ไทยคว้ารางวัลรองชนะเลิศหยุดทำประมงผิดกฏหมาย

ไทยคว้ารางวัลรองชนะเลิศหยุดทำประมงผิดกฏหมาย

ไทย ได้รับรางวัลรองชนะเลิศรางวัลการหยุดทำประมงผิดกฏหมาย จากผลงานการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์จากปลา ที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญต่อสู้กับการลักลอบจับปลาอย่างผิดกฏหมายในไทย

ประเทศไทยได้รับรางวัลรองชนะเลิศรางวัลการหยุดทำประมงผิดกฏหมายที่ขาดการรายงานและไร้การควบคุม(ไอยูยู) ครั้งที่ 3 จากผลงานการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับยังผลิตภัณฑ์จากปลา ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับการจับปลาผิดกฎหมายในไทย ที่กรมประมงได้ส่งประกวดต่อ International MCS Network ในการประชุมเวิร์คช็อปอบรมการบังคับใช้กฏหมายด้านการประมงโลก( Global Fisheries Enforcement Training Workshop)ครั้งที่ 6 ที่กรุงเทพฯ

รางวัลหยุดทำประมงผิดกฏหมายที่ขาดการรายงานและไร้การควบคุมเป็นรางวัลที่ International MCS Network มอบให้กับบุคคล ผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของประเทศต่าง ๆ และองค์กรระหว่างประเทศจากทั่วโลก ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและเสนอแนะแนวทางในการแก้ไข ป้องกันและขจัดปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายไอยูยู ซึ่งจะมีส่วนส่งเสริมการยกระดับมาตรฐานการทำประมงทั่วโลกให้ก้าวเข้าสู่การประมงอย่างยั่งยืน ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคจากทั่วโลก

ผลงานของกรมประมงที่ได้รับรางวัลดังกล่าว เป็นผลจากการดำเนินการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับของไทยทั้งระบบ ที่มีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการควบคุมและตรวจสอบสัตว์น้ำที่จับจากเรือประมงไทย และสัตว์น้ำที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีการเชื่อมโยงระหว่างระบบข้อมูลของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1. ระบบ Fishing Info System (FI System) ซึ่งเป็นระบบที่มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของเรือประมง ระบบการออกใบอนุญาตทำการประมง และระบบการตรวจสอบติดตามการทำการประมงของเรือประมงของไทย โดยใช้ระบบติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System - VMS)

2. ระบบ Thai - flagged Catch Certificate System ซึ่งเป็นระบบบันทึกข้อมูลของสัตว์น้ำ และควบคุมการตรวจสอบย้อนกลับของเรือประมงไทยโดยหน่วยงานของไทยสามารถตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลของสัตว์น้ำได้ตลอดสายการผลิต และ 3. ระบบ PSM Linked Processing Statement System (PPS) ซึ่งเป็นระบบที่ควบคุมการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำจากต่างประเทศโดยจะมีการบันทึกข้อมูลการตรวจสัตว์น้ำ ตั้งแต่ก่อนเข้าเทียบท่า การตรวจสอบ ณ ท่าเทียบเรือ และการควบคุมกระบวนการการตรวจสอบการนำสัตว์น้ำขึ้นท่า ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่า และกรมศุลกากร รวมทั้งผู้ประกอบการ ทำให้เกิดความโปร่งใสในการตรวจสอบตลอดทั้งสายการผลิต

การได้รับรางวัลของไทยดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จของรัฐบาลไทยในการพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำตลอดห่วงโซ่อุปทานมาตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำประมง ไอยูยู และควบคุมมิให้มีการนำเข้าและส่งออกสัตว์น้ำที่มาจากการทำประมงไอยูยู เพื่อให้อุตสาหกรรมประมงไทยปราศจากการทำประมงไอยูยูทั้งระบบ และเพื่อให้กระบวนการผลิตสินค้าประมงของไทยได้คุณภาพมาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน ซึ่งก่อให้เกิดความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคจากทั่วโลก