จากขั้วโลกใต้สู่ขั้วโลกเหนือของนักวิทยาศาสตร์จุฬาฯ
ไปขั้วโลกเหนือครัั้งนี้ พวกเขาไม่ได้ตามหาหมีขาว แต่ไปดูว่า ผลของภาวะโลกร้อน เกิดอะไรขึ้นที่นั่น
24 กรกฎาคม 2561 คณะนักวิจัยจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมทีมงานสนับสนุนการปฏิบัติงานดำน้ำและถ่ายทำสารคดี รวม 13 ชีวิตกำลังเดินทางไปนอร์เวย์ เพื่อสำรวจขั้วโลกเหนือ โดยปฏิบัติงานบนเรือ บริเวณทะเลชายฝั่งหมู่เกาะสวาลบาร์ด มหาสมุทรอาร์กติกที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งหนา 4-5 เมตร ระหว่างวันที่ 27 กรกฏาคม-7 สิงหาคม 2561
การเดินทางครั้งนี้ รศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เป็นหัวหน้าคณะสำรวจขั้วโลกเหนือ เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ไทยคนแรกที่เดินทางไปสำรวจขั้วโลกใต้ เมื่อปี 2547 และรศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ภาควิชาเดียวกัน เป็นผู้ประสานงานคณะสำรวจ
เธอเป็นนักวิทยาศาสตร์หญิงคนแรกที่ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนนักวิจัยไทยเดินทางกับคณะสำรวจญี่ปุ่น เมื่อปี 2551 และปี 2557 โดยเธอทำวิจัยเรื่อง ผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่มีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมในทะเล และเขียนหนังสือเรื่อง แอนตาร์กติก...ดินแดนน้ำแข็ง
-1-
การสำรวจขั้วโลกเหนือครั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ทั้งสองและคณะเดินทางสำรวจอีก 11 คน ภายใต้โครงการวิจัยโลกตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จะศึกษาเรื่องภาวะโลกร้อนและขยะพลาสติกขนาดเล็กที่มีต่อสัตว์ทะเลหน้าดินที่มหาสมุทรอาร์กติก ท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บ และที่นั่นเคยมีอุุณหภูมิต่ำสุด -68 องศาเซลเซียส
“ขั้วโลกเหนืออยู่ในเขตอาร์กติก ไม่ใช่ทวีป เป็นทะเลที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งหนาประมาณ 3-5 เมตร ล้อมรอบด้วยทวีปและประเทศต่างๆ ส่วนขั้วโลกใต้เป็นทวีปแอนตาร์กติก ปกคลุมด้วยน้ำแข็งหนาประมาณ 2,000 เมตร-2 กิโลเมตร ขั้วโลกเหนือมีหมีขาว ขั้วโลกใต้มีแพนกวิน” รศ.ดร.สุชนา แนะนำง่ายๆ และเธอเองก็เตรียมตัว เตรียมใจไว้เต็มที่เพื่อทำงานครั้งนี้แล้ว
เมื่อถามถึง ความน่าสนใจขั้วโลกเหนือ เธอ ตอบว่า การที่เราปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้จะปล่อยในประเทศไทย แต่ร่องรอยไม่ได้อยู่ที่บ้านเรา ไปตกที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้
“เราเรียกบริเวณนั้นว่า ภาชนะด่านแรกที่รองรับของเสียของโลก เป็นเหตุผลที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์อยากไปที่นั่น”
ส่วนอาจารย์วรณพ เล่าว่า การเดินทางไปขั้วโลกเหนือ เนื่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเห็นว่า นักวิจัยไทยน่าจะสานต่อโครงการทำวิจัย ทั้งขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ให้สมบูรณ์ เพราะพระองค์ ทรงอยากให้เกิดความยั่งยืน
"เราเลือกนอร์เวย์เป็นประเทศที่เราร่วมมือ แม้จะเป็นแผ่นดินที่หนาวเหน็บ ห่างไกลจากแผ่นดินอื่น แต่มีความเชื่อมโยงกับมนุษย์มาก สามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมโลก เป็นสถานที่เหมาะที่สุดในการตรวจสอบปรากฎการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก เนื่องจากบริเวณที่เราไปศึกษาเป็นเสมือนศูนย์รวมของผลลัพธ์จากกิจกรรมต่างๆ บนโลกใบนี้ โดยเฉพาะก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ และขยะทะเล”
ขั้วโลกเหนือที่พวกเขากำลังเดินทางไปสำรวจ แม้จะเต็มไปด้วยธารน้ำแข็ง แต่มีสัตว์ทะเล สัตว์บกจำนวนมาก ทั้งหมีขั้วโลก วอลรัส แมวน้ำ ฯลฯ เนื่องจากมีธรรมชาติที่บริสุทธิ์ หากทั่วทุกมุมโลกปล่อยสารพิษในชั้นบรรยากาศ และขยะจากทะเล ไหลมารวมกันที่ขั้วโลกมากเกินไป ก็จะมีผลกระทบต่อพืชและสัตว์ รวมถึงระบบนิเวศน์บริเวณนั้น
ขั้วโลก จึงเป็นเสมือนระบบเตือนภัยล่วงหน้าของโลกใบนี้ ที่นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจ...
