เช็กเส้นทาง วางแผนเที่ยว! นักแสวงบุญขึ้นเขาคิชฌกูฏ กราบรอยพระพุทธบาทพลวง
นักแสวงบุญ ประชาชนหลั่งไหล ขึ้นเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี เพื่อไปกราบรอยพระพุทธบาทพลวง ไหว้ขอพร กันอย่างคึกคัก ชวนวางแผนเที่ยว เช็กเส้นทาง ช่องทางจองคิวขึ้นกราบพระบาทพลวง กำหนดจำนวนนักท่องเที่ยว ผู้แสวงบุญ สาธุชน วันละ 6,000 คน ได้ที่นี่
บรรยากาศการท่องเที่ยว เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี นักแสวงบุญ ประชาชนหลั่งไหล ไปกราบรอยพระพุทธบาทพลวง กันอย่างคึกคัก
โดยในปีนี้ สาธุชน สามารถเดินทางขึ้นไปนมัสการ ไหว้ขอพร ได้ตั้งแต่ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 ถึง วันที่ 9 เมษายน 2567 สามารถเดินทางขึ้นเขาได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง
นายชวินทฐ์ ปิ่นแก้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ เปิดเผยว่า กำหนดการจำนวนนักท่องเที่ยวและผู้แสวงบุญอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ได้พิจารณาตามขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่ คำนวณจากพื้นที่ใช้สอยบริเวณที่จัดงานประเพณี การจองขึ้นนมัสการฯ จะกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยว ผู้แสวงบุญ สาธุชน วันละ 6,000 คน ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยคำนวณจากพื้นที่ใช้สอยของงานประเพณีฯ โดยประมาณ (1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร)
ช่องทางจองคิวขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ (พระบาทพลวง) ผ่านแอปพลิเคชั่น KCKQue พระบาทเขาพลวง
เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว/ผู้แสวงบุญไม่ต้องรอคิวนานในช่วงเวลาแออัด วันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์
พระบาทพลวง หรือ พระพุทธบาทพลวง ประดิษฐานอยู่บน เขาคิชฌกูฏ โดยพระบาทพลวงนี้ เป็น รอยพระพุทธบาท ขนาดใหญ่ กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร อยู่บนยอดเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร ที่จังหวัดจันทบุรี อยู่ห่างจากตัวเมืองจันทบุรีประมาณ 40 กิโลเมตร
สาธุชนนับแสนคนเดินทางมาเพื่อกราบสักการะรอยพระพุทธบาทและผูกผ้าแดงบนยอดเขาแห่งนี้ ซึ่งเดิมทีผ้าแดงคือสัญลักษณ์บ่งบอกถึงความอันตรายของพื้นที่ แต่หัวใจสำคัญของการมาเยือนเขาคิชฌกูฏ คือ "รอยพระพุทธบาท"
"รอยพระพุทธบาทพลวง" หรือ "รอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ" นับเป็นรอยพระพุทธบาทที่สูงที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากรอยพระพุทธบาทดังกล่าวประดิษฐานอยู่บนภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 1,050 เมตร มีการค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2397
แต่ผู้ที่มาบุกเบิกเปิดตำนานรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ให้คนรู้จักคือ "หลวงพ่อเขียน" โดยในปี พ.ศ. 2515 ได้บุกเบิกทางขึ้น และนำรถยนต์ขึ้นเขาเป็นครั้งแรกก่อนจะค่อยๆ พัฒนาเส้นทางขึ้นยอดเขาให้ดีและปลอดภัยยิ่งขึ้น มาจนถึงปัจจุบันรอยพระพุทธบาทพลวงขึ้นชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ และมีความเชื่อว่าผู้ที่เดินขึ้นไปถึงยอดเขาซึ่งมีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่นั้นจะได้บุญสูง
อีกทั้งยังเชื่อกันว่า การได้มานมัสการรอยพระพุทธบาทพลวงบนยอดเขาคิชฌกูฏ เปรียบได้กับการเข้าเฝ้าองค์พระศาสดา ถือเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ ในแต่ละปีจึงมีพุทธศาสนิกชนนับแสนหลั่งไหลมาสักการะรอยพระพุทธบาทด้วยความศรัทธาเป็นจำนวนมหาศาลในทุกๆ ปี
การเดินทางขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ (พระบาทพลวง)
- ขึ้นรถ : ที่คิวรถวัดกะทิง หรือ คิวรถวัดพลวง โดยค่าบริการรถที่ขึ้นยอดเขารวมไป-กลับ (200 บาทต่อคน) มีรถบริการตลอดเวลา ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีจะถึงจุดเริ่มต้นการเดินเท้าขึ้นไปรอยพระบาท
- เดินเท้า : โดยเดินทางหน่วยพิทักษ์ฯ ที่ คก.1 (พระบาทพลวง) ซึ่งใช้เวลาในการเดิน 3-6 ชั่วโมง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี โทร 039609672
วางแผนเที่ยว ปักหมุดเส้นทางเขาคิชฌกูฏ (พระบาทพลวง) อุ่นใจ ไม่หลงทาง
สำหรับผู้ต้องการใช้บริการรถรับส่งขึ้นเขา สามารถปักหมุด เพื่อเดินทางไปขึ้นบริการได้ที่
วัดกะทิง (คิวรถบริการจำนวน 27 คิว)
- วัดกะทิง (คลิก)
วัดพลวง (คิวรถบริการจำนวน 115 คิว)
- วัดพลวง เขาคิชฌกูฏ จันทบุรี (คลิก)
สำหรับผู้ต้องการเดินเท้าขึ้นเขา สามารถปักหมุด เพื่อเดินทางมาจอดรถได้ที่
จุดชมวิวเขื่อนพลวง
- จุดชมวิวเขื่อนพลวง (คลิก)
และ เดินเท้าต่อขึ้นมาที่ หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ คก.1 : พระบาทพลวง (คลิก) เพื่อลงทะเบียนที่จุดคัดกรอง พร้อมเดินขึ้นเขาได้เลย
แผนที่เส้นทางนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ (พระบาทพลวง)
แผนที่ระยะทางงานประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ
สิ้นสุดเส้นทางเดินรถที่จุด ลานพระสีวลี
หลังจากนั้นเดินเท้าทั้งหมด
หากประสงค์เดินเท้า
- 6.6 กิโลเมตร ถึงรอยพระพุทธบาท
- 7.2 กิโลเมตร ถึงผ้าแดง
หากใช้บริการรถรับส่ง
- นั่งรถ 5.6 กิโลเมตร ถึงพระสีวลี
- เดินเท้า 1 กิโลเมตร ถึงรอยพระพุทธบาท
- เดินเท้า 1.6 กิโลเมตร ถึงผ้าแดง
หมายเหตุ : ระยะเวลาในแผนที่เป็นระยะเวลาสำหรับการเดินเท้าเท่านั้น
สำหรับค่าบริการผ่านเข้าอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ
- คนไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท
- ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท
- เข้าฟรี! ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป - พระสงฆ์ - แม่ชี
อ้างอิง-ภาพ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย , กรมศิลปากร , Yuttana Prajongmun, FM91 ,คน เดียว ,อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี KhaoKhitchakut National Park