รอง ผอ.รพ.บุรีรัมย์ แถลงยอมรับผิดผ่าตัดไส้ติ่งล่าช้า ทำเด็กเสียชีวิต
รอง ผอ.โรงพยาบาลบุรีรัมย์ แถลงรับผิดที่ล่าช้า ทำให้หนูน้อยวัย 12 ปีไส้ติ่งแตกเสียชีวิต เตรียมสอบสวนอีกครั้ง เบื้องต้นเยียวยาตามมาตรการ จะให้หมอไปขอขมาญาติ
6 มิถุนายน 2565 ที่ตึกเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 8 โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ นายแพทย์รักเกียรติ ประสงค์ดี รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ ตั้งโต๊ะแถลงข่าว กรณี ด.ช.กิตติศักดิ์ กรมไธสง หรือน้องต้นน้ำ อายุ 12 ปี เสียชีวิตหลังผ่าตัดไส้ติ่ง ทำให้ผู้ปกครองคือนายสมบูรณ์ กรมไธสง อายุ 42 ปี และนางน้ำฝน เทพพิทักษ์ อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 61/2 ม.6 ต.พุทไธสง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ ร้องเรียนผ่านสื่อว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ระบุแพทย์ปล่อยเวลาล่วงเลยนาน 2 วัน หลังเข้าทำการรักษา แต่หมอไม่ผ่าตัดทั้งที่โรงพยาบาลต้นทางระบุชัดเจนว่าไส้ติ่งอักเสบ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นกระแสสังคมที่หลายคนต่างตั้งข้อสงสัยถึงแนวทางการรักษาของแพทย์ โดยเฉพาะคำบอกเล่าของพ่อ ที่อ้างว่าพนักงานเปลระบุมีเคสพิเศษ 2 รายลัดคิวผ่าตัด
นายแพทย์รักเกียรติ กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า น้องต้นน้ำ มีอาการปวดท้องน้อยด้านขวามาแล้ว 1 วัน เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพุทไธสง แพทย์ระบุเป็นไส้ติ่งอักเสบ
จากนั้นได้ส่งต่อมารักษาที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ แพทย์ตรวจประเมินซ้ำวินิจฉัยว่าไส้ติ่งอักเสบ เช่นเดียวกัน จากนั้นได้กำหนดเวลาผ่าตัด 17.00 น. วันที่ 29 พ.ค. 65 ต่อมาพบว่าอาการน้องต้นน้ำเปลี่ยนแปลง มีหัวใจเต้นแรงมากขึ้น แพทย์จึงได้เพิ่มน้ำเกลือ ประกอบผู้ป่วยมีความสูง 163 น้ำหนัก 83 กิโลกรัม อยู่ในสภาวะน้ำหนักมาก ผู้ป่วยเข้าห้องผ่าตัดเวลา 23.30 น. แต่ในขณะนั้นห้องผ่าตัดมี 3 ห้อง มีคนไข้รอผ่าตัดทั้ง 3 ห้อง ห้องแรกผ่าตัดไส้เลื่อน และมีลำไส้เน่า แพทย์ต้องผ่าตัดต่อลำไส้ จากนั้นต้องผ่าตัดคนไข้ที่มารอก่อนหน้านี้ เป็นผู้ป่วยช่องท้องอักเสบอย่างรุนแรง ผู้ป่วยรายที่ 2 ผ่าตัดแล้วเสร็จในเวลา 02.00 น.วันที่ 30 พ.ค. 65
ส่วนห้องผ่าตัดอีกห้อง เป็นคนไข้อุบัติเหตุกระดูกโผล่ มีแผลเปิด แพทย์จึงต้องเร่งผ่าตัด มี 2 ราย ห้องผ่าตัดอีกห้องต้องผ่าตัดเด็กในครรภ์ มีสภาวะหัวใจเต้นเร็ว แต่การประสานงานของแพทย์กับพนักงานเวรเปลอาจจะทำให้เข้าใจไม่ตรงกัน ทำให้พนักงานเปลเข็นน้องต้นน้ำเข้าไปห้องผ่าตัด จากการประเมินของแพทย์ไม่ทราบได้ว่า การผ่าตัดเคสก่อนหน้านี้จะเสร็จสิ้นช่วงใด ไม่สามารถกำหนดเวลาได้ ถ้าจะให้น้องต้นน้ำรออยู่ในห้องผ่าตัดอาจจะไม่ปลอดภัย จึงแจ้งไปยังหอผู้ป่วยขอส่งตัวคนไข้คือน้องต้นน้ำกลับไปที่ห้องก่อน
“สำหรับประเด็นที่ผู้ปกครองติดใจ คือ เคสผ่าตัดพิเศษแทรกคิวหรือไม่นั้น จากการสอบสวนแล้วไม่มีเคสพิเศษในโรงพยาบาล ทุกเคสมีหลักฐานประกอบและเป็นเคสที่มีความเร่งด่วนที่เข้ามารับบริการก่อนหน้านี้ เมื่อแพทย์พบว่าน้องต้นน้ำ มีอาการหายใจเร็วขึ้น และตรวจพบว่ามีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ผลจากการผ่าตัด พบว่าพบไส้ติ่งแตก มีหนองอยู่โดยรอบ ประมาณ 100 ซีซี การผ่าตัดเสร็จเวลาประมาณ 14.00 น.ใช้เวลาในการผ่าตัด 45 นาที เนื่องจากสภาพก่อนผ่าตัดมีภาวะแย่ลง และมีการติดเชื้อในกระแสเลือด จึงส่งเข้ารักษาที่ห้องไอซียู และหัวใจหยุดเต้นเมื่อเวลา 02.25 น.ของวันที่ 31 พ.ค. 65” นายแพทย์รักเกียรติ กล่าว
โรงพยาบาลต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัว พร้อมกันนี้ทางโรงพยาบาลยอมรับว่าให้การรักษาล่าช้า ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 65 ทีมแพทย์ที่ให้การรักษารวมทั้งทีมเยียวยาและการให้ข้อมูลการเยี่ยมบ้านคนไข้ ล่าช้ามาก หลังจากนี้จึงได้ประสานให้แพทย์ที่เกี่ยวข้องเข้าขอขมาผู้ปกครองเด็ก ส่วนการเยียวยาจะต้องเข้าไปสอบสวนในเชิงลึก ว่าจะสามารถช่วยเหลือครอบครัวเด็กตาม พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการทางสาธารณสุขอย่างไรบ้าง