ห่วงผู้ป่วยจิตเวชอาการกำเริบช่วงสงกรานต์ เหตุดวดเหล้า–อดนอน
จิตแพทย์แนะญาติพี่น้องร่วมกันให้กำลังใจ พาผู้ป่วยจิตเวชร่วมกิจกรรมครอบครัว ดูแลใกล้ชิดเป็นพิเศษ 4 ห้าม คือ ห้ามดื่มเหล้าทุกชนิดรวมทั้งเหล้าพื้นบ้าน ห้ามใช้สารเสพติด ห้ามอดนอน และห้ามขาดยา
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการรพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ซึ่งมีวันหยุดยาว 5 วัน เป็นเทศกาลแห่งความสุข สมาชิกในครอบครัวได้มีโอกาสมาอยู่ร่วมกันอย่างพร้อมหน้า เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตา เช่น ลูก หลาน รดน้ำขอพรจากญาติผู้ใหญ่และมอบของขวัญแก่ผู้สูงอายุ ทําบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว นับว่าเป็นการส่งเสริมสุขภาพจิตในครอบครัวได้อย่างดี โดยกลุ่มที่มีความเป็นห่วงคือผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งภายหลังได้รับการดูแลรักษาจนอาการดีขึ้นแล้วกว่าร้อยละ 80 จะอยู่กับครอบครัว ยังต้องกินยาควบคุมอาการอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้
จึงขอความร่วมมือให้ครอบครัว ช่วยกันสอดส่องดูแลผู้ป่วยให้ปฏิบัติตามที่แพทย์กำหนด โดยสามารถพาผู้ป่วยทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกในครอบครัวได้ เช่น พาไปทำบุญที่วัด รดน้ำญาติขอพรผู้ใหญ่ ก่อเจดีย์ทราย สรงน้ำพระ หรือพาไปเที่ยว จะเกิดผลดีอย่างมาก สร้างความรู้สึกที่ดีแก่ผู้ป่วยว่ามีคุณค่าและไม่โดดเดี่ยว ยังเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ได้รับความเพลิดเพลิน มีความสุข และไม่เครียด
ขณะเดียวกัน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เป็นช่วงที่ผู้ป่วยจิตเวชมีความเสี่ยงเข้าถึงสิ่งต้องห้ามอันตรายและเสี่ยงมีอาการกำเริบได้ง่ายเช่นกัน จึงขอความร่วมมือญาติและครอบครัวให้ดูแลผู้ป่วยเป็นกรณีพิเศษ 4 เรื่องหรือ 4 ห้าม ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญทำให้ผู้ป่วยจิตเวชเกิดอาการกำเริบ คือ 1.ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดรวมทั้งเหล้าพื้นบ้านเช่น กระแช่ สาโท เหล้ากลั่น เหล้ายาดอง เป็นต้น 2. ห้ามเสพสารเสพติดทุกชนิดรวมทั้งบุหรี่ด้วย 3.ห้ามอดนอน เนื่องจากการอดนอนเป็นตัวการสำคัญที่ก่อความเครียด กระตุ้นให้อาการผู้ป่วยกำเริบ และ 4.ห้ามขาดยา ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีเหมือนคนปกติแล้วก็ตาม ยังไม่ได้แปลว่าหายขาด โดยประชาชนที่มีปัญหาสามารถโทรขอรับบริการปรึกษาที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
"ในส่วนของรพ.จิตเวชนครราชสีมา ปีนี้ได้จัดเตรียมความพร้อมระบบบริการผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินอย่างเต็มที่ จัดกำลังเจ้าหน้าที่ประจำห้องฉุกเฉินพร้อมรับมือ 24 ชั่วโมง เน้นหนัก 2 ช่วงคือระหว่างเทศกาล 12 -16 เม.ย.2562 และหลังเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากจะพบผู้ป่วยจิตเวชมีอาการกำเริบสูงกว่าช่วงปกติเกือบ 2 เท่าตัว จากสาเหตุอดนอนติดต่อกันหลายวัน โดยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 5 วันในปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยจิตเวชอาการกำเริบถูกนำตัวส่งห้องฉุกเฉินรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯรวม 31 คน ร้อยละ70 เป็นผู้ป่วยเก่า เพิ่มขึ้นจากปี 2559 เกือบ 2 เท่าตัว" นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว
นายแพทย์กิตต์กวี กล่าวต่อไปว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือว่าเป็นวันปีใหม่ไทย ขอแนะนำให้ผู้ป่วยจิตเวชได้ใช้โอกาสนี้ ทบทวนระลึกถึงความภาคภูมิใจ ความดี ที่ได้กระทำมาในรอบปี และลงมือทำต่ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการสร้างพลังใจให้แก่ตนเอง และมองเห็นอนาคตข้างหน้าอย่างมีความหวัง ในส่วนของญาติและคนใกล้ชิดที่กลับไปเยี่ยมบ้านในช่วงเทศกาลนี้ ก็มีส่วนสำคัญในการให้กำลังใจผู้ป่วยเช่นกัน โดยการใช้คำพูดเชิงบวก รับฟังและไม่ตำหนิผู้ป่วยเมื่อมีปัญหา ทั้งหมดนี้จะทำให้ผลการรักษาของแพทย์และตัวผู้ป่วยได้ฟื้นคืนสู่สภาพที่เป็นปกติสุขได้รวดเร็วขึ้น
ทั้งนี้ ขอให้ญาติสังเกตการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยจิตเวช โดยสัญญาณเตือนอาการกำเริบที่สำคัญมี 6 อาการ ได้แก่ นอนไม่หลับ หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย มีความคิดแปลกๆ พฤติกรรมก้าวร้าว หวาดระแวง หากพบผู้ป่วยมีอาการปรากฏอย่างใดอย่างหนึ่ง ขอให้รีบพาส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที หรือหากพบผู้ป่วยมีอาการอาละวาด คุ้มคลั่ง หวาดระแวง หูแว่ว โทรแจ้งสายด่วน 1669 ฟรี