พระกรุณามากพ้นรำพัน สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง
นภันต์ เสวิกุล ตามเสด็จ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงไปยังสถานที่ต่างๆ ในฐานะช่างภาพมานานถึง 7 ปี เมื่อเร็วๆ นี้ เขาได้รับเชิญให้ไปบรรยายพิเศษในงาน ร่มฉัตรขัตติยา บรมราชินีนาถ หัวข้อ พระกรุณามากพ้นรำพัน จัดโดยพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน
"เมื่อชาวบ้านทราบข่าวการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเยี่ยมราษฎรในภาคอีสาน เมื่อปีพ.ศ.2498 เป็นเรื่องที่ตื่นเต้นยินดีของคนไทย
การเดินทางเป็นเรื่องไม่สะดวก ถนนลาดยางยังไม่มี ความปลอดภัยก็น้อย แต่สองพระองค์ เสด็จฯไปอย่างไม่ทรงย่อท้อ ในปีต่อมา เสด็จฯ ไปภาคเหนือและภาคใต้ รวมทั้งทรงเยี่ยมชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่ไม่ไกลจากวังไกลกังวล แถวเขานางพันธุรัตน์ ห้วยมงคล ทรงพบว่าคนไม่มีที่ทำกิน ที่ดินแห้งแล้งเป็นส่วนใหญ่
ต่อมา ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีรับสั่งกับทูตอิสราเอล เพื่อหาผู้เชี่ยวชาญที่เก่งเรื่องการหาแหล่งน้ำเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน และงานฝนหลวงก็เริ่มต้นที่นั่น สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินตามไปด้วย ชาวบ้านมารอเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จ ทูลเกล้าฯ ถวายไข่ไก่เป็นประจำ จากนั้นก็ค่อยๆ เสด็จพระราชดำเนินไกลออกไปขึ้นเรื่อยๆ ถึงหุบกะพง เพื่อทรงเยี่ยมชาวกระเหรี่ยงแถวป่าละอู
ทั้งสองพระองค์ ทรงสนุกกับงาน ทรงทักทายประชาชนอย่างไม่ถือพระองค์ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงฉลองพระองค์สวยเสมอ รับสั่งว่า
พวกเขามาเฝ้ารอฉันทั้งวัน ฉันก็ต้องแต่งตัวสวยเพื่อให้เขาเห็น
ต่อมาราวปี 2508 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงทราบถึงความเป็นอยู่ของราษฎรด้วยพระเนตรพระกรรณ ว่าปัญหาของคนไทย แบ่งได้ออกเป็น 3 เรื่องคือ ความเจ็บป่วย ยากจน และไม่รู้ แล้วก็ยังมีพื้นที่อีกมากที่ยังไม่ได้เสด็จฯ ไป ด้วยทรงยึดมั่นในพระทัยของสองพระองค์ว่า ทุกข์สุขของราษฎร คือทุกข์สุขของพระองค์เอง ทรงทุ่มเทมาโดยตลอด
ดังนั้นการทรงงานเพียงไม่กี่วัน จะไม่ค่อยได้งาน ทรงอยากไปให้นานขึ้น จึงรับสั่งให้สร้างพระตำหนักเล็กๆ ไว้ทุกภูมิภาค โดยพระตำหนักแห่งแรกคือที่ภูพิงค์ราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จ. นราธิวาส เพื่อเป็นสถานที่ทรงงานได้เป็นเวลานานๆ
ปีหนึ่งรวมระยะเวลาราว 7 เดือนจะประทับต่างจังหวัด ส่วนที่กรุงเทพฯ จะประทับเฉพาะเวลาที่มีงานพระราชพิธี แต่ไม่ว่าในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงอยู่ที่ไหน สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงโดยเสด็จด้วยทุกครั้ง"
ที่ภาคเหนือ ดอยอ่างขางเป็นแหล่งผลิตฝิ่นขนาดใหญ่
"ที่ดอยอ่างขาง มีการทำไร่เลื่อนลอย ชาวเขาแผ้วถางป่าเพื่อปลูกฝิ่น เกิดผลกระทบทำลายแหล่งน้ำ ไม่เฉพาะในพื้นที่นั้น แต่ยังหมายถึงคนที่อยู่ตลอดรายทางของแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน
