องคมนตรี ติดตามสถานการณ์น้ำเจ้าพระยา จากคลองลัดโพธิ์สู่สะพานภูมิพล 1 - 2

องคมนตรี ติดตามสถานการณ์น้ำเจ้าพระยา จากคลองลัดโพธิ์สู่สะพานภูมิพล 1 - 2

องคมนตรี ติดตามสถานการณ์น้ำเจ้าพระยา ประตูระบายน้ำ “คลองลัดโพธิ์” สู่สะพาน “ภูมิพล 1 และ 2” อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กปร.เผยระบบโทรมาตร ทำให้รู้คุณภาพน้ำ การระบายน้ำที่เป็นปัจจุบัน ส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำรวดเร็ว บรรเทาอุทกภัยริมฝั่งตั้งแต่อยุธยา ถึงสมุทรปราการ

นายชุติมันต์ สกุลพราหมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 กรมชลประทาน เปิดเผยระหว่างการต้อนรับ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมด้วยนางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)  และคณะ ซึ่งเดินทางมาติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2567 ว่า

ปัจจุบันสถานการณ์น้ำตอนบนของแม่น้ำเจ้าพระยากำลังเข้าสู่ภาวะคลี่คลาย โดยเขื่อนเจ้าพระยามีอัตราการระบายน้ำประมาณ 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และอ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีอัตราน้ำไหลผ่าน 1,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ตอนล่างในจ.ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร 

ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ สามารถระบายน้ำไม่เกินวันละ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขึ้นอยู่กับจังหวะน้ำทะเลขึ้นลง หากเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำลงมามากกว่า 1,000 ลูกบาศก์เมตร ก็จะยกบานประตูระบายน้ำขึ้นในช่วงที่น้ำทะเลลงเพื่อระบายน้ำลงทะเล หากเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำน้อยกว่า 1,000 ลูกบาศก์เมตร ก็จะปิดบานประตูระบายน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำทะเลหนุนขึ้นมา

องคมนตรี ติดตามสถานการณ์น้ำเจ้าพระยา จากคลองลัดโพธิ์สู่สะพานภูมิพล 1 - 2

จากการลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาขององคมนตรี และคณะในครั้งนี้พบว่า โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ฯ มีการติดตั้งระบบโทรมาตร ซึ่งเป็นระบบสื่อสารและประมวลผลข้อมูล พร้อมควบคุมระยะไกล ทำให้สามารถทราบถึงคุณภาพน้ำและการระบายน้ำที่เป็นปัจจุบัน ส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นไปอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ สามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ลงมาถึงจ.สมุทรปราการ 

ด้านนายวัชระ เติมวรรธนภัทร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทรงคะนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ระบุว่า ในอดีตน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาต้องไหลอ้อมคุ้งบางกะเจ้า คลองลัดโพธิ์เป็นคลองขนาดเล็กและตื้นเขิน มีชุมชนอยู่ตลอดสองฝั่งลำคลอง ส่งผลให้การระบายน้ำลงสู่ทะเลล่าช้า ต้องใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมง โดยเฉพาะช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุน จึงทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล  

“พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้แก้ไขปัญหานี้ โดยการปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ให้มีความกว้าง 65 เมตร ด้านเหนือน้ำก่อนถึงประตู และกว้าง 66 เมตร หลังจากแนวประตูระบายน้ำจนถึงด้านท้ายน้ำ ความลึกของท้องคลองอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 7 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และมีความยาวจากปากคลองถึงปลายคลอง 600 เมตร เพื่อใช้เป็นทางลัดของน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลลงทะเลได้เร็วขึ้นจากเดิม 6 ชั่วโมงเหลือเพียง 10 นาที“

องคมนตรี ติดตามสถานการณ์น้ำเจ้าพระยา จากคลองลัดโพธิ์สู่สะพานภูมิพล 1 - 2

"นอกจากจะเพิ่มความเร็วในการผันน้ำแล้ว ยังทรงเล็งเห็นถึงปัญหาการเดินทางของประชาชนจากฝั่งสมุทรปราการไปกรุงเทพมหานคร ที่ต้องใช้แพขนานยนต์ซึ่งมีข้อจำกัดของการบรรทุกและใช้เวลานาน จึงมีพระราชดำริให้สร้างถนนเชื่อมสะพานภูมิพล 1 และภูมิพล 2 เข้าด้วยกัน  โดยสะพานภูมิพล 1 เชื่อมกับถนนพระราม 3 และสะพานภูมิพล 2 เชื่อมกับถนนปู่เจ้าสมิงพราย ทำให้การจราจรเกิดความคล่องตัว ปัจจุบันการจราจรไม่ติดขัด ทุกคนมีความสุขมาก น้ำไม่ท่วมรถไม่ติด และมีอาชีพจากความสมบูรณ์ของคุ้งบางกะเจ้า เพราะเมื่อน้ำไม่ท่วมน้ำทะเลไม่เข้า การเพาะปลูกก็สมบูรณ์ เกิดการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและเชิงวัฒนธรรมใน 6 ตำบลของอำเภอพระประแดง ทุกคนไม่ลืมพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ และจะตอบแทนพระองค์ด้วยการทำความดี รักและสามัคคี สร้างประโยชน์ต่อส่วนรวมให้เกิดขึ้นอย่างยาวนานสืบไป” นายวัชระ กล่าว

องคมนตรี ติดตามสถานการณ์น้ำเจ้าพระยา จากคลองลัดโพธิ์สู่สะพานภูมิพล 1 - 2

สำหรับสะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 ในแนวถนนวงแหวนอุตสาหกรรม เป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สร้างขึ้นเพื่อคลี่คลายปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งใช้เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงย่านอุตสาหกรรมของพื้นที่เขตราษฎร์บูรณะ เขตยานนาวา ของกรุงเทพมหานคร กับอ.สำโรงใต้ จ.สมุทรปราการ ผ่านระบบโครงข่ายทางด่วนและถนนสายสำคัญต่างๆ สู่ภูมิภาคของประเทศ