'อดีต กรธ.' แจงหมดสภาพแล้ว-ตอบปม150วัน ตามที่รบ. ถามไม่ได้
"อดีต กรธ." แจงหมดสภาพแล้ว-ตอบปม150วัน ตามที่รบ. ถามไม่ได้ ด้านเนื้อหาเจตนารมณ์รธน. รอ "มีชัย" พิจารณา เผยเนื้อหาเจตนารมณ์ ม.268 เบื้องต้น ไม่รวมถึงวันประกาศรับรองผลเลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 10 ม.ค.62 นายศุภชัย ยาวะประภาษ อดีตประธานคณะอนุกรรมการตรวจพิจารณาบันทึกเจตนารมณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ในกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเรียกร้องให้ อดีตกรธ. ชี้แจงและอธิบายต่อสาระในเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ มาตราที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะมาตรา 268 ที่กำหนดให้จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วันนับจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) 4ฉบับมีผลบังคับใช้ว่า กรธ.ถือว่าพ้นสถานะที่จะดำเนินการชี้แจงหรืออธิบายในประเด็นที่เกี่ยวข้อง แต่หลังจากที่มีข่าวดังกล่าวเกิดขึ้น อดีต กรธ. ได้พูดคุยผ่านแอพลิเคชั่นไลน์ ว่าต้องดำเนินการอย่างใดหรือไม่ แต่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน
นายศุภชัย กล่าวด้วยว่าสำหรับการจัดทำเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ นั้นล่าสุดได้ทำเสร็จแล้ว เหลือเพียงการตรวจเนื้อหาเท่านั้น แต่ กรธ. ได้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไปก่อนที่จะดำเนินการเสร็จ ดังนั้นต้องรอให้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรธ. เป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับมาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่กลายเป็นประเด็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับการจัดเลือกตั้ง ที่จะนับรวมถึงวันประกาศรับรองผลการเลือกตั้งหรือไม่นั้น ตามเจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า ให้หมายถึงเฉพาะกระบวนการจัดการเลือกตั้ง ที่ไม่นับรวมการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าในการประชุมมาตราดังกล่าวและมาตราที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ในชั้นของกรธ. ได้เชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดที่มีนายศุภชัย สมเจริญ เป็นประธานกกต. และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสำนักงานเลขาธิการ กกต. เข้าพิจารณาและตอบข้อซักถาม ซึ่งที่ประชุมกรธ.
โดยรายงานข่าวจากผู้ที่เคยเข้าร่วมประชุมดังกล่าว ระบุว่าประเด็นจัดการเลือกตั้งให้เสร็จภายใน 150 วันนั้นถูกยกเป็นข้อสงสัย และซักถามกันอย่างหนัก ว่าจะหมายรวมถึงกระบวนการประกาศรับรองผลด้วยหรือไม่ ซึ่งในที่ประชุมกรธ. ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับการประกาศรับรองผลเลือกตั้ง พร้อมกับนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งมาชี้แจงและเทียบเคียง พร้อมกับยืนยันว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกระบวนการหย่อนบัตรเลือกตั้งเท่านั้น ไม่รวมถึงการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ดังนั้นกรณีที่เป็นปัญหาจึงไม่ทราบว่าเป็นเพราะความไม่เข้าใจข้อกฎหมายที่แท้จริงของ กกต. ชุดปัจจุบัน หรือเป็นความพยายามให้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองกันแน่.