หน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พึ่งพิงของผู้ด้อยโอกาส
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงห่วงใยสุขภาพอนามัยโดยเฉพาะการรักษาช่องปากและฟันของพสกนิกรในถิ่นทุรกันดาร อีกทั้งผู้มีรายได้น้อย มีโอกาสในการเข้าถึงการรักษาที่ดี
พระราชกระแสทรงห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับการรักษาสุขภาพช่องปากและฟัน เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเข้ารับการรักษาพระทนต์ และมีรับสั่งกับศาสตราจารย์ พันโท ทันตแพทย์ สี สิริสิงห ทันตแพทย์ประจำพระองค์ เมื่อเสร็จสิ้นจากการถวายการรักษาพระทนต์ ทำให้ทรงทราบว่าประชาชนที่อยู่พื้นที่ห่างไกล หากมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากและฟัน จะไม่มีทันตแพทย์คอยให้บริการรักษา เพราะทันตแพทย์จะมีเฉพาะโรงพยาบาลประจำจังหวัดเท่านั้น การนี้ จึงพระราชทานคำแนะนำ ใจความตอนหนึ่งว่า
“การจะให้ราษฏรที่มีปัญหาเรื่องฟัน หยุดการทำนา ทำไร่ เดินทางไปหาหมอนั้น เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ในทางตรงกันข้าม หากเป็นการให้บริการเคลื่อนที่ ไปสู่ประชาชนก็จะเป็นการแก้ปัญหาได้ทางหนึ่ง ฉันต้องการให้หมอช่วยไปดูแลบำบัดทุกข์ ให้แก่เด็กนักเรียนและประชาชนที่อยู่ห่างไกลหมอ”
จากพระราชกระแสดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรถยนต์ทำฟันเคลื่อนที่จำนวน 1 คัน เพื่อใช้เป็นหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ส่วนพระองค์ โดยทรงประกอบพิธีเจิมรถเพื่อเป็นสิริมงคล เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2513 ณ พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
อีกหนึ่งวันถัดมา หน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ออกปฏิบัติงานให้บริการทันตกรรมเคลื่อนที่เป็นครั้งแรก ที่อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรื่อยขึ้นมาจนถึงจังหวัดนครปฐม ตามรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยรถทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทานจอดให้บริการรักษาและดูแลสุขภาพช่องปากให้กับราษฏรที่ยากจนตามตำบลและอำเภอต่างๆ ตลอดเส้นทางแห่งละ 1 วัน
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งหน่วยทันตกรรมพระราชทานฯ ขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมีกำหนดการออกให้บริการทันตกรรมในจังหวัดต่างๆ เป็นประจำโดยเฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง และในทุกปีจะร่วมกันออกให้บริการ หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ในถิ่นทุรกันดารอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ครั้งละ 1 สัปดาห์
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของหน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานคำแนะนำในการปฏิบัติงาน ดังปรากฏในพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า
“ควรได้มีการสำรวจเส้นทางก่อนการปฏิบัติงานและควรมีการติดต่อกันกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเมื่อได้ปฏิบัติครบแล้ว ให้ปฏิบัติซ้ำอีกเป็นรอบที่สอง ผลการปฏิบัติงานในรอบแรกเป็นอย่างไร อาจตัดสินใจได้จากจำนวนคนไข้ที่มาในครั้งที่สองนี้ และเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่พลาดโอกาสจากครั้งแรก
ทันตแพทย์อย่าดูแต่เรื่องฟันอย่างเดียว ให้ดูเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น สังเกตขาเจ็บ ตาบวมเจ็บคอ ฯลฯ เพราะทันตแพทย์ก็เป็นแพทย์เหมือนกัน เรียนมาเหมือนกัน ถ้ารักษาได้ ก็ควรให้การรักษา ถ้ารักษาไม่ได้ ควรให้คำแนะนำส่งต่อไปรักษา ราษฏรจะได้รับการดูแลแต่เนิ่นๆ และต้องซักถาม ทุกข์ สุข เรื่องการทำมาหากิน ถนนหนทาง น้ำท่า เพราะถ้าน้ำไม่มี จะให้แปรงฟันวันละ 2 ครั้งได้อย่างไร ถนนไม่ดี จะให้มาหาหมอปีละ 2 ครั้ง ได้อย่างไร”
เมื่อการดำเนินงานรุดหน้าอย่างต่อเนื่อง หน่วยทันตกรรมพระราชทานฯ สามารถให้บริการตรวจฟัน วินิจฉัยด้วยภาพรังสี ถอนฟัน ผ่าตัดฟันคุด ขูดหินปูน อุดฟัน รักษาคลองรากฟัน ใส่ฟันเทียมบางส่วนชนิดถอดได้ ใส่ฟันเทียมทั้งปาก และให้ความรู้ด้านทันตสุขศึกษาได้ทั้งหมด ภายในหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ จนนำมาสู่การขนานนามว่าเป็นหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ที่ใหญ่ที่สุด มีทันตแพทย์อาสาสมัครและบุคลากรเข้าร่วมปฏิบัติงานทั้งที่เป็นชาวไทยและต่างชาติร่วมให้บริการราว 100-150 คน สามารถให้บริการประชาชนได้ประมาณ 1,500-1,800 คนต่อวัน
