ผบ.ทร.ร่วมงานรำลึก 130 ปี วิกฤตการณ์ ร.ศ.112
"กองทัพเรือ" จัดกิจกรรมรำลึก 130 ปี วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 โดยมี ผบ.ทร. ร่วมงานตั้งแต่เช้าถึงเย็น ย้ำเตือน ไทย ถูกคุกคามอำนาจตะวันตก
13 ก.ค. 2566 เวลา 10.00 น. พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานงานวันรำลึกวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ประจำปี 2566 ณ อุทยานประวัติศาสตร์ทหารเรือ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ โดยพิธีในภาคเช้าประกอบด้วย พิธีวางพานพุ่ม ถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิธีวางพวงมาลาบริเวณด้านบนปืนเสือหมอบ พิธียิงปืนเสือหมอบ พิธีสดุดีวีรชนในเหตุการณ์ ร.ศ.112 พิธีสงฆ์ ส่วนพิธีในภาคบ่ายประกอบด้วย การเสวนาทางวิชาการ หัวข้อ “130 ปี วิกฤตการณ์ร.ศ.112” โดยมี Stig Vagt – Andersen นายสมชาย ชัยประดิษฐรักษ์ นายสงวน รัถการโกวิท และ ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ ดำเนินการอภิปราย กิจกรรมชมปืนเสือหมอบ และพิธีรำลึก
130 ปี วิกฤตการณ์
วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 เป็นเหตุการณ์สำคัญที่คนไทยพึงเรียนรู้ เพื่อเตือนใจลูกหลานไทยตระหนักว่าครั้งหนึ่งผืนแผ่นดินไทยได้ประสบกับภัยสงคราม นับตั้งแต่รัชกาลที่ 4 จวบจนต้นรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยต้องประสบกับภัยคุกคามจากชาติมหาอำนาจตะวันตกเป็นเวลาหลายสิบปี โดยเฉพาะกับประเทศฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคาดการณ์ล่วงหน้าได้เป็นอย่างดี จึงทรงเร่งรัดให้เตรียมการรักษาพระนครอย่างเร่งด่วน เช่น การสร้างป้อมที่ตำบลแหลมฟ้าผ่า เพื่อเป็นด่านแรกที่จะยับยั้งข้าศึกที่จะเข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้พระองค์ได้พระราชทานเงินจำนวน 10,000 ชั่ง (800,000 บาท) สำหรับสร้างป้อมแห่งใหม่
ต่อมาป้อมปืนแห่งใหม่ของสยามได้สร้างเรียบร้อยในต้นปี พ.ศ.2436 (ร.ศ.112) พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือพระที่นั่งมหาจักรี เพื่อทอดพระเนตรป้อม ในวันที่ 10 เมษายน 2436 และได้ทรงพระราชทานนามป้อมปืนแห่งนี้ว่า “ป้อมพระจุลจอมเกล้า” ปืนดังกล่าวนี้ คราวจะยิงต้องใช้แรงน้ำมันอัดยกปืนให้โผล่พื้นหลุม และเมื่อยิงกระสุนพ้นลำกล้อง ปืนจะลดตัวลงมาอยู่ในหลุมตามเดิม คนไทยจึงเรียกว่า “ปืนเสือหมอบ”
หลังจากนั้น เหตุการณ์ก็เป็นไปดังที่พระองค์ทรงคาดไว้ทุกประการ กล่าวคือ เมื่อไทยไม่ยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงตามที่ฝรั่งเศสเรียกร้อง ในวันที่ 13 กรกฎาคม ร.ศ. 112 ฝรั่งเศสจึงนำเรือรบสองลำ ชื่อเรือโกแมต และเรือแองคองสตังค์ มุ่งหน้าเข้ามาที่กรุงเทพพระมหานคร ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการต่อสู้ระหว่างไทยและฝรั่งเศสที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ด้วยกำลังแสนยานุภาพของสองประเทศที่แตกต่างกันอย่างมาก ทำให้เรือรบฝรั่งเศสทั้ง 2 ลำ คือเรือโกแมตและเรือแองคองสตังค์สามารถผ่านป้อมผีเสื้อสมุทรเข้ามาได้จนถึงกรุงเทพฯ จอดเทียบท่าอยู่หน้าสถานกงสุลฝรั่งเศส
แม้ว่าฝ่ายไทยจะด้อยแสนยานุภาพกว่าฝรั่งเศสด้วยประการทั้งปวง ทว่าจิตใจและความหาญกล้าของทหารไทยนั้นมิได้ย่นย่อเกรงกลัวข้าศึกแต่ประการใด วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ครั้งนั้น ได้นำมาสู่สถานการณ์ที่ฝรั่งเศสเรียกร้องผลประโยชน์ และการครอบครองดินแดนไทยยืดเยื้ออยู่นานกว่า 10 ปี ไทยต้องยอมสูญเสียดินแดนเป็นจำนวน ถึง 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมดให้ฝรั่งเศส เพื่อรักษาผืนแผ่นดินส่วนใหญ่ และเอกราชไว้ ในปัจจุบัน ป้อมพระจุลจอมเกล้า ได้เป็นอนุสรณ์รำลึกถึงวีรชนผู้ที่เสียสละชีพในเหตุการณ์ ร.ศ. 112 และเป็นสถานที่สำหรับศึกษาด้านประวัติศาสตร์ เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิพิธภัณฑ์ป้อมพระจุลจอมเกล้า ป้อมปืนเสือหมอบ พิพิธภัณฑ์เรือหลวงแม่กลอง ลานจัดแสดงอาวุธกลางแจ้ง และ เส้นทางชมป่าชายเลนอันร่มรื่นและแวดล้อมด้วยสัตว์ประจำถิ่นนานาชนิด