ในหลวง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเดินตามสันเขาจากบ้านหลวงมาบ้านคุ้ม ระยะทาง 5 กิโลเมตรกว่าๆ เพื่อทรงเยี่ยมราษฎรและทำให้เขาหันมาปลูกพืชทดแทนการปลูกฝิ่น ทรงทำแบบนี้หลายปีติดต่อกัน ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าตอนนี้เราตามไปดูเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน เช่น ที่บ้านแกน้อย จะทราบว่าชาวบ้านปลูกเคพกูสเบอรี่แค่สามเดือนนำไปขายได้เงินสองแสนกว่าบาท
พระราชกรณียกิจของในหลวง ร.9 ทรงงานเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร หาที่ทำกิน หาแหล่งน้ำ พัฒนาดินให้แก่เขา เช่น ถ้าเขาอยากได้แหล่งน้ำ พระองค์ท่านจะทอดพระเนตรดูแผนที่ ที่มีขนาด 8 แผ่นต่อกัน ว่าถ้าคนที่อยู่ต้นน้ำกักน้ำไว้ แล้วคนที่อยู่ปลายน้ำจะมีน้ำพอใช้มั้ย ทรงคิดอย่างรอบคอบ
ทรงงานประทับบนพื้นที่มีแต่หินคลุก ยิ่งเวลาราวๆ บ่ายสองหลังคาว่าร้อนแล้ว หินคลุกร้อนกว่า พวกช่างภาพบางคนเป็นลมหงายหลังตึงเพราะสู้อากาศร้อนไม่ไหว เพื่อนต้องพาตัวออกไปปฐมพยาบาล แต่ทั้งสองพระองค์ทรงอดทนมาก ประทับนั่งและพูดคุยกับชาวบ้านอยู่อย่างนั้น จนถึงถึงสามสี่ทุ่ม
พอฟ้ามืด ในหลวง ร.9 อยู่กับราษฎร ทอดพระเนตรแผนที่ไม่เห็น สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงฉวยไฟฉายจากใครสักคน มาฉายที่แผนที่ให้ในหลวง ร.9 ทอดพระเนตร วันนั้นร้อนมาก ฉลองพระองค์ชุ่มไปด้วยเหงื่อ"
สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นผู้หญิงที่มีความเด็ดเดี่ยว นภันต์เล่าว่าเมื่อตัดสินพระทัยแล้ว ว่าจะเสด็จฯ พระราชดำเนินที่ใด จะทรงไปให้ถึงที่นั่น แม้พระวรกายจะทรงใส่เฝือกอยู่ก็ตาม
"สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงใส่เฝือกที่พระชังฆัฐิ(กระดูกแข้ง)ร้าว และต้องเสด็จฯ ไปที่หมู่บ้านดอยแม่โถ ซึ่งที่นี่คือแหล่งปลูกดอกไม้ประดับแห่งแรกๆ ก็เสด็จฯ ไปทั้งอย่างนั้น ซึ่งเส้นทางเดิมคือ ประทับเฮลิคอร์ปเตอร์แล้วพระดำเนินลงจากดอยมาหาชาวบ้านอีกที พอพวกชาวบ้านรู้ก็นำม้าขึ้นไปให้ประทับนั่งแทน ส่วนในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงแยกไปทรงงานอีกแห่ง
เมื่อเสด็จฯ ถึง พวกชาวบ้านที่เดินข้ามเขา ตั้งใจหิ้วของมาทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง แต่กว่าจะได้ทูลเกล้าฯ ถวาย พวกผักสดๆ ที่เก็บมาแต่เช้า กลายเป็นผักเหี่ยว ต้นกล้วยไม้ คอพับคออ่อนแล้ว สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงก็ทรงรับไว้
ทรงมีพระเมตตากับชาวบ้านมาก เวลาเสด็จฯ ไปทรงงานที่ภาคใต้ เวลานั้นมีการยิงกันบ่อยมาก สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง รับสั่งให้ตั้งหน่วยแพทย์ที่หน้าพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ทุกวัน เพื่อดูแลผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ต่างๆ
