ก.แรงงาน ติวเข้มผู้ต้องขัง มุ่งเพิ่มรายได้ พลิกชีวิตใหม่หลังพ้นโทษ
กพร. กระทรวงแรงงาน ติวเข้ม-ทดสอบผู้ต้องขัง รับค่าจ้างตามทักษะ พลิกชีวิตเป็นคนดีให้สังคม พะเยา วัดฝีมือช่างไม้
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าจากการที่กพร. ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับกรมการจัดหางาน กรมราชทัณฑ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตาม"โครงการประชารัฐ ร่วมสร้างงาน สร้างอาชีพผู้ต้องขัง"จำนวนกว่า 37,000 คนนั้น พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้กพร. เร่งประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานในการร่วมมือกันแนวประชารัฐให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างโอกาสและคุณภาพที่ดีให้แก่ผู้ต้องขัง โดยผ่านกระบวนการฝึกอบรมวิชาชีพ จริยธรรม ให้โอกาสกับผู้เคยกระทำผิดปรับปรุงตนเอง เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง ย้ำอีกว่าต้องการให้มีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้แก่ผู้ต้องขังด้วย เพื่อวัดระดับทักษะฝีมือ แก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง และที่สำคัญเป็นการสร้างชีวิตใหม่หลังพ้นโทษ นอกจากนี้ยังให้เร่งจัดทำโครงการโรงงานในเรือนจำเพิ่มขึ้น เพิ่มช่องทางในการมีงานทำ ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมสอดคล้องกับทักษะฝีมือ จะสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมาจึงมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทั่วประเทศ ประสานความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ จัดฝึกอบรมและทดสอบฯ ในเรือนจำและทัณฑสถานในจังหวัดต่างๆ
นายเสริมสกุล พจนการุณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา กล่าวต่อไปว่าเมื่อเร็วๆ นี้สนพ.พะเยาใช้แนวทางประชารัฐร่วมกับ เรือนจำจังหวัดพะเยา เปิดการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างไม้ก่อสร้าง ระดับ 1 ให้กับผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษ ซึ่งเคยผ่านการฝึกอบรมในสาขาดังกล่าว จำนวน 45 คน โดยทุกคนมีความตั้งใจเป็นอย่างมากในการทดสอบฯ เพราะเป็นสาขาที่ได้รับการประกาศค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ หากผ่านการทดสอบฯ ระดับ 1 ได้รับค่าจ้างวันละ 385 บาท ซึ่งสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดพะเยาที่กำหนดไว้เพียง 315 บาทเท่านั้น ส่วนระดับ 2 วันละ 469 บาท และระดับ 3 วันละ 605 บาท
"โดยสนพ.พะเยาจะส่งรายชื่อผู้ผ่านทดสอบฯ ให้กับสำนักงานจัดหางานจังหวัดพะเยา หอการค้าจังหวัดพะเยา และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพะเยา เพื่อช่วยจับคู่แรงงานกับสถานประกอบการกิจการที่มีความต้องการจะจ้างช่างไม้ก่อสร้างที่ฝีมือดี มีมาตรฐานเข้าทำงานด้วย อันจะเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งฝ่ายนายจ้าง จะได้รับผลงานที่ดี มีมาตรฐาน ช่วยลดอัตราความเสียหาย อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ และการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ภาคก่อสร้างเน้นความปลอดภัยเป็นอย่างมาก ขณะที่ผู้ต้องขังที่พ้นโทษ จะได้รับการจ้างงาน มีงานทำ ได้รับค่าจ้างที่สูงกว่าแรงงานทั่วไป จึงมีโอกาสเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ดีขึ้น เกิดความมั่นคงในชีวิต มีโอกาสกลับตัวกลับใจ เป็นคนดีของสังคม และจังหวัดพะเยาทดแทนต่อไป" ผู้อำนวยการสนพ.พะเยา กล่าว