เตือน! 'บุหรี่' เสี่ยงมะเร็งสารพัดชนิด
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ เตือนสิงห์อมควันให้เลิกบุหรี่พร้อมชี้บุหรี่และควันบุหรี่ประกอบด้วยสารเคมีกว่า 7,000 ชนิด ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งประมาณ 70 ชนิด เป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิดเป็นภัยทั้งคนสูบและผู้ใกล้ชิด
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันงดสูบบุหรี่โลก” ถึงแม้จะมีการรณรงค์ให้ประชาชนเห็นถึงโทษและพิษภัยของบุหรี่อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานหลายปี แต่ปัจจุบันบุหรี่ก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ ทั้งทางด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคมของหลายประเทศทั่วโลก จากสถิติขององค์การอนามัยโลกรายงานว่าทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่มากกว่า 7 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 890,000 คน มาจากการสัมผัสควันบุหรี่มือสอง โดยส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง สำหรับประเทศไทยบุหรี่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคมะเร็งซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประเทศไทย โดยเฉพาะมะเร็งปอดที่มีแนวโน้มอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันข้อมูลจากทะเบียนมะเร็งประเทศไทย รายงานว่าแต่ละปีจะพบผู้ป่วยมะเร็งปอดรายใหม่ 15,288 คน เป็นเพศชาย 9,779 คน และเพศหญิง 5,509 คน
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่าบุหรี่และควันบุหรี่ประกอบไปด้วยสารเคมีกว่า 7,000 ชนิด โดยในจำนวนนี้เป็นสารก่อมะเร็งประมาณ 70 ชนิด บุหรี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดโรคมะเร็งซึ่งไม่เพียงแค่มะเร็งปอดเท่านั้นแต่ยังเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งชนิดอื่นๆ เช่น มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งช่องปาก มะเร็งลำคอ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งลำไส้ใหญ่อีกด้วย นอกจากบุหรี่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่สูบแล้ว จากการศึกษาที่ผ่านมาสามารถยืนยันได้ว่าผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่จากคนรอบข้าง (ควันบุหรี่มือสอง) เข้าสู่ร่างกายก็จะได้รับผลกระทบต่อร่างกายเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในเด็กที่ได้รับควันบุหรี่มือสองจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาวและยังเสี่ยงเป็นเนื้องอกในสมองอีกด้วย
จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคมะเร็ง อย่างไรก็ตามสามารถร่วมกันป้องกันได้ ซึ่งจะส่งผลให้ลดอุบัติการณ์การเกิดโรคและอัตราการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากบุหรี่ ดังนั้น จึงควรมีการรณรงค์ให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่องแก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนเพื่อกระตุ้นให้เกิดผลสำเร็จในการเลิกบุหรี่อย่างเป็นรูปธรรม