เมื่อเสด็จฯ ออกไปนอกพระตำหนัก ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงห่วงใยสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสมอ แม้จะทรงแยกไปทำงานอีกที ผ่านไปได้สักชั่วโมงหนึ่งก็จะเสด็จฯ ย้อนกลับมาดูว่าประทับที่ไหนแล้ว
ถ้าฝนตก ทั้งสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงกับชาวบ้านก็เปียกกันหมด ตั้งแต่บ่ายสี่โมงถึงสามสี่ทุม พระวรกายเปียกแห้ง เปียกแห้งอยู่อย่างนี้ รับสั่งให้นำผ้าเช็ดตัวพระราชทานแก่ชาวบ้าน เกิดเป็นความผูกพันระหว่างพระองค์ท่านกับราษฎร"
นภันต์ เปิดภาพถ่ายให้ผู้ร่วมฟังการบรรยายได้ชมภาพตามลำดับ
"เวลาประทับอยู่กับราษฎร สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงพระเกษมสำราญ ชาวบ้านฟ้อนถวาย ท่านก็ทรงรำด้วย ใครเจ็บใครป่วยก็มาหา พระองค์ท่านทรงรักษาให้หมด
เรื่องการป่วยไข้ท่านจะดูแลเป็นพิเศษ มีรับสั่งกับแพทย์ประจำพระองค์ตามเสด็จฯ ว่า พระองค์ไม่ประชวร ขอให้คณะแพทย์ไปรักษาประชาชนก็แล้วกัน ตั้งแต่นั้นมาเกิดเป็นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทาน
คนไข้ที่มา ส่วนหนึ่งพระองค์ท่านจะทรงบันทึกประวัติด้วยพระองค์เอง ถ้าเจ็บป่วยน้อยก็จะรักษาได้ทันที แต่ถ้าเจ็บป่วยมาก กองราชเลขานุการในพระองค์จะติดต่อตำรวจชายแดน ทหารในพื้นที่ ช่วยประสานงานกับการรถไฟให้มารับตัวไปรักษาที่จังหวัด หรือส่งมากรุงเทพฯ ซึ่งทุกฝ่ายต้องกราบบังคมทูลถวายรายงานกลับมาที่พระองค์ท่าน จนกว่าจะส่งตัวผู้ป่วยกลับถึงภูมิลำเนา เท่าที่มีการเก็บตัวเลขน่าจะราวๆ หลายแสนคน"
มีคนไข้เคสหนึ่งที่สกลนคร พระองค์ท่านทรงงานเสร็จแล้ว รถยนต์พระที่นั่งเคลื่อนขบวน มีรถเข็นบรรทุกคนป่วยมาไม่ทัน ก็พยายามวิ่งมาข้างทาง สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง รับสั่งให้จอดรถ แล้วทรงรับคนนั้นเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์"
โครงการศิลปาชีพเป็นอีกพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่นภันต์ กล่าวถึง
"ทรงริเริ่มงานศิลปาชีพในทุกหมู่บ้าน ทุกชนเผ่า รับสั่งว่าคนไทยมีหัวทางศิลปะและงานช่าง แต่ละชุมชนมีวัสดุพื้นบ้าน เช่น แถววังไกลกังวลมีป่านศรนารายณ์ ปักษ์ใต้มีย่านลิเถา ทางอีสานมีปอ มีครอบครัวหนึ่งลูกสาวเป็นผู้พิการขาลีบ รับสั่งว่า มาทำงานกับฉันไหม ฉันจะให้สตางค์ จะมีครูมาสอนให้ ทำงานเป็นสมาชิกศิลปาชีพ เด็กคนนี้ก็จะกลายเป็นคนที่หารายได้เข้าบ้าน
คนไหนมีฝีมือ รับสั่งให้มาอยู่โรงเรียนศิลปาชีพ ผลงานต่างๆ ทรงคัดเลือกเอง ไม่ว่าจะเป็นหมอนขิด ผ้าทอ กระเป๋าสาน ทรงรับซื้อจากชาวบ้านนำของมาขายเยอะมาก สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงพกเงินไปไม่พอ รับสั่งใครมีตังค์บ้าง ทรงยืมจากคนที่ตามเสด็จฯ แล้วก็ทำบัญชีจดไว้ แล้วประทับนั่งทรงงานต่อ ทำอยู่อย่างนั้น ทรงพระวิริยะอุตสาหะมาก แดดแรง มีแค่พระมาลาปีกกว้างไว้บังแสงพระอาทิตย์ตอนเที่ยงๆ กระทบกับสมุดที่ทรงบันทึกอยู่เท่านั้น
พวกข้าวของที่ทรงรับซื้อมาจากชาวบ้าน ทรงนำมาจัดแสดงให้ภริยาทูตประเทศต่างๆ ได้ชมกันในงานเลี้ยงที่เรือนชานกลาง บางไทร และเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปสหรัฐอเมริกา รับสั่งว่า
