รำลึกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผ่านร่องรอยกรุงธนบุรี

รำลึกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผ่านร่องรอยกรุงธนบุรี

กรุงธนบุรี อดีตเมืองหลวงของประเทศไทย เต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ยุคสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผู้ทรงสร้างบ้านแปงเมืองหลังผ่านสงครามให้กลับมาสงบร่มเย็น

รำลึกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผ่านร่องรอยกรุงธนบุรี

วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี ตรงกับ‘วันปราบดาภิเษก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช’ พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน จัดนิทรรศการ 'ร่องรอยกรุงธนบุรี ณ ศิริราช' Vestisge of THONBURI in Siriraj Hospital ณ พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน เนื่องในโอกาสวันสำคัญนี้ โดยมีชัยยศ เจริญสันติพงศ์  นักวิชาการหน่วยพิพิธภัณฑ์ศิริราช เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านยุคสมัย

“นิทรรศการนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยกรุงธนบุรีเป็นเมืองที่พระองค์ท่านทรงก่อสร้างขึ้นมาภายหลังจากที่อยุธยาแพ้สงคราม ทรงมีความตั้งใจกอบกู้เอกราชด้วยการรวบรวมคนมาช่วยกันสร้างบ้านเมืองเป็นปึกแผ่น 

แม้รบชนะพม่าแล้ว แต่พระราชภารกิจของพระองค์ท่านไม่ได้มีเพียงแค่นี้ การสร้างเมืองให้กลับมายิ่งใหญ่เหมือนในอดีตก็สำคัญไม่แพ้กัน หลังเสร็จสิ้นสงครามแล้ว จึงกลับมาสำรวจเมืองอยุธยาซึ่งอยู่ในสภาพเสียหายอย่างหนัก จำเป็นต้องย้ายไพร่พลมาอยู่ที่กรุงธนบุรีเพื่อสร้างเป็นเมืองหลวงใหม่แทน 

มีบันทึกว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระราชทานข้าวสารแก่ใครก็ตามที่เข้ามาช่วยกันสร้างบ้านเมือง ทรงผูกสัมพันธไมตรี ติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ดังนั้น ตลอดระยะเวลา 15 ปี ถือเป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากอยุธยามาสู่กรุงธนบุรี และเป็นการวางฐานที่สำคัญให้แก่ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ในเวลาต่อมา”

นอกจากบันทึกประวัติศาสตร์ของกรุงธนบุรีที่มาแต่เก่าก่อน หลักฐานสำคัญที่สามารถพบเห็นได้ในปัจจุบันในบริเวณโรงพยาบาลศิริราช อาทิ กำแพงเมือง พระราชวังอันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 
รำลึกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผ่านร่องรอยกรุงธนบุรี

รำลึกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผ่านร่องรอยกรุงธนบุรี “ภายหลังจากการกวาดต้อนผู้คนยังกรุงธนบุรี แบ่งหน้าที่โดยให้พวกผู้ชายออกไปช่วยรบ ส่วนงานสร้างเมืองก็เหลือแต่ผู้หญิงกับผู้สูงอายุ ตอนที่คณะทำงานขุดคนเจอแนวกำแพง มีก้อนอิฐและเศษอิฐที่กองกระจัดกระจายหลุดออกจากกัน 

ผมเข้าใจว่าเมื่อสังเกตสิ่งเหล่านี้ ถ้าดูภาพรวมของการก่อกำแพง จะเห็นว่าไม่ได้มีรูปแบบการก่อเป็นแพทเทิร์นสวยงาม อาจมีปัจจัยเรื่องคนไม่รู้งานช่าง หรือมีแม่กองคุมงาน แล้วก็มีชาวบ้านเป็นแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญการก่อสร้างน้อย การเผาอิฐใหม่เพื่อสำหรับใช้ก่อสร้างก็ไม่ทันกับความต้องการ ดังนั้นสิ่งของที่ทำขึ้นมาใหม่ จึงไม่ประณีตมาก มีความจำเป็นต้องไปรื้ออิฐมาจากอยุธยา 

แล้วยังเห็นประโยชน์อีกข้อหนึ่งว่า การไปรื้อค่ายของข้าศึกที่ตั้งอยู่ในอยุธยาออกเสีย ในอนาคตถ้าพวกศัตรูมารบกับไทยก็จะต้องเสียเวลาสร้างค่ายใหม่ ซึ่งใช้เวลานานมาก  

