ มูกุงฮวา (Mugunghwa) ดอกไม้ประจำชาติของเกาหลีใต้ ปรากฏอยู่ในสัญลักษณ์ประจำชาติและเพลงชาติ
พิธีเปิดงาน Cheonan K-Culture Expo 2023
ช่วงพิธีการกล่าวเปิดงาน Cheonan K-Culture Expo 2023
K-Culture Expo เป็นงานใหญ่ที่สุดในสาธารณรัฐเกาหลี จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความภาคภูมิใจของชาติในกระแสเกาหลีและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องไปสู่โลกาภิวัตน์
แนวคิดของงาน K-Culture Expo คือ 'K-SPRIT' K-Culture ซึ่งผสมผสานจิตวิญญาณและวัฒนธรรมของเกาหลีเข้าด้วยกัน มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงอดีตและปัจจุบันให้เข้าใจได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเพิ่มความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและขยายวัฒนธรรมเกาหลีไปทั่วโลก
เพื่อสนับสนุนแนวคิดของงาน K-Culture Expo เมืองชอนันกำหนดการจัดงาน Cheonan K-Culture Expo 2023 ในธีม Beyond Korea to the World 2023 ครอบคลุมประวัติศาสตร์และอนาคตของ K-Culture ตามแผนพื้นฐาน K-Culture World Expo ของเมือง
โดยมีการจัดแสดงศักยภาพของ K-pop และการเต้นยอดนิยม, ภาพยนตร์และละคร, K-webtoon, K-ไลฟ์สไตล์ (แฟชั่น ความงาม และสินค้า) และอาหาร K-food ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา อุตสาหกรรมคอนเทนต์เกาหลี (K-Contents industry) ซึ่งรัฐบาลเลือกให้เป็นภารกิจแห่งชาติ รวมถึง K-game, K- กีฬา, K-healing และการท่องเที่ยว
เตรียมเปิดงาน Cheonan K-Culture Expo 2023
ผู้เขียนมีโอกาสได้ชมพิธีเปิดงาน Cheonan K-Culture Expo 2023 วันที่ 11 สิงหาคม 2566 โดยไปถึงบริเวณจัดงานช่วงใกล้ค่ำท่ามกลางท้องฟ้ามืดครึ้มของหางพายุไต้ฝุ่นขนุน แต่บริเวณงานเต็มไปด้วยชาวเกาหลีทุกเพศทุกวัย
ช่วงพิธีการบนเวทีบริเวณกลางแจ้งหน้า 'หออิสรภาพแห่งเกาหลี' มีความคึกคัก ข้าราชการเมืองแต่งกายด้วยชุดประจำชาติ กล่าวคำปราศรัยด้วยน้ำเสียงหนักแน่นมีพลัง มีช่วงของการยืนร่วมกันขับร้องเพลงชาติเกาหลี
การโบกธงผสานกราฟิกบนจอของเวที
การแสดงบนเวทีชุด Celebratort Performance น่าตื่นตาตื่นใจและสร้างความฮึกเหิม เช่น ทัพนักแสดงที่โบกประจำงานร่วมกับการฉายแอนิเมชั่นบนจอด้านหลังที่เต็มไปด้วยสีสันและเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง การแสดงกายกรรมร่วมสมัยที่แสดงถึงศักยภาพของนักกีฬาเกาหลี
การแสดง Drone Fireworks Fantasy
ต่อด้วยชุดการแสดง Drone Fireworks Fantasy Show มีลักษณะเหมือนเทพธิดาประทานพร โดยนักแสดงสาวผูกตัวเองกับเครนสูงตกแต่งไฟประดับเป็นรูปดอกไม้ประจำชาติ แล้วห้อยตัวร่ายรำกลางอากาศเหนือที่นั่งผู้ชมกลางแจ้งราวกับโบยบินไปทั่ว
ชุดสีขาวกรุยกรายของนักแสดงตัดกับท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้มยามค่ำ สวยงามโดดเด่น แสดงถึงการประสานกันเป็นอย่างดีระหว่างเทคโนโลยี ความปลอดภัย และความคิดสร้างสรรค์
ช่วงการแสดงของ Paul Kim
ศิลปินเคป๊อบที่มีกำหนดขึ้นแสดงในวันนั้นประกอบด้วย Paul Kim, Lee Chanwon, BE’O, Stayc, Taekwoncre วันต่อๆ ไปเป็นคิวของ Jumping Angels, ROK Armed Forces Military Band, Count Quartet, Ahn Eun Kyung, Modal Band, Hong Junpyo Quartet, KC Bridge, Jumpo Mambo, Cha Jiyeon, Lee Geonmyeong, Kim Hoyoung, Gaho เป็นอาทิ
ผู้เขียนมีโอกาสชมการร้องเพลงของ Paul Kim น้ำเสียงสดใส เมโลดี้ดนตรีพลิ้วไหวฟังสบายๆ เรียกเสียงกรี๊ดของผู้ชมเป็นระยะเวลานักร้องถูกโคลสอัพภาพขึ้นจอใหญ่
พอขึ้นเพลงที่สอง หางไต้ฝุ่นขนุนก็ทำงาน โปรยเม็ดฝนลงมาเบาๆ พอให้ชุ่มฉ่ำ ผู้เข้าร่วมงานชาวเกาหลีทีแรกเห็นนั่งกันปกติ พอฝนตก ส่วนใหญ่ควักเสื้อกันฝนขึ้นมาใส่พร้อมหน้าพร้อมตา นั่งชมคอนเสิร์ตต่อไปอย่างมีความสุข ฝนตกก็ไม่เป็นอุปสรรค เตรียมตัวมาอย่างดี
ความจริงเตรียมร่มพับใส่กระเป๋าคาดอกไว้อยู่แล้ว แต่ถ้าจะนั่งกางร่มดูคอนเสิร์ต คนแถวหลังๆ คงเจริญพรหลายบท พอดีใกล้ถึงเวลานัดหมายที่จะออกจากงาน จึงลุกออกมา
mapping รูปนกฟินิกซ์บนอนุสาวรีย์เพื่อชาติ
mapping บนอนุสาวรีย์เพื่อชาติ
การฉาย mapping บนอนุสาวรีย์เพื่อชาติ
ใกล้สองทุ่มแล้ว ช่วงเดินกลับไปที่ลานจอดรถ ผ่าน อนุสาวรีย์เพื่อชาติ อีกครั้ง ปรากฏว่ามีการฉาย mapping ขึ้นไปบนอนุสาวรีย์ เล่าเรื่องการสร้างชาติเกาหลีใต้ ผ่านเรื่องราวบีบคั้นต่างๆ จากอดีตไปสู่อนาคต
ช่วงหนึ่งของ mapping ทำเป็นภาพนกฟินิกซ์ที่ฟื้นคืนจากกองขี้เถ้ามีชีวิตโบยบินขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เหมือนชาติเกาหลีที่เป็นอิสระจากครั้งหนึ่งที่ถูกยึดครอง
เกาหลีใต้ยังคงไม่หยุดผลักดัน Soft Power วัฒนธรรมเกาหลีทุกรูปแบบ
หมายเหตุ : สัปดาห์หน้าโปรดติดตาม Sudeoksa Temple (วัดซูด็อกซา)