กทม.จัดงานสงกรานต์ ระบุงานเลิก3ทุ่ม ทุกพื้นที่

กทม.จัดงานสงกรานต์ ระบุงานเลิก3ทุ่ม ทุกพื้นที่

กทม. จัดงานสงกรานต์ 12-14 เม.ย.นี้ ระบุ งานเลิก 3 ทุ่ม ทุกพื้นที่ หวังช่วยประหยัดน้ำ

ที่ศาลาว่าการกทม. นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการจัดงานสงกรานต์และเล่นน้ำสงกรานต์อย่างมีคุณค่าและประหยัด โดยมีตัวแทนกระทรวงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมศิลปากร กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม โดยนายอมร กล่าวว่า ที่ประชุมมติจัดงานเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2559 ภายใต้คำขวัญ “ประเพณีสงกรานต์แบบไทย ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า” จำนวน 3 วัน ระหว่างวันที่ 12-14 เม.ย.2559 โดยในวันที่ 12 เม.ย. กทม.จะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ออกจากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพื่อไปประดิษฐานบนมณฑป บริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกทม. เพื่อให้ประชาชนสักการะและสรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล เนื่องในเทศกาลสงกรานต์และจะอัญเชิญกลับในวันที่ 14 เม.ย.นี้ นอกจากนี้การจัดงานสงกรานต์ของกทม.ที่ถนนสีลม และในพื้นที่เขตต่างๆ ทั้ง 6 กลุ่มโซน จะจัดวันที่ 12-14 เม.ย. โดยกำหนดเลิกกิจกรรมในเวลา 21.00 น.ของทุกวันจัดงาน เพื่อสร้างจิตสำนึกในการลดการใช้น้ำ เพราะทุกพื้นที่เผชิญปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งรณรงค์การเล่นน้ำแบบรู้คุณค่าของน้ำ ส่วนในวันที่ 15 เม.ย. ขอให้เป็นวันครอบครัว โดยได้ประสานหน่วยงานระบบขนส่งมวลชนและร้านอาหาร ลดราคาค่าโดยสารและอาหาร กับประชาชนที่เดินทางพร้อมทั้งครอบครัว      

นายอมร กล่าวด้วยว่า ส่วนการจัดงานสงกรานต์ที่เซนทรัลเวิล์ด ในวันที่ 13-15 เม.ย. จะมีกำหนดเลิกกิจกรรมในเวลา 21.00 น.เช่นเดียวกัน โดยเซนทรัลเวิล์ด ได้ยกเลิกอุโมงค์น้ำขนาดใหญ่ และจุดเติมน้ำ 24 จุด นอกจากนี้กทม.ยังคงมีมาตรการ 5 ป. ได้แก่ 1.ประหยัดน้ำ 2.ปลอดแอลกอฮอล์ 3.ปลอดแป้ง 4.ปลอดปืนฉีดน้ำแรงดันสูงขนาดใหญ่ และ 5. ฝปลอดโป๊ โดยขอความร่วมมือสำนักงานเขตและสำนักเทศกิจ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ดูแลรักษาความปลอดภัยตลอดการกิจกรรมทั่วทุกพื้นที่ อย่างไรก็ตาม กทม.จะมีมาตรการการใช้น้ำให้น้อยลงอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการทำความสะอาดหลังเลิกกิจกรรมสงกรานต์ จากเดิมที่ใช้เวลาในการทำความสะอาดมากกว่า 3 ชั่วโมง ทั้งนี้ จากสถิติการใช้น้ำขององค์การอนามัยโลก(ดับเบิ้ลยูเอชโอ) พบว่า ใน 1 คนใช้น้ำ 200 ลิตรต่อวัน ซึ่งในช่วงเทศกาลจะมีการใช้น้ำมากกว่า 3 เท่า ดังนั้นการประปานครหลวง จะจ่ายน้ำให้น้อยลง แต่แรงดันน้ำจะแรงขึ้น ทั้งนี้ ไม่อยากเห็นภาพความแห้งแล้งในพื้นที่ต่างจังหวัด ขณะที่ประชาชนในกรุงเทพฯ เล่นสาดน้ำกันอย่างความสนุกสนาน จึงอยากให้เห็นความแห้งแล้งของคนอื่นเป็นความทุกข์ใจของตัวเองด้วย