ป.ป.ท.สรุปผลสอบโกงเงินจ้างงานคนพิการ
ป.ป.ท.สรุปผลสอบทุจริตจ้างงานคนพิการ "กาฬสินธุ์-นครพนม" ถูกหักหัวคิวรายละ 2,000-7,000 บาท เตรียมส่ง ป.ป.ช.ฟันเจ้าหน้าที่จัดหางานชลบุรี อมเงิน -อนุมัติจ้างงานข้ามจังหวัด
เมื่อวันที่ 26 เม.ย.62 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล เลขาธิการ ป.ป.ท. เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบการทุจริตการจ้างงานคนพิการตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต พ.ศ.2550 ตามที่มีผู้ร้องเรียนว่าคนพิการถูกสมาคมและมูลนิธิช่วยเหลือคนพิการต่างๆ ใน จ.กาฬสินธุ์และ จ.นครพนมหักค่าหัวคิวและจ่ายเงินให้เพียงเดือนละ 500-3,000 บาท จากอัตราค่าจ้างเต็มจำนวน 9,125 บาทต่อเดือน หรือ 109,500 บาทต่อปีว่า ตามมาตรา 34-35 พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กำหนดให้ทุกบริษัทที่มีสัดส่วนคนงาน 100 คน ต้องจ้างงานผู้พิการ 1 คน ซึ่งผลการสอบสวนการจ้างงานคนพิการและผู้ดูแลคนพิการสรุปว่ามีการจ้างงานจริง แต่หักเงินค่าจ้าง โดยได้รับค่าจ้างเพียงคนละ 2,000-7,000 บาทต่อเดือน จากอัตราเงินเดือน 9,125 บาท
“การตรวจสอบของป.ป.ท.ยังพบด้วยว่า เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางาน จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บริษัทจ้างงานตั้งอยู่ได้จ้างคนดูแลคนพิการในพื้นที่จ.กาฬสินธุ์และ จ.นครพนม มีการอนุมัติจ้างงานโดยไม่ได้ตรวจสอบให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่กำหนดไว้ อีกทั้งเจ้าหน้าที่จัดหางาน จ.กาฬสินธุ์และ จ.นครพนมก็รับรองเอกสารการจ้างงานไม่ตรงตามความเป็นจริง” พ.ต.ท.วันนพกล่าว
พ.ต.ท.วันนพ กล่าวอีกว่า สำหรับมูลความผิดของเจ้าหน้าที่ในเรื่องการจ้างงานคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ ป.ป.ท.จะส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) พร้อมเสนอมาตรการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการจ้างงานคนพิการและติดตามการจ้างงานภายหลังที่ได้รับอนุญาตแล้ว ซึ่งงบประมาณการจ้างงานคนพิการกระทรวงแรงงานเป็นผู้ดูแล สำหรับคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้ ป.ป.ท.กำลังเร่งตรวจสอบ พร้อมเรียกพยานมาสอบปากคำ ซึ่งบางคดีมีรายละเอียดและพยานหลายปาก จำเป็นต้องใช้ระยะเวลานานในการสอบสวน โดยเฉพาะการแจ้งข้อกล่าวหาต้องมีหลักฐานและพยานชัดเจน เพราะผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