ชวนเที่ยว 'บ้านโบราณ ณ สมุย' อร่อยกับ 'ขนมด้วง'
'บ้านโบราณ ณ สมุย' สถาปัตยกรรมโบราณที่ยังคงความสวยงามมากว่า 150 ปี ซุกซ่อนตัวอยู่ในดงมะพร้าวของเกาะสมุย เปิดให้ทุกคนเข้าชมพร้อมกับลองทำของกินพื้นถิ่น 'ขนมด้วง'
บ้านโบราณ ณ สมุย กับ ขนมด้วง เกี่ยวข้องกันอย่างไร ภาคต่อของการเดินทางท่องเที่ยวสามเกาะ เกาะเต่า เกาะพะงัน เกาะสมุย กับ ททท. สำนักงานเกาะสมุย กำลังจะมาบอกเล่าให้ฟัง
บ่ายวันหนึ่ง ที่เกาะสมุย เราได้เดินทางไปที่ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อไปเยี่ยมชมบ้านโบราณอายุมากกว่าร้อยปี
- บ้านโบราณ ณ สมุย
บ้านไม้โบราณหลังนี้ เป็นที่มีคนอาศัยอยู่จริงตกทอดกันมาเป็นรุ่น ๆ เพิ่งจากย้ายออกไปอยู่ที่อื่นเมื่อสิบปีที่แล้วนี่เอง ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้
Cr. Kanok Shokjaratkul
พินิจ เพ็ญจันทร์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเลสมุย ผู้นำชมบ้านหลังนี้กล่าวว่า ตัวเองเป็นญาติกับเจ้าของบ้านรุ่นที่ 5 ซึ่งมีรีสอร์ต อยู่ที่เฉวง ก็เลยย้ายไปอยู่ที่เฉวง
"ทำให้บ้านหลังนี้ถูกปิดไป 5 ปี เราได้รวมกลุ่มชาวบ้านเป็นวิสาหกิจชุมชนบ้านเลสมุย ขอดูแลเปิดบ้านหลังนี้เป็นพิพิธภัณฑ์และศูนย์เรียนรู้ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเยี่ยมชม
Cr. Kanok Shokjaratkul
ในปี 2020 เราเปิดได้ 6 เดือนก็เกิดโควิด ทำให้ต้องปิดไป พอโควิดซาแล้วก็มาเปิดใหม่อีกครั้ง มีหลายหน่วยงานเข้ามาเรียนรู้วิถีชาวบ้าน การทำขนมพื้นถิ่น ทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น สกัดร้อน กับเรา
ความเป็นมาของบ้านหลังนี้ ปี พ.ศ. 2380 ปลายรัชกาลที่สาม บรรพบุรุษจากเกาะไหหลำ ค้าขายด้วยเรือสำเภา มาถึง เกาะสมุย จุดกึ่งกลางของเส้นทางการค้า ก็เลยลงหลักปักฐานกันที่นี่
นำช่างชาวจีนมาสร้างบ้าน เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างจีนกับไทย ดูได้จากภาพแกะสลักไม้ใต้หลังคา หน้าต่าง และรูปแบบของการสร้างบ้าน"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ศิลปะและความงาม กับความหมายที่ซ่อนอยู่
ที่หน้าบ้าน เราพบภาพแกะสลักใต้หลังคามีความสวยงามถึง 7 ชิ้นด้วยกัน ปผู้นำชมอธิบายต่อว่า
"ภาพแกะสลักภาพแรก เป็นหยกผักกาดขาว หรือ แป๊ะฉ่าย หมายถึง โชคที่หลั่งไหลเข้ามา
ภาพที่สอง ลิ้นจี่ ผลไม้ที่สุกแล้วมีสีแดงสด เป็นสีมงคลของคนจีน
Cr. Kanok Shokjaratkul
ภาพที่สาม กวาง หมายถึง ความมั่งมีศรีสุข สมหวัง สมปรารถนา
