ครึ่งหนึ่งของชีวิต

ครึ่งหนึ่งของชีวิต

หัวเรื่องเป็นชื่อเพลง แต่วันนี้ ผมไม่ได้พูดเรื่องเพลงครับ

คำว่า “ครึ่งชีวิต” มีที่มาจากภาษาอังกฤษตรงตัวเลย คือ “Half Life” ซึ่งมีความหมายโยงใยไปถึงค่าของกัมมันตรังสี ว่า “ต้องใช้เวลานานเท่าใด” ค่ากัมมันตรังสีจึงจะ “ลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง” ของค่าแรกเริ่ม

สมมติว่า ครึ่งชีวิต ของกัมมันตรังสีบางตัว ที่กระจายอยู่ที่เชอโนบิล รัสเซีย (หลังจากโรงงานระเบิด) หรือที่ญี่ปุ่น (หลังจากสึนามิ) เท่ากับ 30 ปี ก็แปลว่า หลังจากเกิดเหตุแล้ว ต้องใช้เวลา 30 ปี ค่ากัมมันตรังสีตัวนั้น จึงจะเหลือเพียงครึ่งเดียว

ยารักษาโรค ก็มี “ครึ่งชีวิต”  เช่น แพทย์ให้ทานยาตัวหนึ่ง ขนาด 20 mg ทุก 4 ชั่วโมง ก็แปลว่าหลังจาก 2 ชั่วโมงผ่านไป จะเหลือยาในระบบร่างกายคุณเพียง 10 mg คือครึ่งเดียว หรือมี Half Life เท่ากับ 2 ชั่วโมงนั่นเอง

ในฐานะนักบริหาร ผมมองว่าครึ่งหนึ่งของชีวิต สามารถนำมาใช้ในความหมายของการทำงานได้ด้วย

คนเรา ย่อมมีทักษะในการทำงานกันทุกคน ซึ่งเมื่อประมาณ 50 ปีมาแล้ว ทักษะการทำงาน (โดยเฉลี่ย) จะมี “ครึ่งชีวิต” อยู่ที่ 26 ปี หมายความว่า เมื่อเราทำงานไป 26 ปี ทักษะที่เรามีอยู่เมื่อแรกเข้าทำงานนั้น จะเหลืออยู่เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น ที่ยังมีคุณค่าต่อองค์กร

26 ปี ถือว่านานพอสมควร แต่ก็แปลได้ว่า เมื่อทำงานครบ 26 ปี แล้ว หลังจากนั้นจงเตรียมตัว เตรียมใจไว้เลยว่า ผู้คนรอบด้าน จะเริ่มมองว่าทักษะของเรามีค่าต่อองค์กร เหลือเพียงครึ่งเดียว และถ้าเราอยู่เฉยๆ  อีกไม่นานนัก เราอาจจะถูกหัวหน้า ขอให้ “ร่วมใจลาจาก” ก็ได้

แต่ปัจจุบันนี้ คุณรู้ไหมว่า ครึ่งชีวิต ของทักษะในการทำงานของเรานั้น คือเท่าใด คำตอบคือโดยเฉลี่ยเพียง  “5 ปี” เท่านั้นเองครับ

น่าตกใจไหม ทุกวันนี้ ในเวลาเพียง 5 ปี ทักษะของคุณ ที่มีต่อองค์กร หายไปแล้วครึ่งหนึ่ง!

แต่จะทำอย่างไรได้ โลกเป็นเช่นนี้ เราไม่มีทางเลือกที่จะขอเปลี่ยนตัวเลขครึ่งชีวิต 5 ปี ให้เพิ่มขึ้นเป็น 10 หรือ 15 ปี เรามีทางเลือกเดียวว่า ก่อนจะถึง 5 ปี เราจะต้องสร้างทักษะใหม่ ที่ขยายคุณค่าของเราต่อองค์กร ต่อไปได้อีกเรื่อยๆ 

นั่นก็คือที่มาของแนวคิดเรื่อง Reskill และ Upskill ที่พูดถึงกันมากในเวลานี้ครับ

ผมพยายามคิดว่า มีอาชีพใดบ้างไหม ที่อาจจะยังมี ครึ่งชีวิต อยู่ที่ 26 ปีเหมือนเดิม คือไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากอดีตเหมือนอาชีพอื่นๆ แต่ก็นึกไม่ค่อยออก เพราะว่าเทคโนโลยี ทำให้เกิด ดิสรัปชั่น ทั่วไปหมด

ที่พอนึกออกอาจจะมีอยู่อาชีพหนึ่ง คืออาชีพของคนที่มีทักษะพื้นฐาน สามารถเดินตากแดดตากฝน ไปพบผู้คนตามบ้านต่างๆจำนวนมากมาย ยกมือไหว้ได้ทุกแห่งหน พร้อมที่จะให้คำมั่นสัญญา โดยไม่ต้องคิดว่าจะทำได้จริงหรือไม่ เพียงใด และเมื่อไร 

เมื่อใช้ทักษะเหล่านี้จนสอบผ่าน ได้งานและได้ตำแหน่งมาแล้ว ก็ใช้ทักษะเดิมต่อไปได้อีก บางคนอาจใช้ทักษะพิเศษในการหาแสง  และทักษะการแสดง เป็นต้น ซึ่งคุณคงต้องไปเดาเอาเองว่าอาชีพใด และคุณเห็นด้วยหรือไม่

ความจริงหลายๆคนในอาชีพนี้ ก็สอบผ่านเข้ามาด้วยความงดงามนะครับ และยังพยายามปรับเปลี่ยนให้ตัวเองมีคุณค่าต่อไป พยายามขยาย “ครึ่งชีวิต” ออกไปอย่างมีประโยชน์ 

เพียงแต่เมื่อพิจารณาเป็นอาชีพ “โดยรวม” ดูเหมือนว่าสภาพแวดล้อมของอาชีพนี้ ยังเอื้อให้คนจำนวนไม่น้อย สามารถใช้ทักษะเดิมๆ รักษาครึ่งชีวิต 26 ปี ไว้ได้ดังเดิม และยังอยู่ต่อไปได้อย่างดีเช่นเดิม

ถ้าเป็นองค์กรเอกชน หลังครึ่งชีวิต ผ่านไป และคุณค่าต่อองค์กรลดลงไปครึ่งหนึ่งใน 5 ปี องค์กรอาจตัดสินใจ เสนอโครงการร่วมใจลาจาก 

แต่อาชีพที่ผมกล่าวถึงนี้ เจ้าของบริษัทคือประชาชน ซึ่งกลไกให้เกิดการร่วมใจลาจาก มันยากเหลือเกิน ประชาชนที่เฝ้ารอการ Reskill ก็แล้ว Upskill ก็แล้ว แต่ยังเห็นผลค่อนข้างน้อยมากและช้ามาก

อาจถึงขั้น Big Clean กันมั๊ยเนี่ย