ฉันเป็นแม่ค้า นำของไปขายในห้างนีแมน มาร์คัส พวกฝรั่งตื่นตาตื่นใจ สนุกสนานกันมาก
ซึ่งของหลายร้อยหลายพันชิ้นเป็นงานศิลปาชีพ บางอย่างต้องใช้เทคนิคเชิงช่างโบราณ รื้อฟื้นวิชากลับคืนมา โดยฝีมือลูกหลานที่เป็นชาวไร่ชาวนา สร้างเป็นผลงานนำมาจัดแสดงที่พระที่นั่งอนันตสมาคมมาแล้ว"
น้ำพระทัยของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ยังรวมไปถึงพสกนิกรในประเทศเพื่อนบ้าน
"ตอนเขมรแตก คนหนีตายข้ามมาไทย เข้าทางจังหวัดตราด หวังเอาชีวิตรอด ทางจังหวัดตราดรับมือกับผู้อพยพไม่ไหว ขอความช่วยเหลือมายังสภากาชาดไทย เมื่อความทราบ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จฯ ไปด้วยพระองค์เอง พวกฝรั่งกราบบังคมทูลห้ามไม่ให้เสด็จฯ ไป ก็รับสั่งว่า
ไม่ได้ พระองค์ท่านทรงเป็นองค์สภานายิกาสภากาชาดไทย เขาหนีตายมา ฉันจะไม่ช่วยได้อย่างไร
ก่อนออกเดินทาง รับสั่งกับผู้ตามเสด็จฯ ว่า ให้นำน้ำไปกินเอง ทุกคนดูแลตัวเอง พอเสด็จฯ ไปถึง ทอดพระเนตรเห็นแม่กำลังให้นมลูกแต่ไม่มีน้ำนม ก็สงสาร ต่อมา UNHCR (Office of the United Nations High Commissioner for Refugees) เข้ามาตั้งโรงเรือนให้กับผู้ลี้ภัยสงคราม
สิ่งที่พระองค์ทรงทำ ไม่ได้หวังว่าจะได้อะไร มีองค์กรหนึ่งชื่อว่า Save The Children Federation เป็นองค์กรพิทักษ์เด็ก เห็นในสิ่งที่ทรงทำ โดยผู้แทนหน่วยงานนี้ กราบบังคมทูลว่า จะขอทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลแด่พระองค์ท่านที่สหรัฐอเมริกา"
ในงานนั้น เจ้าภาพอนุญาตให้นภันต์ ตามเสด็จฯ ไปบันทึกภาพที่วอลดอร์ฟ - แอสโทเรีย จากมุมสูง
"ค่ำนั้น เป็นงานเลี้ยงถวายพระกระยาหารค่ำ และผู้จัดงานทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงและผ้าปักหนึ่งผืน ลักษณะเป็นผ้าผืนใหญ่สักสองเมตรกว่าๆ เกือบสามเมตร มองเผินๆ แล้วไม่มีอะไร
แต่จริงๆ แล้ว ผ้าปักผืนนี้ เดิมเป็นผ้าที่ไม่มีลวดลายอะไร ส่งไปยังค่ายผู้ลี้ภัยทั่วโลก แล้วให้เด็กๆ ในค่ายเหล่านั้นเป็นผู้ปักผ้า นำกลับมาทูลเกล้าฯ ถวายพระองค์ท่านในงานนี้ เมื่อทรงรับผ้าผืนนั้นไว้ ทรงกรรแสง"
อีกหน่วยงานหนึ่ง คือ FAO (Food and Agriculture Organization of the United Nations) ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญเซเรสเพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระองค์ท่าน ในฐานะทรงเป็นสตรีดีเด่นที่อุทิศพระองค์เพื่อพัฒนาสตรีและประชาชน ในชนบทให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2522 โดยด้านหน้าออกแบบเป็นพระบรมรูป สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้านหลังของเหรียญเซเรส จารึกข้อความว่า
Give Without Discrimination คือให้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง สื่อความหมายถึงการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงมาอย่างต่อเนื่องได้อย่างชัดเจนที่สุด
เมื่อตอนพิพิธภัณฑ์ศิริราช ทำโครงการพิพิธภัณฑ์สัมผัสเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อผู้บกพร่องด้านการมองเห็น มีคนตาบอดบอกว่าอยากเห็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ว่าพระองค์สวยมั้ย
คณะทำงานลงความเห็นว่า นำเหรียญเซเรสมาขยายใหญ่ เพื่อให้คนตาบอดสัมผัส จากนั้นนำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าสมควรสร้างเหรียญเซเรสจำลองที่มีพระบรมรูปของพระองค์หรือไม่
ในที่สุดมีพระราชกระแสรับสั่งว่า ทำได้ คณะทำงานจึงสร้างเหรียญจำลองดังกล่าวขึ้นมา
พอถึงวันที่เด็กๆ ผู้พิการทางสายตามาที่พิพิธภัณฑ์ศิริราช ผมเดินเข้าไปถามเขาว่า เมื่อได้สัมผัสแล้วรู้สึกยังไง เด็กคนนั้นตอบผมว่า พระองค์ท่านต้องเป็นคนสวยและใจดี" นภันต์ กล่าว
นอกจากงานศิลปาชีพแล้ว ยังมีโครงการพระราชดำริอีกมากมาย
"ครั้งหนึ่งสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินประทับเฮลิคอร์ปเตอร์ผ่านเข้าไปในป่าไปอำเภออมกอย จังหวัดเชียงใหม่ ที่ดินแห้งแล้ง มีแต่เขาหัวโล้น ทรงเกิดความรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง รับสั่งว่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) เป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า
ป่า...ที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า
ทรงทำโครงการป่ารักษ์น้ำ เริ่มที่บ้านถ้ำติ้ว จ.สกลนคร ทรงปลูกประดู่กับต้นยูคาลิปตัส มีการตั้งปรัมพิธี นิมนต์พระสงฆ์ และพราหมณ์มาประกอบพิธี เป็นที่ประทับใจมาก
หลังจากโครงการป่ารักษ์น้ำประสบความสำเร็จ ทรงทำโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ โดยชาวบ้านดำรงชีวิตตามพระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ว่า คนและป่าอยู่ร่วมกันได้ โดยที่คนเป็นผู้ดูแลรักษาป่าอย่างหวงแหนและอยู่ดีมาสุข
โครงการพระราชดำริมีอีกเป็นร้อยเป็นพัน แม้มีพระชนมายุมาก ก็ทรงริเริ่มงานโครงการฟาร์มตัวอย่างในจังหวัดต่างๆ เป็นโครงการระดับชุมชนให้ผู้คนปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ เก็บผลผลิตไว้กิน ที่เหลือนำมาขาย แม้แต่เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ดูเหมือนไกลตัวคนเมือง แต่ใกล้ตัวเรามาก
เมื่อยี่สิบสามสิบปี กอล์ฟเป็นกีฬาที่คนเห่อกันมาก ใครมีที่ดินก็ทำสนามกอล์ฟ ที่ดินแถวนั้นมีนายทุนมาบุกรุกตัดป่าโกงกาง ชาวบ้านมาถวายฎีกาพระองค์ท่าน ทำให้ได้พื้นที่กลับคืนสู่ธรรมชาติ
สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานที่ดินเกาะมันในให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์เต่าทะเล ก่อตั้งศูนย์ศึกษาพัฒนาและอนุรักษ์พันธุ์ปูป่าทุ่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.กระบี่ รวมทั้งเพาะเลี้ยงพันธุ์ปูอย่างยั่งยืน กระทั่งทุกวันนี้ ชาวบ้านมีรายได้จากการจับปูได้วันละ 5 ตัน อีกสิ่งหนึ่งที่ได้มาคือ มีปูก้ามดาบเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่แห่งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผมตามเสด็จ ทรงมีเวลาส่วนพระองค์น้อยมาก ส่วนใหญ่ทรงงานเพื่อประชาชนทั้งสิ้น"