ภาพที่สี่ สิงโตกับอินทรีย์ คือ อำนาจ บารมี ความเป็นผู้นำ วางตำแหน่งไว้ตรงกลางช่องประตู เพื่อสลายพลังพิฆาต ไม่ให้เข้าบ้าน
Cr. Kanok Shokjaratkul
ภาพที่ห้าสิงโตคาบเหรียญโบราณจีน หมายถึง ความมั่งคั่งร่ำรวย
ภาพที่หก มะเฟือง สุกแล้วจะเป็นสีเหลืองทอง มีลักษณะรูปร่างเหมือนก้อนทองของคนจีน หมายถึง เงินทองล้นหลาม
ภาพสุดท้าย สับปะรด คนจีนเรียกว่า อั้งไหล หมายถึง ความโชคดี
ก่อนขึ้นบ้าน จะมีซุ้มประตูกิเลน อยู่สองฝั่ง กิเลนเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ที่คนจีนนับถือรองลงมาจากมังกร
Cr. Kanok Shokjaratkul
กิเลนประกอบไปด้วยสัตว์ 5ชนิด หัวเป็นมังกร เขาเป็นยูนิคอร์น ตัวเป็นกวาง เกล็ดเป็นปลา หางเป็นวัว เวลาเราลอดซุ้มประตู ก็จะได้รับเอาสิ่งที่เป็นมงคลเข้ามาสู่ตัวเรา
ช่องลมด้านบนเป็นดอกโบตั๋นแบบจีน และซ้ายขวาเป็นลูกกรงแบบไทย มีขื่อคานที่รับหลังคา มีลักษณะคล้ายตัวอักษรจีน
Cr. Kanok Shokjaratkul
ที่หัวไม้แกะสลักเป็นลายหัวสิงห์ พบเห็นได้ตามศาลเจ้าจีนเท่านั้น ช่างแกะสลักไว้เพื่อความสวยงามและความเป็นมงคล
ส่วนหัวเสาแกะสลักเป็นบัวหงายบัวคว่ำ มีลูกประคำ บ่งบอกถึงการนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน
Cr. Kanok Shokjaratkul
มีภาพแกะสลักไม้ที่หน้าต่าง ข้างละสองภาพ แสดงถึงคติความเชื่อของชาวจีน ได้แก่ ภาพปลา หลี่ฮื้อ มีความหมายว่า โชคดี ค้าขายมีผลกำไร
ถัดมาเป็น ภาพนกกระเรียน หมายถึง สุขภาพที่ดี อายุยืนยาว และภาพนกกระเรียนคู่ แทนความรัก เพราะเป็นสัตว์ผัวเดียวเมียเดียว
ถัดไปเป็น ภาพนกประจำถิ่นสมุย แทนความอิสระและความโชคดี และภาพสุดท้าย นกกาเหว่าเกาะกิ่งไม้ ตรงกับภาษาจีนว่า อู่ถง คือ โชคใหญ่ แต่ละภาพจะมีความหมายแฝงอยู่"
- ฝีมือเชิงช่าง ที่ร้ายกาจ
บ้านไม้โบราณส่วนใหญ่ มักไม่ใช่ตะปู บ้านหลังนี้ก็เช่นกัน ใช้วิธีเจาะ ใส่ลิ่ม มีเดือย มีสลัก หน้าต่างแบบจีน มีลูกกรง ประตูมีลูกบิดหิน พื้นไม้มีช่องลับ สำหรับปลดทุกข์กระทันหัน
ก่อนเข้าบ้านจะมองเห็นเป็นบ้านชั้นเดียว แต่จริง ๆ แล้ว เป็นบ้านสามชั้น เรียกว่า บ้านทรงจีน ซ่อนรูป
มองดี ๆ จะเห็นบันไดขึ้นไปชั้นสาม Cr. Kanok Shokjaratkul
Cr. Kanok Shokjaratkul
ที่สำคัญ เวลาเข้าบ้านต้องเข้าประตูใหญ่ มีไว้สำหรับเจ้านาย คนชั้นสูง ส่วนประตูข้าง สำหรับข้าทาสบริวาร ผู้นำชมเล่าต่อว่า
"เข้ามาแล้วจะเจอกับโถงกว้าง ด้านซ้าย-ขวามีบันไดเหล่าเต๊งขึ้นไปชั้นสอง ทางด้านซ้าย จะมีบ้นไดขึ้นไปชั้นสาม เป็นห้องใต้หลังคา
ในบ้านมีสามห้องนอน ผนังกลางห้องโถงมีรูปบรรพบุรุษ มีป้ายแกะสลักชื่อแซ่ ตระกูลฮั่น รุ่นแรกเป็นเทียดนุ้ย รุ่นสองเป็นทวดอี้ รุ่นสามเป็นก๋งสี่
