เปิดชะตากรรมชาวสวนปาล์มมาเลเซีย

เปิดชะตากรรมชาวสวนปาล์มมาเลเซีย

อุตฯน้ำมันปาล์มกำลังยากลำบาก เนื่องจากความต้องการในตลาดเดิมที่ค้าขายกันมาเนิ่นนานลดน้อยลง แถมเมื่อเดือน มี.ค. ยังต้องเจอเคราะห์ซ้ำกรรมซัด คณะกรรมการยุโรป (อีซี) สรุปว่า ห้ามใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากน้ำมันปาล์มภายในปี 2573 เพราะทำลายสภาพแวดล้อม

งานนี้มาเลเซียในฐานะผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกจึงต้องรับศึกหนัก นักการเมืองประณามการตัดสินใจของอีซีว่า เป็นการกีดกันทางการค้าและขู่จะตอบโต้

อิบราฮิม มานัพเกษตรกรชาวสวนปาล์มรายย่อย วัย 58 ปี ในฮูลูสลังงอร์ กล่าวกับแชนเนลนิวส์เอเชีย การที่อีซีประกาศว่า น้ำมันปาล์มทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงข้ออ้างทางการเมืองเท่านั้น

“พวกเขาตัดป่าของตัวเองได้ แต่กับเราจะให้มาเป็นแหล่งสำรองออกซิเจน ไม่ยุติธรรมเลย”

อิบราฮิมเล่าว่า เขาเปลี่ยนจากปลูกกล้วยมาปลูกปาล์มน้ำมันเมื่อ 7 ปีก่อน หลังจากเกิดโรคระบาดในสวนกล้วย ตอนนั้นราคาผลปาล์มตันละ 450-540 ริงกิต (3,414-4,097 บาท) ตอนนี้อยู่ที่ 320 ริงกิตนิดๆ ทั้งยังต้องหักค่าแรงและค่าขนส่งที่ตกตันละ 75 ริงกิต (570 บาท) ด้วย

ข้อมูลเมื่อเดือน ธ.ค.2561 ระบุว่ามาเลเซียมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันรวม 36.5 ล้านไร่ ราวครึ่งหนึ่ง (16.8 ล้านไร่) อยู่ในคาบสมุทรมลายู ในรัฐซาบาห์และซาราวักบนเกาะบอร์เนียว มีพื้นที่ปลูกปาล์ม 19.5 ล้านไร่

เทเรซา ก๊ก  รัฐมนตรีอุตสาหกรรมปฐมภูมิเผยว่า รัฐบาลควบคุมพื้นที่สวนปาล์มโดยรวมไว้ที่ 40.6 ล้านไร่ โดยไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าถาวรหรือป่าพลุปลูกปาล์มน้ำมัน

การผลิตปาล์มน้ำมันของมาเลเซียมีผู้เล่นหลายฝ่าย ทั้งบริษัทเอกชน บริษัทมหาชน หน่วยงานราชการ และเกษตรกรรายย่อย

 ในกลุ่มนี้  เกษตรกรอิสระครองพื้นที่ปลูกปาล์มในสัดส่วน 16.8% (6.1 ล้านไร่) ขณะที่เกษตรกรรายย่อยภายใต้สังกัดองค์การพัฒนาที่ดิน (เฟลดา) ครองสัดส่วน 12.3% (4.4 ล้านไร่)

การพลิกฟื้นชะตากรรมของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งต่อรัฐบาล เพราะส่งผลต่อวิถีชีวิตผู้มีสิทธิเลือกตั้งในชนบทจำนวนมหาศาล

ส่วนพื้นที่ในเขตเมือง เช่น ยองเป็งใจกลางรัฐยะโฮร์ รัฐที่มีพื้นที่ปลูกปาล์มมากที่สุดบนคาบสมุทรมลายู เศรษฐกิจจึงวนเวียนอยู่กับการเกษตร ทั้งร้านขายเมล็ดพันธุ์ ร้านซ่อมเครื่องมือการเกษตร หรือพ่อค้านคนกลางผู้ไปรับซื้อผลปาล์มใส่รถบรรทุกส่งไปขายโรงงานแปรรูป

กระนั้นชุง กี วาผู้ใหญ่บ้านและเกษตรรายย่อย กลับรู้สึกว่าไม่มีใครช่วยเหลือ

“ไม่ใช่ว่าเราไม่ดูตลาดโลก เราดูแล้ว แต่ก็รู้ดีว่าเราทำอะไรไม่ได้มาก มาเลเซียไม่ใช่เจ้าเดียวในตลาด”

วันชื่นคืนสุขที่เกษตรกรรายย่อยเคยขายปาล์มได้ตันละ 800 ริงกิต (6,069 บาท) ไม่มีอีกแล้ว ชุงและเพื่อนๆ รู้ดีว่ายังพอรับไหวถ้าราคาปาล์มยังไม่ต่ำกว่าตันละ 300 ริงกิต (2,276 บาท)