สอดคล้องกับพงศาวดารกรุงธนบุรีว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดฯ ให้ตั้งเมืองธนบุรี โดยนำไม้ทองหลาง ทำเป็นกำแพงเมืองแล้วให้ไปรื้ออิฐจากเมืองพระประแดงและค่ายพม่าที่สีกุก บางไทร คณะทำงานเจอชิ้นที่ถูกถากจากส่วนประกอบสถาปัตยกรรมต่างๆ เมื่อนำมาก่อเป็นกำแพง อิฐด้านที่ถูกถากวางไว้ด้านใน ด้านเรียบไว้ข้างนอก

บางชิ้นมีการสอปูนหรือฉาบปูน บางชิ้นก็ไม่มี ซึ่งกำแพงที่เราเจอ สอด้วยดิน ไม่ใช่ปูน ซึ่งใน ‘นิทรรศการร่องรอยกรุงธนบุรี’ นำมาจัดแสดงให้ชมด้วย มีอิฐที่มีขนาดต่างกัน อิฐบางก้อนมีรอยเท้าสุนัข บางก้อนมี 4 รู ทำให้เห็นแกลบที่เป็นส่วนผสมของเนื้ออิฐ การเจาะรูบนก้อนอิฐ มีหลายข้อสันนิษฐาน ตามความคิดเห็นของผม น่าจะมาจากการเจาะเพื่อให้ความร้อนแผ่เข้าไปถึงด้านใน อิฐสุกทั่วถึง”

รำลึกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผ่านร่องรอยกรุงธนบุรี

รำลึกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผ่านร่องรอยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเป็นนักบริหารจัดการ ทรงมองการณ์ไกล อีกทั้งทรงทำนุบำรุงพระศาสนาโดยเฉพาะวัดแจ้ง หรือวัดอรุณราชวรารามราชวรวิหาร ชื่อที่คนในยุคปัจจุบันคุ้นเคยกัน  

“หลังจากทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยา มีพระราชประสงค์โปรดฯ ให้ย้ายราชธานีมาตั้งอยู่ ณ กรุงธนบุรี จึงเสด็จพระราชดำเนินล่องเรือครั้นมาถึงหน้าวัดมะกอก ก็เป็นเวลาอรุณรุ่งแจ้งพอดี จึงเสด็จพระราชดำเนินไปสักการะบูชาพระปรางค์พระมหาธาตุ จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดมะกอก แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า วัดแจ้ง ตลอดระยะเวลาทรงครองราชย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย สังเกตได้จากพระราชวังเดิม ที่ประทับ ก็สร้างแบบโถงโล่งๆ ไม่หรูหราเหมือนพระราชวังอย่างอยุธยา” 

ชัยยศกล่าวแล้ว นำชมร่องรอยแห่งการก่อร่างสร้างเมืองธนบุรี ซึ่งปรากฏเด่นชัดจากหลักฐานที่ค้นพบบริเวณโดยรอบโรงพยาบาลศิริราช 

“พื้นที่ของศิริราช ตั้งอยู่ตรงคลองบางกอกน้อยและพื้นที่บริเวณนี้ใช้งานมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีการค้นพบแผนที่ของกรุงธนบุรี เมื่อเราศึกษาก็พบว่าเห็นการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ ตัวแผนที่สอดคคล้องกับงานขุดค้นโบราณคดี เมื่อปีพ.ศ. 2551 ตอนก่อสร้างโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ คณะทำงานขุดเจอพื้นที่ส่วนหนึ่งของพระราชวังหลัง 

รำลึกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผ่านร่องรอยกรุงธนบุรี ตามตำนานวังเก่าที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ว่า กำแพงวังหลังเป็นส่วนหนึ่งของกรุงธนบุรีมาก่อน เมื่อสร้างวังหลังขึ้นมา นำกำแพงเป็นเขตแนวของวัง โดยมีป้อมมุมเมืองมาตั้งแต่คราวนั้น” 

ชัยยศ นำชมส่วนจัดแสดงแผนที่เพื่อให้เห็นภาพรวมของการใช้พื้นที่ในแต่ละยุคสมัย เริ่มจากแผนที่กรุงเทพมหานครในยุคพ.ศ.2430 แผนที่ในปีพ.ศ. 2475 และแผนที่โรงพยาบาลศิริราช ตามลำดับ 