Cr. Kanok Shokjaratkul
รอบ ๆ มีของใช้ตกทอดมาจากโบราณ พวกเตียง ตั่ง เซรามิค เครื่องทองเหลือง เตารีด ตะเกียง เชี่ยนหมาก ไฟแช็ค เป็นของเก่าทั้งหมด
องค์ประกอบหลักที่ทำให้บ้านหลังนี้อยู่มาได้ยาวนานถึง 186 ปี คือ หนึ่ง.ตีนเสา หรือว่า ฐานเสา ทำจากหินปะการัง ขุดมาจากทะเลเอามารองไม้
สอง. สร้างจากไม้หลุมพอ ไม้เนื้อแข็งประจำถิ่นภาคใต้ ใช้เวลาสร้างเป็นปี สาม.หลังคาโบราณ กระเบื้องว่าว ใหญ่เจ็ดนิ้ว ปัจจุบันมีขนาดแค่ห้านิ้ว"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- เฟอร์นิเจอร์ พระเอกของบ้าน
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจของบ้านหลังนี้ คือ เฟอร์นิเจอร์ สองชิ้นตรงหน้าบ้าน ชิ้นแรก คือ โต๊ะน้ำชา
Cr. Kanok Shokjaratkul
"โต๊ะน้ำชา เป็นภูมิปัญญาของช่างชาวจีน สามารถพับเก็บได้ ทั้งสองฝั่ง ตรงกลางมีลิ้นชัก ดึงออกมาแล้วไม่มีฐาน เพื่อกวาดไพ่นกกระจอกใส่ภาชนะ แล้วนำขึ้นมาเล่นบนโต๊ะอีกครั้งได้ง่าย ๆ
ชิ้นที่สอง เป็นเก้าอี้เด็ก มีที่พับเท้า สามารถล็อกไว้ไม่ให้เด็กลุกไปไหนได้ พ่อแม่จะป้อนข้าว ป้อนน้ำ ตัดผม อาบน้ำก็ได้"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- มาบ้านโบราณ ต้องทำ ขนมด้วง
จุดไฮไลต์ของการมาเที่ยวชมบ้านโบราณ ณ สมุย ก็คือการเข้าครัวทำขนมกัน
ขนมด้วง เริ่มจากขูดมะพร้าวทึนทึก ด้วยกระต่ายขูดมะพร้าว แล้วมาผสมกับแป้ง ใส่น้ำนวดให้เข้ากัน แล้วปั้นเป็นลูกกลม ๆ สองลูก คลึงให้ยาว ๆ นำทั้งสองเส้นมาไขว้ติดกัน กดนิด ๆ ให้สวยงาม
จากนั้น นำไปทอด ตั้งไฟกลาง ใส่น้ำมัน พอร้อนได้ที่ ก็หย่อนตัว ขนมด้วง ลงไป ทอดจนเหลือง กรอบพอประมาณ แล้วตักขึ้น
Cr. Kanok Shokjaratkul
ขั้นตอนต่อมา เอาน้ำตาลทราย ใส่ลงไปในกระทะตั้งไฟให้ร้อน คั่วจนขึ้นฟอง เทขนมด้วงที่ทอดแล้วลงไปคลุก ไม่ต้องนานมาก จนน้ำตาลติดด้านนอกเคลือบขาวดีแล้ว ตักขึ้นมาพักให้เย็น ก็รับประทานได้
ต้องบอกว่า ไม่เคยเห็น ไม่เคยกินมาก่อน กินแล้วก็อร่อยดี ข้างนอกกรุบ ๆ ข้างในนุ่มเหนียว
Cr. Kanok Shokjaratkul
ถ้าใครไม่ชอบหวาน ก็ไม่ต้องทำขั้นตอนเคลือบน้ำตาล เอาตอนที่ทอดแล้วมากินได้เลย หรือจะประยุกต์จต่อยอดไปทำอาหารหรือขนมอื่น ๆ ก็ได้อีก
มาเกาะสมุยแล้วต้องลองมาเที่ยวที่นี่สักครั้ง ที่สำคัญถ้าไม่ได้กิน ขนมด้วง ถือว่ายังมาไม่ถึง บ้านโบราณ ณ สมุย
..........................
บ้านโบราณ ณ สมุย เลขที่ 7 หมู่ 3 ต.หน้าเมือง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี 84140 โทร. 092 953 8919