 ปีเตอร์ ชาง ผู้อำนวยการวิสาหกิจเพื่อสังคม “ไวลด์ เอเชีย” ที่ทำงานกับสวนปาล์มให้คำแนะนะด้านสิ่งแวดล้อมและตรวจสอบความยั่งยืนกล่าวว่า กฎหมายห้ามใช้น้ำมันปาล์มของอียูทำร้ายความพยายามปลูกปาล์มอย่างยั่งยืน

“เกษตรกรรู้สึกว่าจะขอใบรับรองไปทำไม ในเมื่อทำไปแล้วไม่มีใครรับรู้ ได้การรับรองแล้วมีประโยชน์ตรงไหน เรื่องแบบนี้ต้องระบุมาให้ชัด รัฐบาลเองก็ต้องสนับสนุน ต้องบอกให้ทราบว่าทำแล้วได้ประโยชน์อะไร ไม่เช่นนั้นแล้วความพยายามดีๆ แบบนี้ชาวบ้านก็ไม่ตอบรับ”

ชางแนะว่า การปลูกปาล์มอย่างยั่งยืน ไม่ใช่การเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ต้องทำพร้อมๆ กับรับรองว่า วิถีชีวิตเกษตรกรจะดีขึ้นด้วย  ชางเล่าต่อว่า เกษตรกรได้รับการสนับสนุนให้มาปลูกพืชผสมผสาน เช่น ไม้ซุง โกโก้ วานิลลา กาแฟ และพืชทำเงินอื่นๆ รวมทั้งเลี้ยงสัตว์

“จะต้องแนะนำให้เกษตรกรทำวนเกษตร เลิกใช้ยาฆ่าแมลงและยาฆ่าหญ้าทุกชนิด”

ขณะที่เลสลี ไอคอน อดีตหัวหน้าฝ่ายไอที วัย 37 ปี เล่าประสบการณ์การปลูกพืชชนิดใหม่บนที่ดินในกัมปงเคียเบา รัฐซาบาห์

“เมื่อ 20 ปีก่อนการทำสวนปาล์มนั้นง่ายมากสำหรับชาวบ้าน ตัดสินใจว่าจะปลูกตรงไหนก็เผาตรงนั้น”

แต่ตอนนี้กฎหมายห้ามการเผาเพื่อทำเกษตร แต่การใช้เครื่องกลหนักแผ้วถางที่ดินก็เพิ่มต้นทุน

“การปลูกปาล์มบนที่ดินผืนใหม่ คุณจำเป็นต้องคำนวณต้นทุนแรงงานมนุษย์ ขึ้นอยู่กับว่าจะปลูกกี่ต้น จากนั้นก็ไปซื้อต้นปาล์มอ่อน ขนส่งมายังที่ดิน พวกนี้ใช้เงินมากขึ้นทั้งนั้น”

ตอนนี้เลสลีเล็งเปลี่ยนมาปลูกไม้ผลแทนปาล์ม และขุดบ่อเลี้ยงปลาด้วย

“สำหรับผม การปลูกปาล์มตอนนี้ไม่โอเคอีกแล้ว งานหนัก ใช้เงินเยอะ แถมยังต้องเจอกฎระเบียบมากมาย ไหนจะมาตรฐานการปลูกปาล์มอย่างยั่งยืน (อาร์เอสพีโอ) ไหนจะต้องมีใบรับรองของมาเลเซีย (เอ็มเอสพีโอ) ต้องใช้เงินทั้งนั้น”

การปะทะกันระหว่างคนกับสัตว์ป่า สุดท้ายจบลงด้วยความตาย เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยในสวนปาล์ม ไม่ว่าจะเป็นหมูป่าเข้ามากินผลปาล์มร่วง หรือช้างป่าเดินทางผ่านสวน

ในรัฐซาบาห์มีข้อมูลว่า ระหว่างปี 2553-2561 ช้างแคระบอร์เนียวถูกฆ่า 115 ตัว ส่วนใหญ่ถูกฆ่าในสวนปาล์มหรือป่าสงวนใกล้สวนปาล์ม

ล่าสุดเมื่อเดือน มี.ค.หน่วยงานรัฐ กลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่า และเกษตรกรรายย่อยเห็นชอบตั้ง “ระเบียงอาหารสีเขียว” ให้สัตว์ป่าหากิน

ต่อจากนี้คงต้องเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีอุตสาหกรรมปฐมภูมิ ที่มีกำหนดเดินทางไปยุโรป เพื่อชี้แจงว่า น้ำมันปาล์มมาเลเซียไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างที่ถูกกล่าวหา มาตรการที่รัฐบาลทำน่าจะเป็นหลักฐานอธิบายได้