-2-
การสำรวจขั้วโลกเหนือของพวกเขา จึงไม่ได้ไปดูแค่หมีขั้วโลกที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หรือวอลรัส สัตว์เขี้ยวยาวบนธารน้ำแข็ง
รศ.ดร.วรณพ บอกว่า ไม่แน่ใจว่าจะมองเห็นพวกมันหรือเปล่า และต้องระวังด้วยว่า มันอยู่ในสภาวะแบบไหน
"พวกเราต้องเดินทางไปที่หมู่เกาะสวาลบาร์ด เมืองลองเยียร์บีเย็น และไปที่เมืองวิจัยทางเหนือของนอร์เวย์ มีสถานีวิจัยของสิบประเทศตั้งอยู่ เป็นเมืองใหญ่สุดของนอร์เวย์ ประชากรสองพันกว่าคน มีคนไทยแค่ร้อยกว่าคน
เมืองวิจัยที่เราไปครั้งนี้ จะไปทางเรือสิบกว่าวัน โดยพวกเรา 13 ชีวิต ทุกคนดำน้ำได้ เราก็ได้ครูฝึกสอนเรื่องการดำน้ำในเขตอบอุ่นก่อนออกเดินทาง ผมและอาจารย์สุชนามีประสบการณ์การดำน้ำในขั้วโลกใต้มาบ้าง ทั้งสองขั้วโลกมีความหนาวเย็นไม่ต่างกันมากนัก อุณหภูมิผิวน้ำประมาณ 10 องศาเซลเซียส เมื่อลงไปในน้ำไม่ถึง 1 องศาเซลเซียส " อาจารย์วรณพ เล่า
และเมื่อถามความรู้สึกในการเดินทางครั้งนี้
เขาบอกว่า ครั้งนี้คงกลัวมากกว่าครั้งที่ไปขั้วโลกใต้ เพราะช่วงวัยที่เปลี่ยนไป และมีทีมงานต้องดูแล ต้องฝึกดำน้ำมากขึ้น เพราะไม่แน่ใจว่าจะอยู่ในน้ำได้นานแค่ไหน เรื่องดำน้ำเราต้องเจอเหตุการณ์ไม่คุ้นเคย เราต้องรู้ว่า การใส่ชุดดำน้ำ ถ้ามีน้ำแข็งจับจนหายใจไม่ออก ต้องทำยังไง
“ตอนผมไปขั้วโลกใต้ ผมเดินจากชายฝั่งออกไปดำน้ำในทะเลน้ำแข็ง โดยการเจาะน้ำแข็งแล้วดำลงไปแค่ครึ่งชั่วโมง แต่คราวนี้นั่งเรือลงไปดำน้ำในทะเลน้ำแข็ง ซึ่งการดำน้ำใต้น้ำแข็งจะใช้ทักษะอีกแบบ แม้เราจะฝึกฝนอย่างดี แต่ยังไม่เคยเจอน้ำแข็งตรงนั้น ทุกคนไม่รู้ว่า จะถ่ายรูปใต้น้ำได้ไหม มือจะชาหรือไม่ เราคาดการณ์ไม่ได้”
อาจารย์วรณพ บอกว่า การดำน้้ำใต้ธารน้ำแข็งจะใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที โดยมีทีมสนับสนุนอยู่ด้านบน
“หลักๆ คือ ศึกษาผลกระทบที่ทำให้เกิดโลกร้อน อย่างเรื่องขยะพลาสติกขนาดเล็กที่มีผลต่อสัตว์น้ำ เราก็ทำมาก่อนหน้านี้ในเมืองไทย เราไม่ได้ทำเพราะเกาะกระแส เราทำเรื่องนี้ตามแนวปะการังที่เมืองไทย ปัญหาที่เราสนใจ คือ ขยะเหล่านี้เข้าไปสะสมในร่างกายสัตว์ทะเล แล้วจะส่งผลต่อมนุษย์ยังไง เราจึงอยากมาศึกษาที่ขั้วโลกเหนือด้วย ปัจจุบันเรายังไม่รู้ว่า สารพิษที่สะสมในสัตว์ทะเลมีมากน้อยเพียงใด ”
เพื่อเชื่อมโยงให้เข้าใจง่ายๆ อาจารย์วรณพ อธิบายว่า เมื่อขยะเหล่านั้นสะสมอยู่ในน้ำ กลายเป็นอาหารให้แพลงตอน เมื่อปลาเล็กและปลาใหญ่กินแพลงตอน แล้วมนุษย์กินสัตว์น้ำเหล่านั้น ยังไม่มีงานวิจัยศึกษาว่า จะมีผลต่อร่างกายมนุษย์ยังไง
“เมื่อเรามีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น วิเคราะห์ได้มากขึ้น เราได้เห็นเม็ดพลาสติกเล็กๆ ไม่ได้อยู่แค่กระเพาะของสัตว์ ยังอยู่ในเนื้อเยื่อของสัตว์ด้วย ถ้ามีการสะสมมากขึ้น แล้วคนกินเข้าไปเยอะๆ ก็น่าจะมีปัญหา”
หากถามว่า ขยะพลาสติกก่อปัญหาให้สัตว์ประเภทไหนบ้าง
งานวิจัยคงเจาะจงได้แค่บางส่วน หัวหน้าคณะสำรวจ บอกว่า ทีมเขาศึกษาเรื่องปะการังมาก่อน พวกหอย เคลื่อนที่น้อย ส่วนใหญ่อยู่กับที่จึงได้รับสารพิษปนเปื้อนเยอะ เมื่อมนุษย์ทั้งโลกทิ้ง สารพิษทุกอย่างมารวมกันที่ขั้วโลก เราก็ศึกษาเรื่องนี้ เพื่อที่จะเปรียบเทียบกัน
-3-
แม้การสำรวจขั้วโลกใต้จะผ่านมา 11 ปี แต่ประสบการณ์สี่เดือนที่นั่น ทำให้อาจารย์วรณพเตรียมพร้อมและระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เขาบอกว่า ตอนไปขั้วโลกใต้ออกเดินทางจากญี่ปุ่นทางเรือ ไปและกลับสองเดือน และอยู่บนแผ่นดินสองเดือน ส่วนการเดินทางไปขั้วโลกเหนือจะใช้เวลาหนึ่งเดือน
“ก่อนจะไปขั้วโลกใต้ ผมเคยเรียนที่ญี่ปุ่น ทางญี่ปุ่นจะมีการเตรียมตัวเตรียมพร้อมให้เรา เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ตอนนั้นเราเป็นคนแรกก็ต้องไปฝึกฝนในที่อากาศหนาวๆ ระดับความสูงสองพันเมตร เรียนรู้การเอาตัวรอดบนน้ำแข็งและหิมะ เวลาเจอพายุให้ปั้นหิมะเป็นบล็อกๆ ป้องกันตัวเรา ก่อนจะเคลื่อนที่ไปขอความช่วยเหลือคนอื่น และต้องมีบัดดี้ เวลาเดินบนธารน้ำแข็ง หากตกลงไปต้องเรียกคนอื่นมาช่วย เราคนเดียวช่วยตัวเองไม่ได้ ทุกคนต้องผลัดกันเป็นหัวหน้าทีม การทำงานคนเดียวเป็นไปไม่ได้”
ส่วนประสบการณ์ในขั้วโลกใต้ เขา เล่าว่า เวลาเรือแล่นฝ่าเข้าไปกลางฝูงเพนกวิน หรือแมวน้ำ มันจะไม่หนี
"ต้องแล่นเข้าใกล้ มันถึงหนี นั่นหมายความว่า พวกเราคือสิ่งแปลกปลอม มันไม่ได้สนใจเรา มนุษย์ที่อยู่ตรงนั้นเป็นแค่ส่วนประกอบในธรรมชาติเท่านั้น ตอนไปขั้วโลกใต้ เราไม่รู้อะไร เราก็เลยไม่กลัว มีครั้งหนึ่งผมกับเพื่อนต่างชาติ ขับรถสโนว์โมบิล มีรถพ่วงใส่เครื่องมือลากไปบนธารน้ำแข็งเจออุบัติเหตุ รถลากจมลงในน้ำ เราสองคนก็ลงไปลากขึ้นมา คนที่ขับรถไปก่อนหน้านี้กลับมาช่วย ทำให้เรารู้ว่า เราต้องเรียกคนมาลาก ไม่ใช่ลากเอง หากธารน้ำแข็งแตก เราอาจตกลงไป แล้วเสียชีวิตได้