“จริงๆ เราค้นพบแผนที่มากกว่านี้ แต่ที่คัดมาจัดแสดงเพียงบางส่วนก็เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนว่า เมื่อมีการขุดค้นทางโบราณคดี เราเจอส่วนที่เป็นพระราชวังหลัง พอค้นคว้าเพิ่มเติมก็พบว่า ไม่ใช่มีแค่พระราชวังหลัง แต่มีกำแพงเมืองกรุงธนบุรีด้วย มีอีกหลายอย่างสื่อให้เราเห็นว่า พื้นที่ภายในศิริราช มีการใช้งานมาตั้งแต่กรุงธนบุรี พวกโบราณวัตถุ เจอเครื่องปั้นดินเผาทำจากวัสดุต่างๆ มีทั้ง เครื่องถ้วยลายคราม เครื่องเบญจรงค์สมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งตรงกับยุคอยุธยาตอนปลาย 

พวกข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้ ขนส่งมาทางเรือรวมกับสิ่งของที่ชาวจีนในไทยใช้งาน คนมีฐานะก็นิยมเครื่องเบญจรงค์ซึ่งในเวลานั้นประเทศไทยยังผลิตไม่ได้ จึงออกแบบให้จีนทำแล้วส่งกลับมา สังเกตได้จากเครื่องปั้นลวดลายรูปเทพนม หน้าจีนตาตี่ รูปชฎาวาดเหมือนหมวกของขุนนางจีน บางชิ้นมีลายพันธุ์พฤกษาที่พยายามเลียนแบบเครื่องเบญจรงค์ของไทย

ผลิตเป็นเครื่องลายคราม ภาชนะเนื้อดิน(earthenware) ภาชนะเนื้อแกร่ง (stoneware) สองชนิดนี้สำหรับใช้ในครัวเรือน บางส่วนมาจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศแถบยุโรป เครื่องปั้นดินเผากระเบื้อง (porcelain)ลอกพิมพ์ลาย หรือมีตราประทับเครื่องหมายการค้า ทำให้เราทราบแหล่งที่มาว่ามาจากยุโรป”

รำลึกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผ่านร่องรอยกรุงธนบุรี ส่วนแผนที่กรุงธนบุรีวาดโดยสายลับชาวพม่าที่พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถานได้รับความอนุเคราะห์จากศาสตราจารย์ สุเนตร ชุตินธรานนท์ อนุญาตให้ทำสำเนามาจัดแสดง นับว่าช่วยให้ผู้ชมเห็นความเป็นไปของอดีตได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น 

“แผนที่กรุงธนบุรีที่วาดโดยสายสับชาวพม่า พวกข้าศึกตั้งใจว่าจะใช้แผนที่นี้โจมตีเมืองในเวลาที่เหมาะสม ในนี้มีแผนผังสถานที่สำคัญ เช่น แนวกำแพงเมือง พระราชวังเดิม โรงเก็บพระพุทธรูป โรงเลี้ยงช้าง คลองบางกอกใหญ่ คลองบางกอกน้อย แม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ที่ถูกขุดขึ้น รวมทั้งเส้นทางเข้าออกอาคารต่างๆ  

มีจระเข้ ปลา กวาง นก ลิง ขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค บ้านเรือนริมน้ำและเรือนแพ มีข้อความเขียนเป็นภาษาพม่า โดยทางพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ทำจอทัชสกรีนเปรียบเทียบพื้นที่อดีตกับปัจจุบันเพื่อให้ผู้ชมเห็นภาพชัดเจนขึ้น เช่น โรงช้างเผือกก็คือโรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบัน วัดหลวงคือวัดระฆังโฆษิตาราม โรงเก็บพระพุทธรูปก็คือวัดอรุณราชวราราม” 

การใช้พื้นที่ของกรุงธนบุรีมีอย่างยาวนานและต่อเนื่องมาถึงยุครัตนโกสินทร์ โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 ระหว่างพ.ศ.2437-2443 มีการสร้างพระราชวังเจ้าเชียงใหม่ สัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับล้านนา สมัยปฏิรูปการปกครองสู่ระบบมณฑลเทศาภิบาล โดยพระราชวังเจ้าเชียงใหม่ เป็นวังที่ประทับของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครฝ่ายเหนือยามที่ทรงเดินทางมาเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยหลวงอุดรภัณฑ์พานิช หรือจีนเต็งสร้างถวายด้วยสัญญาทางธุรกิจและใช้เป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายเหนือมาตลอด 

รำลึกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผ่านร่องรอยกรุงธนบุรี กระทั่งวังพระเจ้าเชียงใหม่ร้างลง เมื่อพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ถึงแก่พิราลัย ทำให้สัญญาทางธุรกิจกับหลวงอุดรภัณฑ์พานิชหรือจีนเต็ง จึงสิ้นสุดตามไปด้วยซึ่งในขณะนั้นอำนาจการปกครองของราชสำนักสยามแผ่ขยายไปถึงเชียงใหม่ จีนเต็งต้องการให้ราชสำนักชดเชยเงินค่าเสียหายทางธุรกิจที่เกิดขึ้นนี้ พระราชายาเจ้าดารารัศมี ในฐานะพระราชธิดาพระเจ้าอินทวิชยานนท์  จึงต้องถวายวังให้เป็นของรัฐบาลสยามในปีพ.ศ.2452 เพื่อให้รัฐจ่ายเงินชดเชยแก่จีนเต็ง ปัจจุบันพระราชวังเจ้าเชียงใหม่กลายเป็นหอสมุดศิริราชและหอมหิตลาคาร สมเด็จพระราชปิตุจฉา

“บริเวณนี้ ยังมีการสร้างโรงพยาบาลศิริราช การสร้างสถานีรถไฟกรุงธนบุรี โดยอาคารสถานีรถไฟหลังเก่าก็กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน โรงเรียนกุลสตรีวังหลังก่อนพัฒนาพื้นที่กลายเป็นโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ในปัจจุบัน ในแผนที่ช่วงปีพ.ศ. 2475 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 7 บริเวณที่เป็นต้นทางของรถไฟสายใต้ที่มีการก่อสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั้งด้านการขนส่งสินค้าหรือการโดยสารของผู้คน มีการขยายแนวรางรถไฟและสร้างอาคารใหม่ในโรงพยาบาลศิริราชก็ขยายอาคารเพิ่มขึ้น  

เหตุการณ์สำคัญที่ทำใหเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาคือ ช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นจุดยุทธศาสตร์เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกเข้าประเทศไทย ยกพลขึ้นบกและยึดสถานีรถไฟบางกอกน้อย เป็นฐานที่มั่นในการขนถ่ายอาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียงอาหาร เป็นเหตุให้ฝ่ายสัมพันธมิตร ต้องทิ้งระเบิดเพื่อยึดคืนกลับมาให้ได้” 

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 สร้างความเสียหายในวงกว้าง  มีทั้งส่วนที่เป็นสถานีรถไฟ วัดอมรินทรารามวรวิหารและโรงพยาบาลศิริราช การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ครั้งใหญ่จึงเกิดขึ้น   

รำลึกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผ่านร่องรอยกรุงธนบุรี

“มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับความเสียหายของตัวอาคาร ข้อแรกคืออาคารเดิม ถูกระเบิดแล้วสร้างอาคารใหม่ขึ้นมา แต่อีกข้อหนึ่งคือ ความที่รถไฟได้รับความนิยมจากผู้ใช้บริการมากขึ้น ส่งผลให้อาคารหลังเดิม ไม่สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพียงพอ เลยมีการสร้างอาคารใหม่ให้ใหญ่ขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแต่ผู้ใช้บริการ โดยเริ่มสร้างเมื่อปีพ.ศ.2491 เป็นต้นมา”

อาคารสถานีรถไฟธนบุรีหลังใหม่นี้ ได้รับการออกแบบโดยหม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ ทรงเป็นสถาปนิกการรถไฟ โดยนำสถาปัตยกรรมยุโรป มาเป็นแนวคิดในการออกแบบอาคาร สร้างแล้วเสร็จเปิดใช้งาน ในปีพ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินมาประทับรถไฟจากสถานีกรุงธนบุรีไปฮันนีมูนที่วังไกลกังวล 

