นักธุรกิจปีนเสาโทรศัพท์ โวย8ล้านถูกถอนจากแบงก์ คดีในศาลฎีกา
เรียกร้องขอความเป็นธรรม นักธุรกิจปีนเสาสัญญาณโทรศัพท์ ปมถูกธนาคารเบิกถอนเงินสูญเงินกว่า 8 ล้าน คดีในศาลฎีกา
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 21 กุมภาพันธ์ มีรายงานว่าได้เกิดเหตุชายปีนอยู่บนยอดเสาสัญญาณโทรศัพท์ บริเวณข้างทางด่วนประชาชื่น พื้นที่ สภ.เมืองนนทบุรี จากการตรวจสอบเบื้องต้นทราบชื่อ นายเอกวิชช์ อายุ 39 ปี ชาวอ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ นักธุรกิจ โดยปีนขึ้นไปด้านบน ด้วยอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย พร้อมกับได้มีการไลฟ์สดผ่านทางเฟสบุ๊กตลอดเวลา เนื้อหาเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมกรณีถูกถอนเงินจากธนาคารโดยถูกปลอมลายเซ็นต์ไปจำนวน 8 ล้านบาทและไม่ได้รับความเป็นธรรม เหตุเกิดตั้งแต่ปลายปี 2551 โดยเอกวิชช์ต้องการคำตอบว่า จะได้เงินคืนเมื่อไหร่
สำหรับนายเอกวิชช์พบว่าก่อนหน้านี้ได้เคยเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกับทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือร้องเรียนแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
โดยการร้องเรียนในครั้งนั้น ขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมของพนักงานธนาคารกรุงไทย สาขาสวรรค์วิถี และ สาขาปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ ที่จงใจทำผิดระเบียบ วิธีปฎิบัติของธนาคารเรื่องการเบิก-ถอนเงินและไม่ได้รับความเป็นธรรมกรณีถูกปลอมลายเซ็นต์นำไปถอนเงินจากบัญชีธนาคารกรุงไทยฯ จนต้องสูญเงินไปกว่า 8 ล้านกว่าบาทหรือไม่ เหตุเกิดเมื่อประมาณปลายปี พ.ศ.2551 ทั้งที่ผู้เสียหายถูกปลอมลายเซ็นต์และไม่มีเอกสารใดๆ เกี่ยวกับผู้เสียหายเลยแต่ทางพนักงานธนาคารกรุงไทย สาขาสวรรค์วิถี จ.นครสวรรค์ กลับดำเนินธุรกรรมทางการเงินในบัญชีของตน แบบไม่ติดใจสงสัยแต่อย่างใด
ซึ่งเรื่องดังกล่าว ภายหลังจากที่นายเอกวิชช์เข้าร้องเรียน ปรากฎว่าทางธนาคารกรุงไทยชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวลูกค้าได้ยื่นฟ้องธนาคารในคดีแพ่งต่อศาลชั้นต้น ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิจารณาและมีคำพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 25 ก.ค.2560 ต่อมาลูกค้าได้ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาและมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2561 ขณะนี้นายเอกวิชช์ เกษเจริญ ได้ยื่นฎีกาและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ซึ่งเมื่อศาลมีคำพิพากษาเป็นเช่นใด ธนาคารน้อมรับปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เนื่องจากศาลได้วินิจฉัยตามพยานเอกสารและหลักฐานต่างๆ รวมทั้งพยานบุคคลที่คู่ความทั้ง 2 ฝ่ายนำสืบพยานแสดงต่อศาล ซึ่งทุกฝ่ายไม่ควรล่วงละเมิดคำตัดสินของศาล
ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทย ได้ชี้แจงกระบวนการตรวจสอบและให้ข้อมูลกับลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง และให้คำมั่นใจว่าธนาคารกรุงไทย ไม่เคยละเว้นการดำเนินคดีผู้กระทำความผิดต่อธนาคาร ทั้งนี้ ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ธนาคารยึดมั่นในการปฏิบัติงานตามหลักบบรรษัทภิบาล ดำเนินงานอย่างมืออาชีพ ด้วยความซื่อสัตย์และโปร่งใส ให้บริการลูกค้าตามแนวทางของหลัก Market Conduct