นอกจากนี้ ยังขยายผลไปสู่งานวิจัยและพัฒนาโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก (เจลลี่โภชนา) สำหรับผู้ป่วยมะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอ สามารถรับประทานได้ง่ายโดยไม่พึ่งสายยาง มีคุณทางทางโภชนาการและสารอาหารครบถ้วน ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เจลลี่โภชนาได้รับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กับคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) การรับรองมารตรฐานอาหารฮาลาล จากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยตามบัญญัติศาสนาอิสลามให้ชาวมุสลิมสามารถรับประทานได้ และจดสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา
โครงการนวัตกรรมอาหารต้านมะเร็งช่องปาก เป็นโครงการต่อยอดจากโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหาร สำหรับผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก (เจลลี่โภชนา) เพื่อศึกษาวิจัยสารธรรมชาติ ยับยั้งเซลล์มะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โครงการวิจัยและพัฒนารากฟันเทียมเพื่อผลิตรากฟันเทียมในประเทศ ให้โอกาสแก่ผู้สูญเสียฟันและมีรายได้น้อยอย่างเท่าเทียม
โครงการศึกษานวัตกรรมอาหารที่มีวัตถุประสงค์พิเศษสำหรับผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุที่ป่วยโรคเบาหวาน ไต อัลไซเมอร์ เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนและเหมาะสมตามหลักโภชนาการ โครงการศึกษายาฆ่าเชื้อจากหญ้าแฝก เพื่อป้องกันฟันผุและป้องกันโรคปริทันต์ โดยมูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกันวิจัยโครงการวิจัยละพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดจากหญ้าแฝกภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(สำนักงาน กปร.) สำหรับงานทันตกรรมทั่วไปและเฉพาะทาง
โครงการวิจัยและพัฒนากระดูกเทียม (Bone Filler) เพื่อผลิตวัสดุเสริมกระดูกสังเคราะห์ขึ้นภายในประเทศตามมาตรฐานสากล ลดการนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาสูง โครงการวิจัยและพัฒนาอาหารที่มีวัตถุประสงค์พิเศษสำหรับเด็ก เพื่อส่งเสริมให้เด็กไทยได้รับอาหารที่มีประโยชน์ เน้นส่วนผสมที่เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันและขับถ่าย
โครงการวิจัยและพัฒนารากเทียมสำหรับยึดอวัยวะเทียมบริเวณใบหน้า เพื่อแก้ไขความผิดปกติของใบหน้าให้มีรูปร่าง ทำหน้าที่เหมือนอวัยวะเดิม โครงการวิจัยและพัฒนาเครื่องสแกนฟันในช่องปากแบบ 3 มิติ โดยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับงานทันตกรรม โครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสารฟลูออไรด์วานิชป้องกันฟันผุ และโครงการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรมสารผนึกหลุมร่องฟันเรซิน ชนิดแข็งตัวด้วยแสง ที่ได้มาตรฐานสากลและลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศที่มีราคาสูง
โครงการปรับปรุงพัฒนานวัตกรรมอาหารทางการแพทย์ เพื่อพัฒนานวัตกรรมอาหารของเจลลี่โภชนาให้หลากหลาย รสชาติ เน้นการเสริมสร้างด้านโภชนาการและมีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายปัจจุบันและกลุ่มเป้าหมายใหม่ ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก รวมถึงผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ อื่นๆ ที่ส่งผลต่อโรคทางทันตกรรม โครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม นํ้าลายเทียมชนิดเจล สำหรับผู้ที่มีภาวะปากแห้งนํ้าลายน้อย (วุ้นชุ่มปาก) เพื่อผลิตในระดับอุตสาหกรรม สำหรับผู้ป่วยมะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอหลังรับรังสีเสร็จสิ้น โครงการผลของเจลลี่โภชนาผสม สารพีอีไอทีซี (PEITC) ต่อการกำจัดพิษ ของสารก่อมะเร็งในคนสูบบุหรี่
รวมถึงการเปิดให้บริการคลินิกทันตกรรม สาขาพระรามเก้าและสาขาคลองหลวง สร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงบริการทันตกรรมที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังเป็นคลินิกสำหรับทดสอบ (Clinical Trial) นวัตกรรมด้านทันตกรรม เพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนางานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน
นับตั้งแต่การก่อตั้งหน่วยทันตแพทย์พระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนถึงปัจจุบัน คณะทำงานยังคงมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง ดำเนินตามพระราชดำริและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สืบไป
หมายเหตุ
ข้อมูลและภาพ : หน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มูลนิธินวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์