‘พัชรวาท’ สั่ง คุมเข้ม โกดังสารเคมี ผ่าน6นโยบาย บูรณาการรับมือเหตุฉุกเฉิน
“พัชรวาท” เอาจริงคุมเข้มสารพิษ มอบนโยบาย 6 ข้อ ให้ผู้ว่าฯ 76 จังหวัด - หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมเสี่ยงซุกวัตถุอัตราย สั่งบูรณาการแผนรับมือกรณีฉุกเฉิน แนะสื่อสารประชาชนทุกระยะเมื่อเกิดเหตุป้องกันตื่นตระหนก
ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เร้นท์ เพื่อมอบนโยบายและข้อสั่งการในการดำเนินการเรื่องการตรวจโรงงานอุตสาหกรรม ที่รับดำเนินการของเสียอันตรายรวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ พร้อมผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 76 จังหวัดเข้าร่วมประชุม
พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์อุบัติภัยจากการรั่วไหล ระเบิด และเพลิงไหม้ จากการผลิตและครอบครองสารเคมีที่ไม่ปลอดภัยและการขนส่งสารเคมี เกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 45 ครั้งต่อปี ดังที่ปรากฏข่าวล่าสุด เช่น การลักลอบขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมจากหลุมฝังกลบแบบปลอดภัยจากจังหวัดตาก พบการกระจัดกระจายจุดต่างๆตามโกดังในจังหวัดสมุทรสาคร ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร ต่อมาเหตุไฟไหม้ที่โกดังเก็บกากของเสียและสารอันตรายบริษัท วิน โพรเสส จำกัด จังหวัดระยอง ซึ่งเกิดเหตุตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2567 จนถึงปัจจุบันเหตุการณ์ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ มีผู้ป่วยได้รับผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจถึง 601 คน และเหตุการณ์ล่าสุด เหตุเพลิงไหม้ที่โกดังจัดเก็บสารเคมีอำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ทุกเหตุการณ์ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชน บางแห่งต้องอพยพและภาครัฐต้องมีการเยียวยาให้กับประชาชน ในการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 ซึ่งที่ประชุมได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว และเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมที่รับดำเนินการของเสียอันตราย รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยง ที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน มีองค์ประกอบที่สำคัญทั้งจากภาคราชการและภาคประชาชน ซึ่งตนได้ลงนามในคำสั่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ 2/2567 ลงวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 และได้มอบหมายกรมควบคุมมลพิษ จัดประชุมในวันนี้เพื่อซักซ้อมแนวทางการดำเนินงานตรวจสอบโรงงานที่มีความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม
พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า ในฐานะประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด เพื่อการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมที่จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม จึงขอให้นโยบาย ดังนี้
1. ขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด กำชับ กำกับ ให้มีการสำรวจโรงงานที่มีความเสี่ยงโดยเฉพาะโรงงานประเภทที่มีของเสียอันตราย หรือวัตถุอันตราย โรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชน รวมถึงโรงงานที่ถูกร้องเรียนปัญหาด้านมลพิษซ้ำซากและไม่ได้รับการแก้ไข และขอให้จัดส่งมายังกรมควบคุมมลพิษตามระยะเวลาที่กำหนด
2. ขอให้อุตสาหกรรมจังหวัดให้การสนับสนุนข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการสำรวจ และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันวิเคราะห์และตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบถี่ถ้วน
3.ให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้ง 76 จังหวัด และสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ ที่ 1 –16 สนับสนุนการทำงานของจังหวัดภายใต้คณะอนุกรรมการฯ อย่างเต็มที่
4. ให้กรมควบคุมมลพิษ นำผลการตรวจสอบโรงงานของคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดฯ มาประมวลเสนอแนวทางในการกำกับ ควบคุม ป้องกัน แก้ไขปัญหา ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในเดือนมิถุนายน
5. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ละจังหวัด มีการบูรณาการซักซ้อมการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน ทั้งก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย และกำหนดเป็นมาตรการรองรับเหตุการณ์ในภาวะฉุกเฉิน
6.ในกรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขอให้สื่อสารข้อเท็จจริงกับประชาชนตลอดระยะเวลาที่เกิดเหตุ จนเหตุการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกและต้องให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากทางราชการที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
“ท้ายนี้ ขอความร่วมมือทุกท่านร่วมกันปฏิบัติงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย เพื่อลดการสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน หน่วยงานและประเทศชาติเป็นสำคัญ” พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าว