ทั้งนี้ นายเอกวิชช์ เกษเจริญ อายุ 39 ปี นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างได้ปีนขึ้นไปบนเสาส่งสัญญาณ บริเวณเลียบทางด่วน งามวงศ์วาน แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ เพื่อติดป้ายเรียกร้องหลังเมื่อช่วงปลายปี2551 ถูกเพื่อนสนิทปลอมลายมือชื่อ ใบมอบฉันทะ ไปถอนเงินจากธนาคาร สาขาปากน้ำโพ ในอำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 8,377,371 บาท โดยนำป้ายข้อความระบุจำนวนเงินที่สูญเสียไปติดแขวนยึดกับเสาส่งสัญญาณ เพื่อเป็นการเรียกร้องต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ขณะที่นายเอกวิชญ์อยู่บนเสาส่งสัญญาณได้ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “จั้ม เอกวิชช์” เพื่อเรียกร้องให้ธนาคารคืนเงินจำนวนดังกล่าว ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง จึงยอมลงมาเปิดเผยรายละเอียดกับสื่อมวลชน
ทั้งนี้ทางตำรวจ สภ.เมืองนนทบุรี ได้เข้าตรวจสอบเหตุและขอให้ลงมาด้านล่าง โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่ขึ้นไปช่วยปลดล็อคอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยพร้อมกับปลดป้ายข้อความให้ ก่อนจะลงมาด้านล่างด้วยความปลอดภัย
ด้านนายเอกวิชช์ เปิดเผยหลังลงมาถึงด้านล่าง ว่า คดีการฟ้องร้องที่เกิดขึ้นกับธนาคารนั้น ศาลชั้นต้น และชั้นอุทธรณ์ ยกฟ้อง ซึ่งก็ยอมรับ เคารพคำตัดสินศาล แต่การเรียกร้องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ต้องการให้ธนาคารรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในกระบวนการตรวจสอบเอกสาร ข้อมูล ประกอบการทำธุรกรรมทางการเงินของลูกค้า โดยเฉพาะการตรวจสอบการทำหน้าที่ของพนักงานธนาคารผู้ดำเนินธุรกรรม อีกทั้งก่อนหน้านี้พฐ.ยืนยันผลตรวจแล้วว่า เป็นลายเซ็นปลอม และธนาคารเองยังไม่ได้ให้คำชี้แจงในกรณีนี้ ว่าจะดำเนินการแก้ไขอย่างไร พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นกระบวนการร่วมกันฉ้อโกงหรือไม่ เนื่องจากเพื่อนสนิทผู้ปลอมลายมือชื่อ ขอเบิกเงินออกไป เพื่อโอนใช้หนี้ธนาคารเดียวกัน
นอกจากนี้นายเอกวิชช์ ได้แจกเอกสารเรียกร้องต้องการให้ธนาคารกรุงไทยชี้แจง ดังนี้ 1.ต้องการทราบว่าระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 11 ปี ธนาคารกรุงไทยดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร 2.พยานหลักฐานชัดเจน ลายเซ็นปลอม พนักงานจงใจทำผิดระเบียบ สุดท้ายโอนเงินเข้าบัญชีผู้อื่นไม่ได้คืนให้ผู้ฝาก เหตุใดจึงละเว้นไม่ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด เพื่อติดตามเงินคืน 3.ตามที่ออกแถลงการณ์วันที่ 16/1 เป็นเท็จ ขอให้อธิบาย และขอทราบผลการดำเนินการตรวจสอบวินัยพนักงาน
สำหรับกรณีนี้นายเอกวิชช์ ฟ้องร้องธนาคารต่อศาล ซึ่งศาลขั้นต้นมีคำตัดสินเมื่อปี 2560 ยกฟ้อง และ ศาลอุทธรณ์ มีคำตัดสิน ปี 2561 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และนายเอกวิชญ์ ยื่นฎีกาสู้คดีต่อ ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา