เมาขับฉลองสงกรานต์ 13 เม.ย. ยอดพุ่ง 3,454 คดี ศาลสั่งติด EM 165 ราย สถิติรวม 3 วัน สูงกว่า 4,000 คดี มหาสารคามยังครองแชมป์ 337 คดี
เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 62 นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยถึงสถิติคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติทั่วประเทศในวันสงกรานต์ (13 เม.ย.) ว่า ปริมาณคดีพุ่งสูงกว่า 3,455 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 3,454 คดี คิดเป็นร้อยละ 99.97 และคดีขับเสพ 1 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.03 โดยศาลสั่งใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ในฐานความผิดขับรถขณะเมาสุรา จำนวนกว่า 165 ราย โดยส่วนใหญ่กำหนดเงื่อนไขห้ามออกจากที่พักอาศัย ตั้งแต่เวลา 22.00 - 04.00 นาฬิกา เป็นเวลา 7-15 วัน และคุมความประพฤติ 1 ปี รายงานตัวจำนวน 4 ครั้ง พร้อมทั้งทำงานบริการสังคม 24 ชั่วโมง เป็นต้น
สำหรับยอดสะสมสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมประพฤติในช่วง 3 วันที่มีการควบคุมเข้มงวด (11-13 เม.ย.) มีจำนวนทั้งสิ้น 4,057 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุราจำนวน 3,899 คดี คิดเป็นร้อยละ 96.11 คดีขับเสพจำนวน 149 คดี คิดเป็นร้อยละ 3.67 คดีขับรถประมาท จำนวน 9 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.22 จังหวัดที่มีสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราสะสมสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 337 คดี กรุงเทพมหานคร จำนวน 245 คดี และจังหวัดนครพนม จำนวน 211 คดี
อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวอีกว่า ผู้ถูกคุมความประพฤติในฐานความผิดขับรถขณะเมาสุราที่กระทำผิดซ้ำ หรือผู้ถูกคุมความประพฤติฐานความผิดขับรถขณะเมาสุรา เป็นเหตุให้ผู้อื่นเป็นอันตรายต่อร่างกายและชีวิต ที่ศาลมีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจว่า กรมคุมประพฤติจะตรวจสอบประวัติการกระทำผิดและทำการประเมินพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามแบบประเมินของกระทรวงสาธารณสุข แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ต่ำ ปานกลาง และสูง ในกลุ่มที่มีผลการประเมินสูง จะส่งต่อไปยังสถานพยาบาลเพื่อดำเนินการบำบัดรักษาต่อไป ตามโครงการบำบัดฟื้นฟูสภาพ ผู้ดื่มแล้วขับถูกจับ ผิดซ้ำ
สำหรับระยะเวลาการบำบัดรักษาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และความรุนแรงของอาการ ในตามปกติระยะเวลาการบำบัด คือ 3 เดือน โดย 1 เดือนแรกจะเป็นการบำบัดรักษา 1 ครั้ง/สัปดาห์ ในเดือนที่ 2 – 3 เป็นการติดตามพฤติกรรมการดื่มสุรา แต่หากมีปัญหาสุขภาพจิตควบคู่ด้วยจะมีการรักษาที่ใช้ระยะเวลา 4 เดือน ทั้งแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน และหากเป็นระยะติดสุราเรื้อรัง การบำบัดจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน