มมส. จัดงานวันอนุรักษ์ควายไทย รณรงค์คนไทยอนุรักษ์กระบือให้คงอยู่คู่ประเทศไทย
ม.มหาสารคาม จัดงานวันอนุรักษ์ควายไทย รณรงค์คนไทยอนุรักษ์กระบือให้คงอยู่คู่ประเทศไทย
คณะวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ คณะเทคโนโลยี คณะศิลปกรรมศาสตร์ ฟาร์มมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ได้แก่ เครือข่ายคนรักควายมหาสารคาม และเครือข่ายคนรักควายภาคอีสาน จัดโครงการวันอนุรักษ์ควายไทย มหาวิทยาลัยมหาสารคามขึ้น ที่บริเวณสวนหย่อมด้านหลัง MSU OUTLET มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล ผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “วันอนุรักษ์ควายไทย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 2562” เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรมีการเลี้ยงและการพัฒนาการเลี้ยงควายไทยอย่างยั่งยืน
กิจกรรมภายในงาน ได้มีการจัดกิจกรรม บายศรีสู่ขวัญควาย, การแสดงควายแสนรู้ โชว์พ่อพันธุ์ – แม่พันธุ์ควายไทย, นิทรรศการควายไทย, ตรวจสุขภาพควายไทย , ประกวดภาพวาดควายไทย ,ประกวดร้อยกรอง และประกวดควายสวยงาม 10 รุ่น ,การแสดงศิลปวัฒนธรรมอีสาน โดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์และคณะศิลปกรรมศาสตร์
นายพงษ์ศักดิ์ แก้ววังชัย ประธานเครือข่ายคนรักควายภาคอีสาน กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 14 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันอนุรักษ์ควาย ไทย” เนื่องจากเป็นวันที่ "ในหลวง รัชกาลที่ 9" ได้มีพระราชดำรัสถึงหลักการดำเนินโครงการธนาคารโค ควายไทยเป็นครั้งแรก ทุกภาคส่วนจึงได้ร่วมกันจัดโครงการในวันนี้ขึ้น เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้และให้ความสำคัญในการส่งเสริมและอนุรักษ์การเลี้ยงควายไทย เนื่องจากปัจจุบันจำนวน ควายไทยและผู้เลี้ยงควายไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ควายไทยนับเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความสำคัญต่อระบบการผลิตของเกษตรกรรายย่อยในชนบทเป็นอย่างมาก ในอดีตที่ผ่านมาควายเป็นทั้งแรงงานในการทำไร่ ทำนา เกษตรกรใช้มูลของควายเป็นปุ๋ยใส่พืชผลทางการเกษตร และสามารถนำมูลนั้นมาจำหน่ายเป็นรายได้เสริมได้อีกด้วย นอกจากนั้นยังพบว่าควายเป็นสัตว์เลี้ยงที่สามารถเปลี่ยนพืชที่มีคุณภาพต่ำตามไร่นาให้เป็นเนื้อที่มีคุณภาพได้ดีกว่าโค ปัจจุบันจำนวนเกษตรกรที่เลี้ยงควายไทยลดลง หันไปเลี้ยงสัตว์พันธุ์ต่างประเทศ ส่วนที่ยังเลี้ยงควายไทยอยู่ก็เป็นการเลี้ยงแบบพื้นบ้าน ไม่มีการพัฒนาระบบการเลี้ยง ระบบการผลิตในเชิงธุรกิจ
ปัจจุบัน ควายไทยมีปริมาณลดลงมาก จากปี 2548 ที่มีจำนวนมากถึง 1.6 ล้านตัว แต่ในปัจจุบันจำนวนลดลงเหลือไม่ถึง 700,000 ตัว อาจจะเนื่องมาจากประชาชนมีความต้องการบริโภคเนื้อโคมากกว่า การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเกษตรกรที่ประกอบอาชีพทำนา มีการใช้เครื่องจักรกลแทนการใช้แรงงานควาย เกษตรกรที่เลี้ยงควายไทยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เลี้ยงเป็นอาชีพหลัก จึงให้ความสนใจในการเลี้ยงดูน้อย ขาดการปรับปรุงพันธ์ที่ดี ขาดการควบคุมป้องกันกำจัดโรคที่ถูกต้อง ทำให้ผลผลิตต่ำลง ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้จำนวนควายไทยไทยลดลงเป็นจำนวนมาก
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล กล่าวว่า การจัดกิจรรมในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หวังว่าจะเป็นการสร้างจิตสำนึกให้คนไทยทุกภาคส่วนตระหนักถึงมูลค่าและคุณค่าของควายไทย ที่ต้องช่วยกันอนุรักษ์และพัฒนาให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน อีกทั้งสร้างความภาคภูมิใจในวิถีชีวิตคนกับควายไทย เหมือนในอดีตและภูมิปัญญาของท้องถิ่น และก่อให้เกิดการสร้างและพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงควายไทยให้มีความเข้มแข็ง อนุรักษ์และพัฒนาควายไทยให้มีจำนวนมากขึ้นและคงอยู่คู่คนไทยตลอดไป