ตอนอยู่ขั้วโลกใต้ อากาศแปรปรวนมาก บางเรื่องก็ยากที่จะทำได้ แต่ครั้งนั้นเราได้กระบวนการคิดและการทำงานเป็นทีม เราได้เรียนรู้ว่า นักวิจัยชาติอื่นทำอะไรกันบ้าง เพื่อที่จะมาพัฒนา
โครงการและสร้างความร่วมมือต่อไป"
เพราะเป็นนักวิจัยคนแรกที่บุกเบิกเส้นทางสำรวจขั้วโลกใต้ให้นักวิจัยรุ่นถัดมา และนั่นทำให้ห้าปีต่อมา ดร.สุชนา ชวนิชย์ นักวิทยาศาสตร์หญิงคนแรกได้เดินทางไปขั้วโลกใต้
"เรื่องไหนที่เราไม่ได้ดูครั้งนั้น เราก็ขอให้นักวิจัยเราไปดู สิ่งที่เราได้คือเราได้เห็นภาพทั้งหมด เพื่อนำมาใช้กับงานวิจัยของเรา อย่างตอนอาจารย์สุชนาไป เราก็ให้ทางนั้นพิจารณาว่า ให้ทางไทยนำงานวิจัยบางอย่างมาใช้ อย่างเรื่องการศึกษาสถานีวิจัยประเทศอื่น เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือ
และรศ.ดร.สุชนา ก็ได้กรุยทางให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นถัดมา...
................
(วิจัยขั้วโลก)
สำรวจขั้วโลกใต้
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และหน่วยงานขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ สังกัดสำนักงานบริหารกิจการทางทะเล เคยลงนามร่วมมือกัน เมื่อปี 2556 ทำให้นักวิทยาศาสตร์ไทย ได้ร่วมเดินทางไปปฏิบัติงานวิจัย ณ ทวีปแอนตาร์กติกกับคณะสำรวจแอนตาร์กติกแห่งจีน ผ่านมา 5 รุ่น รวม 9 คน อาทิ รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ เดินทางไปขั้วโลกใต้ วิจัยเรื่อง ผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่มีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมในทะเล และผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.อรฤทัย ภิญญาคง วิจัยเรื่อง ความหลากหลายและกิจกรรมของจุลินทรีย์ในดิน ฯลฯ
สำรวจขั้วโลกเหนือ
เมื่อปี 2556 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเยือนหมู่เกาะสวาลบาร์ด และสถาบันวิจ้ัยขัั้วโลกแห่งนอร์เวย์ และอีกหลายแห่ง ในขั้วโลกเหนือ
พระองค์ได้ทรงพระราชดำริให้นักวิิทยาศาสตร์ไทยขยายความร่วมมือในการศึกษาวิจัยขั้วโลกจากขั้วโลกใต้สู่ขั้วโลกเหนือ ซึ่งดำเนินการภายใต้โครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โดยเมื่อปี 2558 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสวาลบาร์ด และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นการศึกษาวิจัยระหว่างไทยกับนอร์เวย์ในขั้วโลกเหนือ