“หลังจากนั้น อาคารสถานีรถไฟธนบุรีก็ใช้งานเรื่อยมา จนถึงปีพ.ศ. 2546 ต่อมารัฐบาลมอบพื้นที่สถานีรถไฟบางกอกน้อยทั้งหมด 33 ไร่ให้กับโรงพยาบาลศิริราช พัฒนาเป็นสถาบันทางการแพทย์สยามินทร์ทราธิราช และการก่อสร้างโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ มีอาคารวิจัย สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน 4 หลัง โดยอาคารแรกเป็นอาคารอนุรักษ์ หลังที่สองเดิมคืออาคารรับส่งสินค้าปัจจุบันเป็นสำนักงานของหน่วยพิพิธภัณฑ์ อาคารหลังที่สามและสี่เป็นอาคารคลังสินค้า ต่อมาเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน เล่าเรื่องประวัติความเป็นมาของพื้นที่บริเวณนี้

รวมทั้งงานขุดค้นและอนุรักษ์ เมื่อคณะทำงานเจอหลักฐานทางโบราณคดี จึงกราบบังคมทูลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งยังมีพระราชวินิจฉัยให้อนุรักษ์ไว้ จากนั้นทางศิริราชร่วมกันหารือ ออกแบบการทำงานที่เหมาะสมโดยประสานงานกับกรมศิลปากร ปรับแก้แบบราวๆ สามถึงสี่ปี

รำลึกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผ่านร่องรอยกรุงธนบุรี กระทั่งสรุปเป็นอาคารอนุรักษ์ ตัดความชื้นฉีดอีพ็อกซี่เรซินเข้าไป ระหว่างเจอป้อมในตำแหน่งเดิม โดยอีพ็อกซี่เรซินจะแทรกเข้าไปในระหว่างชั้นแนวอิฐ เนื่องจากปัญหาแนวอิฐเสียหายเพราะน้ำใต้ดินขึ้นลงตามแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดเวลา โดยพัดพาวัสดุ เกลือหรือความเค็มที่มากับดินเข้ามาอยู่ในอิฐ เกิดผลึกดันในช่องรูพรุนของอิฐ และความชื้นจากน้ำใต้ดินดันอิฐแตกออกมา ทำให้อิฐเสื่อมสภาพ 

การใช้อีพ็อกซี่เรซิน จะช่วยให้เราเก็บรักษาหลักฐานทางโบราณคดีส่วนหนึ่งของเดิมไว้ที่ใต้ดิน ในอนาคตหากมีเทคโนโลยีที่ดีกว่านี้ เราจะนำส่วนที่ยังไม่ถูกรบกวนใดๆ เลย นำขึ้นมาใช้ ศึกษา คนที่มาชมพิพิธภัณฑ์จะได้รับประสบการณ์การเห็นโบราณสถานจริง ในสถานที่จริง   

มีการใช้ชีทไพล์กดรอบผนัง กันดินสไลด์ลงมมรอบหลุม บริเวณพื้นทำราง ติดตั้งปั้มน้ำสองตัวมีแกนสี่ระดับ เมื่อน้ำขึ้นมาถึงระดับต่างๆ เมื่อไหร่ ปั้มน้ำจะทำงานเพื่อไม่ให้น้ำท่วมในหลุม โครงหลังคา เปิดหัวท้ายที่ไม่ออกแบบเพียงแค่ความสวยงาม แต่มุ่งเน้นไปถึงการระบายและหมุนเวียนอากาศ บีบให้ลมพัดผ่านเพื่อให้ช่วยลมรักษาสภาพวัตถุโบราณ ป้อมพระราชวังหลังที่คณะทำงานเชื่อว่าเป็นกำแพงเมืองธนบุรีไม่ให้เสียหาย”  

ร่องรอยธนบุรี ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่รอให้คุณๆ ร่วมค้นหา ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ ‘ร่องรอยกรุงธนบุรี ณ ศิริราช’ Vestisge of THONBURI in Siriraj Hospital เนื่องในวันคล้ายวันปราบดาภิเษกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งแต่วันนี้ถึง 6 มกราคม 2568 ณ พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่เวลา 10.00 น. - 17.00 น. เว้นวันอังคารและวันนักขัตฤกษ์

รำลึกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผ่านร่องรอยกรุงธนบุรี

รำลึกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผ่านร่องรอยกรุงธนบุรี