ลูกควาญช้างพระที่นั่ง เล่า'ในหลวง'เสด็จขึ้นฯภูกระดึงปี2498
ลูกชายควาญช้างพระที่นั่ง เล่าเหตุการณ์ที่พ่อถวายงานนำ "ในหลวง" เสด็จฯขึ้นภูกระดึง ปี2498
พระราชกรณียกิจในการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 2-20 พฤศจิกายน พ.ศ.2498 ซึ่งจังหวัดเลยเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินระหว่างวันที่ 6-7 พฤศจิกายน 2598
โดยจุดแรกเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร ทัศนียภาพอันสวยงามของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ในระหว่างที่เสด็จบนภูกระดึงครั้งนั้นทางกรมป่าไม้และจังหวัดเลย ได้นำช้างสองเชือกมาถวายเป็นพระราชพาหนะ โดยคัดเลือกช้างของนายทองหนัก สุวรรณสิงห์ อดีตประธานสภาจังหวัดเลย ปัจจุบันได้ล่วงลับไปแล้ว
นายทนง สุวรรณสิงห์ บุตรชายคนสุดท้องของนายทองหนัก อดีตข้าราชการสำนักงานจังหวัดเลย ปัจจุบันเป็นประธานชมรมคนรักในหลวงจังหวัดเลย กล่าวว่า เมื่อครั้งทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดเลยเป็นครั้งแรก ขณะนั้นอายุเพียง 5 ขวบ พ่อเล่าว่า ระหว่างการเตรียมการรับเสด็จ ทางกรมป่าไม้ได้ติดต่อมาที่จังหวัดเลยให้คัดเลือกช้างขึ้นไปถวายเป็นพระราชพาหนะบนภูกระดึง
ขณะนั้นมีช้างอยู่หลายเชือก มีอาชีพรับจ้างชักลากไม้ด้วย จึงได้รับการคัดเลือก โดยก่อนที่จะเดินทางไปภูกระดึงนั้น ต้องนำช้างมาเดินหน้าศาลากลางจังหวัด ท่ามกลางผู้คนมากมาย เพื่อคัดเลือกเอาช้างเชือกที่ไม่ตื่นกลัว 2 เชือก ส่วนผ้าปูรองประทับบนหลังช้าง แม่ของตนก็เป็นคนทำเอง เพราะเรียนจบด้านเย็บปักถักร้อย หลังจากนั้น พ่อและผู้ดูแลช้างทั้งหมด 5 คน ได้เดินทางขึ้นไปที่ภูกระดึง ใช้เวลา 2 วัน จึงเดินขึ้นถึงหลังแป โดยขึ้นทางผาหมากดูก เพราะทางคนเดินปกติที่ใช้อยู่แล้ว เป็นหุบเหว ลาดชันมาก
“เมื่อถึงวันรับเสด็จฯ พ่อได้ทำหน้าที่เป็นควานช้าง และมีผู้ทำหน้าที่เท้าช้างอีกสองคนเดินควบคุมช้างอยู่ด้านล่าง ซึ่งได้เตรียมช้างไปสองเชือก เพื่อให้ทั้งสองพระองค์แยกกันประทับพระองค์ละเชือก แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงมีพระราชประสงค์ให้สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถมาประทับด้วยกัน ซึ่งช้างที่ทรงประทับชื่อพลายคำหมื่น หลังเสร็จสิ้นการเสด็จพระราชดำเนินบนภูกระดึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเหรียญที่ระลึกให้แก่ข้าราชบริพาร ซึ่งพ่อก็ได้รับพระราชทานด้วย” นายทนง กล่าว
การเสด็จพระราชดำเนินของทั้งสองพระองค์ครั้งนั้น นับเป็นศิริมงคลสูงสุดในชีวิติของครอบครัวสุวรรณสิงห์ สุดปลาบปลื้มหาที่สุดมิได้ และเป็นสิ่งปลูกฝักให้ตนจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เรื่อยมา และนำพระราชดำรัส คำสอนของพระองค์มาใช้ในการดำเนินชีวิต และถ่ายทอดให้คนอื่นได้ร่วมรับรู้ด้วย