น่านเตือน น้ำหลาก - ดินโคลนถล่ม ประชาชนพื้นที่เสี่ยงให้เตรียมพร้อมอพยพ
ด่วนที่สุด! ผู้ว่าฯน่านแจ้งทุกอำเภอเตรียมพร้อมรับมือ "น้ำหลาก" ดินโคลนถล่ม ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 8 ก.ค. 65 กำชับเจ้าหน้าที่พร้อมช่วยอพยพประชาชนเมื่อเกิดอุทกภัย
วันที่ 2 กรกฎาคม 2565 ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน แจ้งเตือนนายอำเภอทุกอำเภอ ผู้อำนวยการอำเภอ (15 อำเภอ) และหัวหน้าส่วนราชการทุกแห่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมรับมือ "น้ำหลาก" โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง
นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน สั่งการให้ นายอำเภอทุกอำเภอ ผู้อำนวยการอำเภอ รวม 15 อำเภอ หัวหน้าส่วนราชการทุกแห่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำชับเจ้าหน้าที่ให้มีความพร้อมซักซ้อมทำความเข้าใจระบบการบัญชาเหตุการณ์และการจัดการในภาวะฉุกเฉิน เข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเมื่อเกิดภัยในพื้นที่หมู่บ้านเสี่ยงภัยจังหวัดน่าน
โดย สำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารภัยจังหวัดน่าน ศูนย์บัญชาเหตุการณ์ระดับอำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมเจ้าหน้าที่ได้ออกฝึกอบรมในเรื่องการจัดการในภาวะฉุกเฉิน ครบทั้ง 15 อำเภอ เตรียมความพร้อม แผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสาร การใช้อุปกรณ์เตือนภัย ไซเลนส์มือหมุนเมื่อไฟฟ้าดับ แจ้งเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อเตรียมการอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย การเฝ้าระวังสถานีเตือนภัยปริมาณน้ำฝน ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้ซักซ้อมการแจ้งเตือนภัย การเฝ้าระวัง การอพยพ ประชาชน ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ สัตว์เลี้ยง ไปยังพื้นที่ปลอดภัย
นายวรวิทย์ อินต๊ะใจ หัวหน้าสำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน กล่าวว่า จังหวัดน่านได้รับการแจ้งเตือน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารภัย กรมอุตุนิยมวิทยา และประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 18 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วง 1-8 กรกฎาคม 2565 นี้ มีฝนตกหนักในบางที่ภาคเหนือรวมถึงจังหวัดน่าน
นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน จึงได้มอบหมายให้นายกฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ผู้อำนวยการจังหวัด มีวิทยุด่วนที่สุดถึงนายอำเภอทุกอำเภอ/ผู้อำนวยการอำเภอ (15 อำเภอ) และหัวหน้าส่วนราชการทุกแห่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทุกอำเภอ ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้าเตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลาก น้ำท่วมขัง พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ
ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์ ฝนตกหนักในพื้นที่ น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะดินโคลนถล่ม ปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำท่า ฝนตกต่อเนื่องหลายวัน ให้ระวังดินโคลนถล่มบ้านเรือนที่อยู่บริเวณเชิงเขา
สำหรับจังหวัดน่านมีพื้นที่หมู่บ้านเสียงภัยในพื้นที่ แยกเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลหลาก และพื้นที่ดินโคลนถล่ม เกือบ 800 หมู่บ้าน
ข่าวโดย จ.ส.อ.สันติไฌญ จารุพิพัฒน์บุตร จังหวัดน่าน