บพท. ปั้น 200 ผู้นำนักจัดการวิจัย ตั้งเป้าแก้ปัญหาความยากจน ยกระดับท้องถิ่น
บพท.เดิหน้าต่อยอดหลักสูตรพ้ฒนาศักยภาพบุคลากร สู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ ตั้งเป้า 200 ราย ให้มีความรู้และทักษะในการสร้างนวัตกรรมเชิงพื้นที่ สร้างความอยู่ดี กินดี ให้กับประชาชนตามนโยบาย อววน. 67 - 70
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้การกำกับของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า บพท.ได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพบุคลากร เพื่อยกระดับเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ ด้วยการสร้างผู้นำ (Key Agent) ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่เป็นปัจจัยสำคัญ โดยใช้ชุดข้อมูลความรู้ซึ่งเป็นการติดอาวุธให้มหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ครอบคลุมทุกจังหวัด
สำหรับการดำเนินการดังกล่าว บพท.ได้จัดทำเป็นหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 นี้เป็นการต่อยอดขยายผลข้อค้นพบจากปีที่ 1 และยกระดับคุณภาพหลักสูตรให้เข้มข้นขึ้น และครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่มีบทบาทความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อผลักดันการขับเคลื่อนแผนบูรณาการงานวิจัยเชิงพื้นที่ ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพดียิ่งขึ้น
"การพัฒนาพื้นที่ตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จะหาทางนำงานวิจัยลงไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เพราะที่ผ่านมางานวิจัยส่วนมากยังเป้นงานวิจัยที่ยังตอบสนองต่องานวิชาการ จึงต้องสร้างผู้นำในการเปลี่ยนแปลง คือผู้นำในการเปลี่ยนแปลงจัดการงานวิจัยในพื้นที่ มีกลไกความร่วมมือ มีเป้าหมายใหญ่คือขจัดความยากจนในจังหวัดต่าง ๆ ด้วย"
ทั้งนี้ในกลไกการทำงาน บพท. จะส่งเสริมให้นักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ ทำงานร่วมกับศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในพื้นที่ 20 จังหวัดทั่วประเทศ โดยถอดความรู้ถ่ายทอดให้กับมหาวิทยาลัยเครือข่ายทั่วประเทศ และหน่วยงานในท้องถิ่น เพื่อช่วยให้การทำงานในพื้นที่จะมีข้อมูล และเทคโนโลยีความรู้ไปสร้างประโยชน์ในท้องถิ่นต่อไป
สำหรับการเปิดตัวหลักสูตรในปีที่ 2 ได้มีการถอดชุดประสบการณ์และความสำเร็จจากผู้เข้าร่วมหลักสูตร ABC Academy รุ่นที่ 1 ร่วมเสนอผลสำเร็จจากการบ่มเพาะที่พัฒนาหลักคิด ความเข้าใจและการถอดกระบวนการเชิงหลักการในการจัดการงานวิจัย เกิดองค์ความรู้และเครื่องมือสำหรับการจัดการ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนครอบคลุมถึงความตระหนักรู้ถึงคุณค่าเพื่อชุมชนและพื้นที่ด้วย
ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีกองทุนวิจัยและนวัตกรรมเข้าไปสนับสนุนการพัฒนาฐานทุนการทำงานด้านวิจัย เพื่อทำให้กองทุนหรืองบประมาณที่มีอยู่ขยายลงไปในชุมชน โดยการขยายผลงบประมาณงานวิจัยทั้ง 20,000 ล้านบาท ให้เกิดมูลค่าและก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ต่อไปได้
ด้าน ศ.ดร.เสมอ ถาน้อย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า สำหรับการรับสมัครผู้เข้าร่วมหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ (ABC Academy) ปีที่ 2 นั้น มีกลุ่มเป้าหมายด้วยกัน 3 กลุ่ม จำนวนรวมกันกว่า 200 คน
ประกอบด้วย กลุ่มผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่จะไปทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนระบบบริหารจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ (Policy Driven Group) กลุ่มนักวิจัยที่จะทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะใช้ประโยชน์ได้จริงในพื้นที่ (Area Driven Group) และกลุ่มผู้สนใจทั่วไป ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ (Open Access Group)
โดยกำหนดพื้นที่ดำเนินการเอาไว้ 3 ลักษณะ ได้แก่ พื้นที่วิจัยในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก บพท. พื้นที่เป้าหมายของผู้เข้าร่วมโครงการที่จะพัฒนาไปเป็น Initiative Program และพื้นที่ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากแหล่งทุนวิจัยหรือหน่วยบริหารจัดการงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีการประกาศรับสมัครเพื่อเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 9 - 29 ธันวาคม 2567 และจะประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกในวันที่ 9 มกราคม 2568