'แอร์เอเชีย' ระงับขยายธุรกิจรับอาเซียนแข่งเดือด
แอร์เอเชีย ซึ่งมีเครือข่ายเที่ยวบินครอบคลุมตั้งแต่ประเทศไทยและอินเดีย ไปจนถึงญี่ปุ่น ต้องเลื่อนแผนกระตุ้นการเติบโตอย่างรวดเร็วในต่างแดน
การแข่งขันอันดุเดือดจากสายการบินท้องถิ่นทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีที่แล้ว ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผลประกอบการของ “แอร์เอเชีย” สายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) ยักษ์ใหญ่ของมาเลเซีย ถึงขั้นต้องระงับแผนขยายธุรกิจและเตรียมหันมาให้ความสำคัญกับผลกำไรมากขึ้น หลังรุกสู่ตลาดเวียดนามในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
รายงานผลประกอบการประจำปี 2561 ที่แอร์เอเชียเผยแพร่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ระบุว่า ผลกำไรจากการดำเนินงานของกลุ่มลดลง 44% มาอยู่ที่ 1,210 ล้านริงกิต ขณะที่ผลกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 22% มาอยู่ที่ 1,980 ล้านริงกิต นอกจากเผชิญกับต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันดิบที่แพงขึ้นทั่วโลกแล้ว แอร์เอเชียยังต้องดิ้นรนในตลาดอย่างฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และอินเดีย
สิ่งที่ตลาดเหล่านี้มีเหมือนกันคือ บรรดาคู่แข่งที่แข็งแกร่งอย่าง “ไลอ้อนแอร์” ของอินโดนีเซีย “เซบูแอร์” ของฟิลิปปินส์ และบรรดาสายการบินแห่งชาติที่มีรัฐบาลอัดฉีดเงินเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
โทนี เฟอร์นันเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) คนปัจจุบันของแอร์เอเชีย ซื้อกิจการสายการบินนี้ต่อจากเจ้าของสัญชาติมาเลเซียในราคาเพียง 1 ริงกิตที่มาพร้อมกับภาระหนี้สินกว่า 11 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2544 ช่วงที่สายการบินราคาประหยัดยังไม่ได้รับความนิยมเท่าในปัจจุบัน
สายการบินของเฟอร์นันเดสมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในตลาดบ้านเกิด แซงหน้าสายการบินแห่งชาติอย่าง “มาเลเซีย แอร์ไลน์ส” และเนื่องจากตลาดต่างประเทศจำกัดการลงทุนจากผู้เล่นต่างชาติ แอร์เอเชียจึงตั้งบริษัทร่วมทุนในตลาดอย่างไทย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น จนกลายเป็นผู้บุกเบิกความนิยมให้กับอุตสาหกรรมสายการบินโลวคอสต์ของเอเชีย
สื่อมาเลเซียรายงานในเดือนก.พ. ว่า เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของแอร์เอเชียย้ำว่าเป้าหมายของบริษัทคือการตั้งร้านค้าในเวียดนามในเดือนส.ค.นี้ ผ่านการร่วมทุนกับ “เถี่ยน มินห์ กรุ๊ป” ผู้ดำเนินการท่องเที่ยวท้องถิ่น การร่วมทุนดังกล่าวถือเป็นความพยายามครั้งที่ 4 ของแอร์เอเชียในการรุกเข้าตลาดเวียดนาม หลังถูกทางการปฏิเสธมา 3 ครั้งตั้งแต่ปี 2548
ชนชั้นกลางที่กำลังขยายตัวของเวียดนามมีความต้องการที่จะเดินทางด้วยเครื่องบินสูงขึ้นเรื่อย ๆ
“เวียตเจ็ท เอวิเอชัน” สายการบินราคาประหยัดเจ้าถิ่นซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 2554 ในฐานะสายการบินเอกชนรายแรกของประเทศ อ้างว่า ครองส่วนแบ่งเที่ยวบินภายในประเทศอยู่ 45% และหาทางชิงส่วนแบ่งที่เหลืออีก ด้วยการสั่งซื้อเครื่องบิน 100 ลำมูลค่า 1.27 หมื่นล้านดอลลาร์จากบริษัทโบอิง โค ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐเมื่อวันพุธ (27 ก.พ.)
ความแข็งแกร่งของเวียตเจ็ท รวมถึงผู้เล่นใหม่รายอื่น ๆ จากต่างประเทศ ทำให้เป้าหมายที่จะประสบความสำเร็จในเวียดนามของแอร์เอเชีย ยิ่งห่างไกลจากความเป็นจริง
“แอร์เอเชียจะไม่เปิดสายการบินใหม่เพิ่มอีกในช่วง 3 ปีข้างหน้า” เฟอร์นันเดสทวีตเมื่อต้นเดือนม.ค. ที่ผ่านมา และว่า “หลังจากเข้าเวียดนามแล้ว เราจะโฟกัสกับสิ่งที่เรามี และจัดให้เรื่องผลกำไรในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ มีความสำคัญลำดับแรก”
เมื่อปีที่แล้ว สายการบินมาเลเซียรายนี้ได้ยกเลิกแผนที่จะตั้งฐานในจีน และดูเหมือนว่าจะระงับการเปิดสายการบินในเมียนมาและกัมพูชาออกไปก่อน
ปีเตอร์ ฮารบิสัน ประธานบริหารบริษัทคาปา เซ็นเตอร์ ฟอร์ เอวิเอชันในออสเตรเลีย กล่าวว่า ความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นระหว่างบริษัทต่าง ๆ ในเครือแอร์เอเชียกรุ๊ป จะช่วยดึงจุดแข็งของกลุ่มออกมาได้