การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้า บุหรี่ไฟฟ้า | กฎหมาย 4.0
ปัจจุบัน บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้นกว่าในอดีต ดังจะเห็นได้จากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของบุคคลโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติในสถานที่ต่างๆ
แม้ว่าประเทศไทยจะมีการบังคับใช้ พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ที่กำหนดมาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และยกระดับการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน และเพื่อให้สอดคล้องกับกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก
ผู้เขียนเคยสอบถามคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีข้อดีหรือข้อด้อยแตกต่างจากบุหรี่ซิกาแรตหรือบุหรี่มวนที่ทุกคนคุ้นเคยอย่างไร บุคคลเหล่านั้นให้คำตอบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความสะดวกมากกว่าการสูบบุหรี่ซิกาแรต เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าพกพาได้ง่ายกว่า นอกจากนี้บุหรี่ไฟฟ้าบางชนิดมีกลิ่นหรือรสชาติที่หลากหลายกว่าบุหรี่ซิกาแรตอีกด้วย
แต่บุหรี่ไฟฟ้าอาจจะหาซื้อได้ยากกว่าบุหรี่ซิกาแรต และอาจจะถูกตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ เพราะบางประเทศยังไม่ได้เปิดเสรีการผลิตและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า
นอกจากนี้ผู้เขียนได้สังเกตอีกว่าคนรุ่นใหม่ วัยรุ่น หรือผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน ต่างสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งบุคคลเหล่านี้สูบบุหรี่ไฟฟ้าด้วยเหตุผลดังที่กล่าวข้างต้น หรือสูบบุหรี่ไฟฟ้าเนื่องจากตนเองเห็นว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้ตนเองมีภาพลักษณ์ที่ดีกว่าการสูบบุหรี่ซิกาแรต หรือการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นวิธีการที่ทำให้ตนเองสามารถเข้าสู่สังคมของกลุ่มคนอีกระดับหนึ่ง
ในด้านการจัดเก็บภาษีอากร บัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตท้ายพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ตอนที่ 14 กำหนดให้สินค้ายาสูบอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีสรรพสามิต โดยมาตรา 159 บัญญัตินิยามที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ
กล่าวคือ “ยาสูบ” หมายความว่า บุหรี่ซิกาแรต บุหรี่ซิการ์ บุหรี่อื่น ยาเส้น ยาเส้นปรุง ยาเคี้ยว และให้หมายความรวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นใดที่บริโภคได้เช่นเดียวกับยาสูบตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
สินค้ายาสูบที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต
กฎหมายฉบับนี้มีการกำหนดสินค้ายาสูบที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีสรรพสามิตออกเป็น 6 ประเภท คือ
1) บุหรี่ซิกาแรต ซึ่งหมายความว่า ยาเส้นหรือยาเส้นปรุง ไม่ว่าจะมีใบยาแห้งหรือยาอัดเจือปนหรือไม่ ซึ่งมวนด้วยกระดาษหรือวัตถุที่ทำขึ้นใช้แทนกระดาษ หรือใบยาแห้งหรือยาอัด
2) บุหรี่ซิการ์ ซึ่งหมายความว่า ใบยาแห้งหรือยาอัด ซึ่งมวนด้วยใบยาแห้งหรือยาอัด
3) บุหรี่อื่น ซึ่งหมายความว่า ยาเส้นหรือยาเส้นปรุง ซึ่งมวนด้วยใบตอง กลีบบัว กาบหมาก ใบมะกา ใบจาก หรือวัตถุอื่นที่มิใช่กระดาษหรือวัตถุที่ทำขึ้นใช้แทนกระดาษ และที่มิใช่ใบยาแห้งหรือยาอัด
4) ยาเคี้ยว ซึ่งหมายความว่า ส่วนใดส่วนหนึ่งของใบยาแห้ง ซึ่งได้ปรุงหรือปนด้วยวัตถุอื่นนอกจากน้ำ เพื่ออมหรือเคี้ยว
5) ยาเส้นปรุง ซึ่งหมายความว่า ใบยาหรือยาอัด ซึ่งได้หั่นเป็นเส้นและปรุงหรือปนด้วยวัตถุอื่นนอกจากน้ำ และ
6) ยาเส้น ซึ่งหมายความว่า ใบยาหรือยาอัด ซึ่งได้หั่นเป็นเส้นและแห้งแล้ว
สำหรับบุหรี่ไฟฟ้า ยังไม่กำหนดเป็นสินค้าที่อยู่ในบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตท้ายพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 แต่มีข่าวคราวในขณะนี้ว่า หน่วยงานของรัฐอยู่ระหว่างพิจารณาจัดเก็บภาษีจากสินค้าบุหรี่ไฟฟ้า
หากพิจารณาถึงการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าบุหรี่แล้ว จะพบว่ามีการกำหนดอัตราภาษีขั้นสูงสุดในอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 90 และอัตราภาษีตามปริมาณ 5 บาทต่อหนึ่งกรัม และมีการบังคับใช้กฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต โดยกำหนดระดับอัตราภาษีตามมูลค่าและอัตราภาษีตามปริมาณของสินค้าในอัตราที่ลดลงจากอัตราภาษีขั้นสูงสุด
ทั้งนี้ ในหลายประเทศมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากสินค้าบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐในหลายมลรัฐ เช่น California Colorado Connecticut Delaware หรือ Georgia เป็นต้น หรือกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรป เช่น ฟินแลนด์ สวีเดน อิตาลี หรือฮังการี เป็นต้น
ในทางหลักการแล้ว มีการจัดเก็บภาษีสินค้าบุหรี่ไฟฟ้าได้ 3 รูปแบบ ดังนี้คือ
1) จัดเก็บภาษีจาก E-liquid หรือน้ำยาที่มีส่วนผสมของสารนิโคติน เนื่องจากน้ำยาที่มีส่วนผสมของสารนิโคตินนี้จะเป็นส่วนสำคัญของการทำงานของบุหรี่ไฟฟ้า และไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นการบริโภคสารนิโคตินรูปแบบหนึ่ง นอกเหนือจากการสูบบุหรี่ซิกาแรต
2) จัดเก็บภาษีจาก Devices หรือตัวเครื่องบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากตัวเครื่องบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทำงานโดยอาศัยน้ำยาที่มีส่วนผสมของสารนิโคติน
3) จัดเก็บภาษีจาก Component Parts and Accessories หรืออุปกรณ์ส่วนควบต่างๆ เช่น แบตเตอรี่ หรืออุปกรณ์สร้างควันและความร้อน เป็นต้น
สินค้าบุหรี่ไฟฟ้า มีการกำหนดอัตราภาษีตามปริมาณ เช่น 40 เซนต์ (Cents) ต่อปริมาณน้ำยาที่มีส่วนผสมของสารนิโคติน 1 มิลลิลิตร หรือกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าของสินค้าบุหรี่ไฟฟ้า เช่น ร้อยละ 90 ของราคาขาย เป็นต้น และกำหนดอัตราภาษีตามปริมาณและมูลค่าของสินค้าบุหรี่ไฟฟ้าควบคู่กัน
นอกจากนี้ในทางปฏิบัติ มักมีการจัดเก็บ ภาษีบุหรี่ไฟฟ้า จากผู้ผลิตและจำหน่ายมากกว่าจัดเก็บภาษีสินค้าบุหรี่ไฟฟ้าจากผู้บริโภคเป็นการทั่วไป เนื่องจากสามารถจัดเก็บภาษีได้ง่ายและสะดวกมากกว่า
ในท้ายที่สุดผู้เขียนเห็นว่าในอนาคตคงไม่อาจหลีกเลี่ยงการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากสินค้าบุหรี่ไฟฟ้าได้ เนื่องจากปัจจุบันผู้สูบบุหรี่รายเดิมและรายใหม่ต่างหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น รวมถึงมีความต้องการสินค้าบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาที่มีส่วนผสมของสารนิโคตินมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย
คงต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนต่อไปว่า การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทยจะมีรูปแบบการจัดเก็บภาษีอย่างไรให้มีความเป็นธรรมและอำนวยรายได้ภาษีอากรให้กับประเทศ.
คอลัมน์ กฎหมาย 4.0
ผศ.ดร.กฤษรัตน์ ศรีสว่าง
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ผศ.ชัยยุทธ ถาวรานุรักษ์
วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์