เช็ก! พื้นที่เฝ้าระวังน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน ช่วง 10-17 พ.ค.นี้
กอนช. ออกประกาศฉบับที่ 12 เตือน 11 จังหวัด เฝ้าระวัง พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน ช่วง 10-17 พ.ค.นี้
ประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 12/2565 เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ช่วง 10-17 พ.ค.นี้
ตามประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2565 เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่ เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้แจ้งเตือนให้เฝ้าระวังบริเวณพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ในช่วงวันที่ 7 – 10 พฤษภาคม 2565 และจากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในช่วงวันที่ 10 - 11 พฤษภาคม 2565 ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ประกอบกับพายุไซโคลนกำลังแรง “อัสนี” บริเวณชายฝั่งประเทศอินเดียตอนกลางคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศอินเดียตอนกลาง ในช่วงวันที่ 10 - 11 พฤษภาคม 2565 ซึ่งจะส่งผลให้ลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักและหนักมาก
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่าปริมาณฝนตกสะสมอาจส่งผลให้เกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน รวมทั้งทำให้พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิมมีแนวโน้มระดับน้ำเพิ่มขึ้น จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย บริเวณ ภาคเหนือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก นครสวรรค์ และอุทัยธานี ภาคใต้ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ในช่วงวันที่ 10 – 17 พฤษภาคม 2565
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ
2. ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. เตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์